
ชวนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงกับ 7 ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ในเครือข่าย SET Social Impact ผ่านแคมเปญ ‘ช้อปสะดวก ช่วยสังคม’ ที่ทำให้ทุกการช้อปมีความหมาย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไทย กลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ได้ก้าวขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NSO) เมื่อปี 2566 พบประชากรในกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 41.8% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ คิดเป็นประมาณ 29.18 ล้านคน ซึ่งพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้บริโภค แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวโน้มทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
การเติบโตของคนกลุ่มนี้ มาพร้อมกับแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับคุณค่า ความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมไปจนถึงความเท่าเทียมทางสังคม การปรับตัวของธุรกิจและองค์กรจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สอดรับกับมุมมองและความต้องการคนรุ่นนี้ หรือสังคมในยุคปัจจุบัน
โดยผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ถือว่าเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการตอบสนองแนวคิดเหล่านี้ โดยดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาและส่งมอบคุณค่าแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้จริง ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ในการมองหาสินค้าและบริการที่ไม่เพียงตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังสะท้อนถึงคุณค่าและจุดยืนทางสังคมที่ชัดเจน
หนึ่งในองค์กรที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่มุ่งพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกคน ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนผ่านแคมเปญ ‘ช้อปสะดวก ช่วยสังคม ให้ทุกการช้อปมีความหมายกับคุณ’ ที่มีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคม เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจสินค้าที่มีคุณค่าและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ผ่าน 7 ผู้ประกอบการเพื่อสังคมภายใต้เครือข่าย SET Social Impact บนแพลตฟอร์ม K+ market ในแอป K PLUS ซึ่งไม่เป็นเพียงแค่ช่วยขยายช่องทางจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม แต่ยังชวนให้ผู้บริโภคร่วมสนับสนุนแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ในวันนี้เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 7 ผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงในแคมเปญนี้ พร้อมเปิดเผยเรื่องราวเบื้องหลังความตั้งใจดีที่ผลักดันให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่มีคุณค่า แต่ยังส่งต่อความหมายที่ยิ่งใหญ่สู่สังคม
‘ดี มี สุข’ ‘Craft de Quarr’ และ ‘Haze Free’ สามพลัง SE ที่สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน – สิ่งแวดล้อม
หากพูดถึงการสร้างความยั่งยืนแล้ว การเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนคงเป็นเรื่องหลัก ๆ ที่เหล่าผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้ความสำคัญและอยากจะสร้างแรงขับเคลื่อนให้มากขึ้น บริษัท ดี มี สุข (ไม่) จำกัด หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ดี มี สุข’ เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาคนและชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยมองเห็นปัญหาที่สินค้าจากชุมชนต้องเผชิญ ซึ่งมักขาดการพัฒนาสินค้าอย่างเป็นระบบ ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม และขาดทักษะในการวางแผนธุรกิจ ทำให้การเติบโตของกิจการของชุมชนในระยะยาวเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ดี มี สุข จึงได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนผู้ประกอบการระดับชุมชน ผ่านการพัฒนาสินค้าให้มีความคุณภาพมาตรฐาน โดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกปลอดสารเคมีที่มีความหลากหลาย อาทิ แยมรวมเบอร์รี 7 ชนิด, ข้าวสังข์หยด, ปลาลูเบร่
ด้วยการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง ทำให้ ดี มี สุข ไม่เพียงแค่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสุขภาพ แต่ยังช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนในชุมชน ส่งเสริมการสร้างงานและรายได้ที่ยั่งยืน รวมถึงช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง
อีกหนึ่งผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมชุมชน Craft de Quarr (คราฟต์ เดอ คัวร์) โดย บริษัท เดอ คัวร์ จำกัด ที่เข้ามาช่วยพัฒนางานทอผ้า งานเย็บผ้า ของกลุ่มชาติพันธุ์ เผ่าชาวเขา เช่น อาข่า กะเหรี่ยง และม้ง โดยปรับให้มีดีไซน์ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภคปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ช่วยปลูกฝังความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กับคนในท้องถิ่น และส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมไปสู่ภายนอก
