กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเชีย-แปซิฟิก

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาเอเชีย-แปซิฟิก หารือแนวทางจัดการศึกษาหลังโควิด-19 ทรงแนะวางมาตรการจัดการปัญหาที่กระทบการศึกษา-ดูแลสุขภาพจิตและความเป็นอยู่นักเรียน

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ครั้งที่ 2 (APREMC-II ) โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมใจความว่า ขอชื่นชมผู้จัดงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีหารือความท้าทาย และลำดับความสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาภายหลังยุคโควิด-19 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 ของภูมิภาค เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมผู้สูงวัย และช่องว่างทางการเรียนรู้ เป็นแนวโน้มโลก ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของภูมิภาค

จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมวาระการศึกษา และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มาซึ่งความรู้ และทักษะ ค่านิยม และทัศนคติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง และยั่งยืนต่อไป

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ควรต้องวางมาตรการจัดการกับปัญหาที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางการศึกษา

ในแง่ของการลดโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มผู้เรียน เยาวชน และผู้ใหญ่ ที่มีความเปราะบางมากที่สุด และให้มั่นใจว่าผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย และสุขภาวะที่ดี

ทั้งนี้เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทของครูจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพทางจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน ตลอดจนการจัดฝึกอบรมครู เพื่อให้มั่นใจว่าครูจะได้รับทักษะ และองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสานแนวใหม่

“ขอชื่นชมความพยายามของยูเนสโก ต่อการเสริมสร้างระบบการศึกษา ที่ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อสภาพการเรียนรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งการขับเคลื่อนทรัพยากรทางการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการศึกษาทั่วโลก

ทั้งนี้ มีความปรีดียิ่งในการทำงานร่วมกับยูเนสโก และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานในเรื่องของสิทธิการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงสิทธิทางโภชนาการ และการดูแลสุขภาพ เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรี และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการศึกษา จะทำงานร่วมกัน และนำไปสู่การเจรจาที่เกิดผล อันจะนำไปสู่การดำเนินความร่วมมือทางการศึกษาในอนาคตต่อไป”