16 ตุลาคม วันอาหารโลก อิ่มดีก้าวหน้าเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม

16 ตุลาคม วันอาหารโลกหรือ World Food Day 2024 ชวนตระหนักรู้ถึงสิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีก้าวหน้า และอนาคตที่ดีกว่า ยุติความหิวโหย มั่นคงทางอาหาร การเกษตรอุดมสมบูรณ์ ระบบอาหารยั่งยืน

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนเพื่อฐาน หนึ่งในนั้นคืออาหารที่คอยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนดำเนินไปได้อย่างเป็นครรลองคลองธรรม ที่ผ่านมาโลกเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ไม่ว่าจะภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอยลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคนทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ใช่กระทบเพียงใครคนใดคนหนึ่ง

วันอาหารโลกปีนี้ ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม หรือ World Food Day 2024 ที่ถูกก่อตั้งโดยองค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้อง ต่อสู้ถึงสิทธิการเข้าถึงอาหาร ผ่านแนวคิด “สิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีก้าวหน้า และอนาคตที่ดีกว่า” หรือ Right to Food for a Better Life and a Better Future

ชวนตระหนักรู้ในสิทธิในการเข้าถึงอาหาร และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบริโภคอาหารของคนทุกคนบนโลก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ กำจัดความหิวโหย, การบริโภคที่ปลอดภัย, การทำการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และสนับสนุนระบบอาหารอย่างยั่งยืน

Global Report on Food Crises 2024 รายงานถึงปี 2566 ที่ผ่านมา มีผู้คนเกือบ 282 ล้านคน หรือราว ๆ 21.5% ของประชากรโลก ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารขั้นรุนแรง ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งเพิ่มขึ้น 24 ล้านคนจากปีที่ผ่านมา

และยังมีรายงานของ Food Waste Index 2024 ของ UNEP ชี้ว่า ขยะอาหารเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 8-10% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ADVERTISMENT

ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการพัฒนาต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และข้อ 12 การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และยังกระทบต่อข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิของโลกอีกด้วย

ในแง่ของการลดขยะอาหาร UNEP ได้ให้รายละเอียดแนวทางการนำ PPP (Public-Private Partnership) โมเดลมาปรับใช้ ด้วยแนวทาง “Target-Measure-Act” ได้แก่ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน วัดและติดตามผลการดำเนินงานเมื่อเวลาผ่านไป และปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างอนาคตทางอาหารที่ยั่งยืน

ADVERTISMENT

PPP โมเดล 5 ข้อ สร้างผลกระทบเชิงบวกและยั่งยืน

  1. สร้างระบบและความร่วมมือให้เข้าถึงง่าย เพื่อทราบและติดตามปัญหาการจัดการขยะอาหาร
  2. เปิดพื้นที่ให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
  3. ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดและจัดการอาหารส่วนเกิน
  4. เพิ่มความเข้าใจและแสวงหาโอกาสจากกรณีศึกษา เพื่อป้องกันการเกิดขยะอาหาร
  5. ติดตามความคืบหน้าและเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีการรายงานข้อมูลและตัวชี้วัด เพื่อประเมินประสิทธิภาพการลดขยะอาหาร และสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในทุกภาคส่วน