Craft de Quarr มุ่งเน้นให้การผลิตทุกขั้นตอนมีคุณภาพ ตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุ การทอผ้า ไปจนถึงการตัดเย็บอย่างประณีต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม และทนทาน ทั้งยังทำหน้าที่เป็นช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญสำหรับชุมชน ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่สนใจที่จะสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่
ส่วนผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Craft de Quarr ก็มีความหลากหลาย เช่น กระเป๋าผ้าทอมือที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า พวงกุญแจและที่ห้อยกระเป๋าที่มีการผสมผสานระหว่างงานฝีมือดั้งเดิมกับการออกแบบร่วมสมัย ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความสวยงามทางวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการช่วยเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นกับตลาดสากลอีกด้วย
วิสาหกิจเพื่อสังคมไร้ควัน หรือ Haze Free Social Enterprise ที่ก่อตั้งโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮซ ฟรี ก็ไม่ได้เน้นแค่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน แต่ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชแบบวนเกษตรและปลอดสารเคมี เน้นการผลิตที่ปลอดการเผา เพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศและหมอกควัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่โดดเด่นจาก Haze Free ได้แก่ อบเชยผง เห็ดเผาะรักษ์ป่า ชาอู่หลง ลำไยอบแห้ง และกระเทียมแกะกลีบ ซึ่งทุกชิ้นผ่านกระบวนการผลิตที่ใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด ‘Sustainable Food System’ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความรู้ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การดำเนินงานของ Haze Free ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างทางเลือกอาชีพและการจ้างงานให้กับคนในชุมชน เกิดการกระจายรายได้สู่ครอบครัวเกษตรกร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน และลดปัญหาสุขภาพจากสารเคมีในกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย
‘Yorice’ นวัตกรรมข้าวเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยพัฒนาชุมชนและเกษตรกร
อีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนชุมชนและเกษตรกรอย่างจริงจัง คือ บริษัท ทีเอชซี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Yorice มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ด้วยนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้กับ ‘ข้าวไทย’ โดยมีเป้าหมายลดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ผ่านแนวคิด ‘ชาวนาไม่จน คนไม่ป่วย’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
ด้วยความอยากแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกร Yorice จึงรับซื้อปลายข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นบ้านจากเกษตรกร และนำมาแปรรูปโดยใช้นวัตกรรมการหมัก ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากข้าวเพื่อสุขภาพที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสาเกญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ ‘Yorice Amazake’ ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ มีหลากหลายรสชาติให้เลือก เช่น รสข้าวมะลินิลสุรินทร์, รสข้าวหอมมะลิ สูตรหวานน้อย และข้าว 5 สายพันธุ์
นอกเหนือจากเครื่องดื่มข้าวเพื่อสุขภาพเอาใจสายเฮลตี้แล้ว Yorice ยังมีการรวบรวมข้าวจากเกษตรกรท้องถิ่นตอบโจทย์คนรักสุขภาพเช่นกัน โดยมีการจำหน่ายสายพันธุ์ข้าวอย่างหลากหลาย เช่น ข้าวสินเหล็ก ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และข้าว กข.43 ที่มีค่าอมิโลสต่ำ ทำให้มีเนื้อนุ่มและรับประทานง่าย ซึ่งทุกขั้นตอนในการผลิตข้าว ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ล้วนผ่านการดูแลอย่างใส่ใจ เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพียงทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รสชาติสดใหม่ แต่ยังช่วยสร้างความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรท้องถิ่นอีกด้วย
ส่งต่อกำลังใจและโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง กับสินค้าสร้างสรรค์โดย ‘Living’ และ ‘Artstory’
เมื่อผู้ประกอบการเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการทำกำไร แต่เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่เผชิญความท้าทายในชีวิต ลิฟวิ่ง (Living) โดย บริษัท ลิฟวิ่ง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชได้มีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพและจุดแข็งของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างทักษะอาชีพให้กับพวกเขา ซึ่งทุกคนจะมีส่วนสร้างสรรค์ผลงานตลอดกระบวนการ ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาทักษะทางอาชีพ แต่ยังเชื่อมโยงคนในสังคมให้เกิดความเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านจิตเวชอย่างยั่งยืน
ผลิตภัณฑ์ของ Living ทุกชิ้นล้วนเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ของผู้ป่วยจิตเวชที่มีความสามารถ โดยจะเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ หัตถกรรมและของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น สมุดโน้ต กระเป๋าผ้า กระเป๋าใส่เครื่องเขียน ผ้าพันคอมัดย้อม ทั้งนี้ ผลกำไรจากการจำหน่ายจะไม่มีการปันผลให้ผู้ลงทุน แต่จะนำรายได้ทั้งหมดสนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ Artstory By AutisticThai ซึ่งก่อตั้งขึ้นภายใต้ บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีเป้าหมายในการใช้ศิลปะเป็นสื่อบำบัดเยียวยา เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างสังคมและเด็กออทิสติก พร้อมทั้งเสริมสร้างความยั่งยืนในการใช้ชีวิต และส่งเสริมความภาคภูมิใจในฐานะบุคคลที่มีคุณค่าเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม
Artstory ได้นำผลงานศิลปะที่ออกแบบโดยเด็กออทิสติกจากมูลนิธิออทิสติกไทยมาพัฒนาสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีดีไซน์ที่ทันสมัยและน่ารัก เช่น หมวกผ้า กระเป๋าผ้า แก้วน้ำ และสินค้าอื่น ๆ โดยได้รับการออกแบบให้สวยงาม และเหมาะสมกับการใช้งานในทุกโอกาส
การสร้างสรรค์ผลงานผ่านการวาดภาพและการแต่งแต้มสีสันเป็นรูปแบบศิลปะบำบัดที่ช่วยให้เด็กออทิสติกมีสมาธิ ได้พัฒนาจินตนาการ เยียวยาจิตใจ และเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม การสร้างผลิตภัณฑ์จากศิลปะยังช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมการจ้างงานให้แก่บุคคลออทิสติกและครอบครัว และเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืนและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว
ช้อปปิ้งแบบรักษ์โลก กับสินค้างานศิลป์จากของเหลือใช้ โดย ‘WISHULADA’
ด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า ‘ไม่มีสิ่งใดไร้ค่า’แบรนด์งานศิลปะ WISHULADA (วิชชุลดา) จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แบรนด์นี้ก่อตั้งโดยวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อผสม ที่มุ่งกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึงปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางผ่านแนวคิด ‘Turning Trash to Sustainable Art’
วิชชุลดาได้นำวัสดุเหลือใช้ เช่น ฝาขวดน้ำพลาสติก เสื้อผ้าเก่า และวัสดุอื่น ๆ มาเปลี่ยนเป็นงานศิลปะที่ยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม หรือสินค้าแฟชั่น เช่น กระเป๋าถือ ที่มีสีสันสวยงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเน้นแนวคิดหมุนเวียนใช้ซ้ำ (Reuse & Upcycle) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้การสร้างสรรค์นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายหลักของวิชชุลดา คือ การเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ ให้กลายเป็นสื่อกลางในการปลุกจิตสำนึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาหมุนเวียนใช้ซ้ำจากวัสดุเหลือใช้รอบตัว อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างงานและอาชีพให้แก่กลุ่มคนทำงานฝีมือและผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานราก สร้างอนาคตที่ยั่งยืน
เปลี่ยนการช้อปให้เป็นพลัง สร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน
จากเรื่องราวความตั้งใจของ 7 ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการช่วยพัฒนา สนับสนุนชุมชนและสิ่งแวดล้อมไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างความยั่งยืนและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงให้สังคมอย่างแท้จริง การสนับสนุนโดยเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นอีกช่องทางที่เราสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจสินค้าของ 7 ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่ร่วมแคมเปญ ‘ช้อปสะดวก ช่วยสังคม’ สามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านการจ่ายเงินสด หรือใช้ K Point ในการซื้อก็ได้ อย่าปล่อยให้ K Point ของคุณหมดอายุ นำมาใช้ในการอุดหนุนสินค้าและสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกได้ง่าย ๆ เพียงร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมบนแอป K PLUS ผ่านเมนู K+ market และค้นหาคำว่า ‘SET Social Impact’ คุณจะได้พบกับสินค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่สินค้าที่ช่วยสร้างงานและรายได้ให้ชุมชน สินค้าจากกลุ่มผู้เปราะบาง สินค้าเกษตรอินทรีย์ จนถึงสินค้าวัสดุรีไซเคิลที่มีส่วนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
เพราะทุกการใช้จ่ายของคุณมีความหมายในการช่วยส่งเสริมการเติบโตของชุมชน มาร่วมสนับสนุนแคมเปญ ‘ช้อปสะดวก ช่วยสังคม ให้ทุกการช้อปมีความหมาย’ ได้ที่ K+ market สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com