ปตท. เร่งสปีดสู่ Sustainability

PTT
คงกระพัน อินทรแจ้ง

ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กก.ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานบอร์ด ปตท. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน กรรมการอิสระ และประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และผู้บริหาร ปตท.ได้เปิดเผยทิศทางการทำงานของ ปตท.ว่า จะเดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” บนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” เพื่อให้ ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาล

ซีอีโอ ปตท.เผยว่า จะเดินเครื่องธุรกิจ Hydrocarbon ที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.ที่ทำได้ดี แต่จะไม่ทำแบบเดิม ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในธุรกิจต้นน้ำและพลังงาน จะเร่งขยายแหล่งสำรวจและผลิตร่วมกับพันธมิตร ผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA) เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ขณะที่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจะเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและลดคาร์บอนให้กับกลุ่ม ปตท.

ส่วนธุรกิจปลายน้ำ จะปรับตัวสร้างความแข็งแรงร่วมกับพันธมิตร ทั้งนี้ ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกนั้นจะร่วมกับธุรกิจของคนไทยที่มีความคล่องตัว ปรับพอร์ตการลงทุนให้มี Substance ลดการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับธุรกิจ Nonhydrocarbon โดยประเมินใน 2 มุม คือ 1) ต้องมีความน่าสนใจ (Attractive) และ 2) ปตท.มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง เข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้น ๆ ได้ และมีพันธมิตรที่แข็งแรง

แนวทางการลงทุนในธุรกิจ Nonhydrocarbon ในเรื่องที่เกี่ยวกับ EV ปตท.จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจ “ชาร์จจิ้ง” สำหรับรถไฟฟ้า ซึ่งต้องควบรวมแบรนด์ต่าง ๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ปั๊มของ OR ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์

ธุรกิจ Logistics ปตท.จะเน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของ ปตท. และมีความต้องการเฉพาะอยู่แล้ว โดยยึดหลักถือครองทรัพย์สินน้อย Asset-light และมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง

ADVERTISMENT

ธุรกิจ Life Science ปตท.จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน และสร้างกู๊ดวิลให้กับสังคม ทั้งนี้ ปตท.มีแผนการสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)

ในเรื่องของพลังงานทางเลือก ปตท.จะนำไฮโดรเจนไปผสมในก๊าซธรรมชาติ ตามที่กำหนดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (PDP 2024) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ปตท. รวมถึงการดักจับคาร์บอน ได้เริ่มทำแซนด์บอกซ์ ดึงเอาคาร์บอนจากก๊าซแหล่งก๊าซอาทิตย์ไปกักเก็บ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ปตท.ได้นำคณะเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ โรงงานผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่บริษัท ยามานิชิไฮโดรเจน จังหวัดยามานิชิ ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังทำโครงการ Green Transformation โดยสร้างชุมชนที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและมีโรงงานผลิตไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ได้ Green Hydrogen และจำหน่ายต่อไป

ที่น่าสนใจคือ ระบบงานโรงงานเผาขยะ เมกุโระ ที่กรุงโตเกียว เป็นโรงงานกลางเมืองกลางชุมชน สร้างเสร็จแทนโรงงานเดิมเมื่อ 2023 ด้วยแนวคิดคำนึงถึงชุมชน ลดการรบกวนจากกลิ่น เสียง รับขยะได้วันละ 600 ตัน เข้าเตาเผาความร้อน 800 องศา ความร้อนจากเตาเผาส่งไอน้ำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต 21,500 กิโลวัตต์ ส่วนเถ้าขยะนำไปถมพื้นที่ต่าง ๆ และถมทะเล

อีกแห่งคือ โรงงานเผาขยะและรีไซเคิลซูรูมิ ของมิตซูบิชิ เฮฟวี่อินดัสทรี ที่โยโกฮามา เผาขยะได้วันละ 1,200 ตัน จาก 3 เตาเผา นำไอน้ำไปผลิตไฟฟ้า 22,000 กิโลวัตต์ นำไปใช้ในโรงงานและนำส่วนเกินไปขายบริษัทไฟฟ้า น้ำที่ผ่านการบำบัดนำไปใช้ในระบบโรงงาน โปรเจ็กต์เด่นของที่นี่ คือการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะ เพื่อนำไปเข้ากระบวนการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เป็นแนวทางใหม่ในการจัดการ สร้างและใช้พลังงาน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง