
สลิงชอท กรุ๊ป เปิดผลสำรวจค่านิยมการทำงานของเจนใหม่ ชี้คนเจนใหม่ 73% ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ และ 85% ของทั้งเจนใหม่และเจนมากประสบการณ์ ต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานอย่างเป็นปกติ
วันที่ 19 กันยายน 2567 นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผู้นำและองค์กร มีจุดมุ่งหมายในการเป็น Thought Leader ที่นำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้นำไทยสู่ผู้นำระดับโลก
และให้ความสำคัญกับ Partnership โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาผู้นำระดับโลก Center for Creative Leadership (CCL) โดยนำข้อมูลอินไซต์จากผลงานวิจัยจากผู้นำทั่วโลกและหลักสูตรระดับโลกมาเปิดประสบการณ์การพัฒนาผู้นำไทย
และเมื่อต้นปี สลิงชอท กรุ๊ป ได้จัดตั้งหน่วยงานวิจัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าด้วยข้อมูลที่แม่นยำและตอบโจทย์บริบทสังคมไทย
โดยในปี 2567 นี้ ได้สำรวจค่านิยมและแนวคิดการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างเจเนอเรชั่นใหม่ และเจเนอเรชั่นมากประสบการณ์ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้นำองค์กรและผู้นำฝ่าย HR กว่า 242 คนในไทย เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้นำรุ่นใหม่สามารถทำงานร่วมกับทีมงานที่มีหลากหลายเจเนอเรชั่นด้วยความร่วมแรงร่วมใจ
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจจากงานวิจัย
- 48% ของเจนใหม่ชอบการฟีดแบ็กเชิงสร้างสรรค์เป็นประจำรายสัปดาห์ ในทางกลับกัน เจนมากประสบการณ์มักปฏิบัติเป็นรายเดือน หรือรอจนจบโปรเจ็กต์ก่อน
- เจนใหม่ให้ความสำคัญกับ ‘ทำไมจึงต้องทำ (why)’ แต่เจนมากประสบการณ์ให้ความสำคัญกับวิธีการว่าทำ ‘อย่างไร (How)’
- ‘จุดหมายปลายทาง’ คือนิยามความสำเร็จทางอาชีพของเจนใหม่ ซึ่งหมายถึงการได้รับชัยชนะเล็ก ๆ ในแต่ละวัน ในขณะที่เจนมากประสบการณ์มองความสำเร็จว่าเป็น ‘การเดินทาง’ โดยให้ความสำคัญกับการทุ่มเทในการทำงาน
- 85% ของทั้งสองเจนมองว่า Work-Life Balance เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเติบโต และต้องการชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น
- 73% ของคนเจนใหม่ใช้วันลาหยุดเพื่อฟื้นฟูจิตใจ และยังต้องการให้มีการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตในที่ทำงานอย่างเป็นปกติ
- คนทั้ง 2 เจนมองว่า ผู้นำที่โปร่งใสควรแบ่งปันประสบการณ์ความล้มเหลว พูดและกระทำสอดคล้องกัน และให้ข้อมูลอัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทเป็นประจำ
5 แนวทาง ‘REAL Way of Work’ หรือ ‘REAL WoW’
- สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ และให้คุณค่าต่อความหลากหลาย
- เคารพความเป็นเอกลักษณ์
- สร้างสภาพแวดล้อมดีต่อใจพนักงาน
- สนับสนุนการเติบโตตามต้องการ
- นำทีมให้เป็นหนึ่งเดียว
“การขับเคลื่อนองค์กรในปัจจุบันจะต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญด้วยกัน ได้แก่ กลยุทธ์ (Strategy) การเป็นผู้นำ (Leader & People) และวัฒนธรรมองค์กร (Culture) เมื่อกลยุทธ์พร้อม ผู้นำเข้าใจ และบริหารทีมงานบนความหลากหลาย จนสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรอันเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นได้ จะนำไปสู่การสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน“ นายอภิวุฒิกล่าวทิ้งท้าย