‘ซีพีเอฟ’ ส่งน้ำมันใช้แล้ว แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) คือเชื้อเพลิงอากาศยาน ซึ่งผลิตมาจากวัตถุดิบทดแทน โดยมีการผสมเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป เข้ากับสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ในสัดส่วนตามค่ามาตรฐานที่กำหนด เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิม

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วเป็นวัตถุดิบสำหรับเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ร่วมกับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจร่วมกัน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า การนำน้ำมันใช้แล้วในการปรุงอาหารเข้าสู่กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยแปรรูปเป็นน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) ถือเป็นกระบวนการที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพของคนไทย ให้น้ำมันที่ใช้แล้วไม่เข้าสู่กระบวนการใช้ซ้ำ

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

การนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วผลิต SAF เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์แก่สังคมและประชาชนอย่างตรงจุด โดยซีพีเอฟจะนำโรงงานต่าง ๆ ที่มีการใช้น้ำมันทอดอาหารเพื่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เช่น ในเรื่องของการแปรรูปไก่ที่มีการส่งออกราว ๆ 1 แสนตัน/ปี ซึ่งมีการใช้น้ำมันพืชในปริมาณที่มากพอสมควร

เพิ่มรายได้แฟรนไชส์ในเครือ

อย่างไรก็ตาม น้ำมันที่ดูไม่มีค่าเหล่านี้ เมื่อถูกนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อสร้างความยั่งยืนจะส่งผลดีต่อประเทศไทยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทยโดยตรง หากยิ่งมีการขยายผล ไม่ใช่แค่เฉพาะในโรงงานแปรรูป แต่ยังรวมไปถึงร้านอาหารของเครือซีพีเอฟด้วยแล้ว อาทิ ไก่ย่างห้าดาวที่มีประมาณ 5,000 จุดในประเทศนั้น ทางเจ้าของแฟรนไชส์ก็จะได้เงินเพิ่มแลกกับการช่วยจัดเก็บน้ำมัน

รวมถึงร้านอาหารอย่าง “เชสเตอร์” อีก 200 กว่าจุด ทำให้น้ำมันใช้แล้วที่มีมาตรการเข้มข้นอย่างไม่ทอดซ้ำ-ไม่ทอดทิ้ง นำมาสร้างประโยชน์ได้มากอย่างคาดไม่ถึง และช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมันเหล่านี้หลุดไปสู่ตลาดมือสองได้

Advertisment

ในส่วนของร้านอาหารในเครือ มีนโยบายไม่ทอดซ้ำมานานแล้วร่วม 20 ปี โดยจะไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง เพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้น้ำมันมีคุณภาพดี

ขณะที่น้ำมันใช้แล้ว ทางซีพีเอฟจะนำไปแปรรูปภายในบริษัท เช่น ใช้กับรถยนต์ในฟาร์ม ซึ่งการแปรรูปของเราเอง ถือว่ามีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง

Advertisment

การร่วมมือกับ บมจ.บางจากฯ ในการบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว รวมถึงไขมันต่าง ๆ จากธุรกิจผลิตอาหาร และไขมันจากบ่อบำบัดน้ำเสียของซีพีเอฟ รวมถึงบริษัทในเครือ ล้วนสร้างประโยชน์ขึ้น ทั้งการจำกัดไม่ให้น้ำมันออกไปสู่ตลาดมือสอง และยังเสริมมูลค่าเพิ่มจากการผลิตเป็นน้ำมัน SAF โดยบีเอสจีเอฟ

ซึ่งเป็นการต่อยอด ทำให้น้ำมันเหลือทิ้งเดินทางไปเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่องบินอย่างให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทั้งต่อสังคมและสภาพอากาศของโลกร่วมกัน

เริ่มจากไทย ขยายไปต่างประเทศ

นายประสิทธิ์กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟน่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารสูงเจ้าหนึ่งในประเทศไทย ที่มีการลงทุนในโรงงานถึง 17 ประเทศ และส่งออกสินค้ามากกว่า 50 ประเทศ ทำให้เห็นโอกาสที่จะสามารถเก็บสะสมน้ำมันกลับมาทำประโยชน์ได้อีกครั้ง

ด้วยปริมาณของน้ำมัน กล่าวได้ว่า สามารถลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทยได้หลายเท่า ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม และดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันของ 2 บริษัทขนาดใหญ่ที่มีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจน และมุ่งรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมจะขยายผลจากประเทศไทยสู่ต่างประเทศ

Waste Value

นายประสิทธิ์กล่าวเสริมว่า การร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับหลักการเรื่องความยั่งยืนที่มุ่งเน้นรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามหลัก Sustainovation ที่นำนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอย่างยั่งยืน

โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าจากของเสีย น้ำมันเกินครึ่งในระบบจะถูกส่งให้บริษัท บางจากฯ เป็นผู้รับผิดชอบต่อไป ส่วนของน้ำมันที่เป็นการนำเข้ามาจากโรงงานในต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องของภาษีอีกครั้งว่าต้องใช้ภาษีรูปแบบใด

“แม้ว่าจะไม่ถึงกับการเป็น New S-Curve แต่เป็นการคิดเรื่องของสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวในเชิงลึก ที่สำคัญมากสุดคือการหา Partnership เพราะการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำเพียงบริษัทเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกับบริษัทที่เก่งกว่าเราในด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป” นายประสิทธิ์กล่าวย้ำ

สำหรับรายได้จากการขายน้ำมัน มีการขายตามราคาตลาดอยู่ที่ลิตรละ 21 บาท ในส่วนที่เพิ่มมาแม้ว่าจะไม่ใช่จำนวนที่มาก แต่ดีกว่าต้นทุนที่นำไป Convert หรือแปลงกลับกับรถ Truck ภายในฟาร์ม ทั้งมีคุณภาพที่ดีกว่า สร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างคุณค่าได้มากกว่า ซึ่งดีกับสังคมในทุกมิติ

“ความตระหนักรู้ของบริษัทใหญ่ ๆ ในไทยอยู่ในระดับสูงมาก ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เชิงบวกในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือว่าโชคดีที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในไทยมีความตื่นตัว และมุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ” นายประสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย