
อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศคิดเป็น 7-8% ของ GDP ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปี 1.5-2 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานตั้งแต่การค้าไปจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 40% ของคาร์บอนทั้งหมดในโลก
งานแห่งปี The NOVA Expo 2025
ดังนั้น เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ยกระดับสังคม ชุมชน สู่ความยั่งยืน ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญกับแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอน เช่นเดียวกับผู้ผลิตและผู้พัฒนาโครงการต่าง ๆ ในวงการก่อสร้างทั้งประเทศไทยและทั่วโลกที่เร่งพัฒนานวัตกรรมสีเขียว สร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งไปสู่การสร้าง Carbon Net Zero ในเร็ววัน
ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและองค์ความรู้ เป็นเครื่องมือยกระดับประสิทธิภาพของอาคาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (EEC Academy) ในฐานะผู้นำด้านการออกแบบทางวิศวกรรมงานระบบที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ตอบรับเทรนด์โลกสีเขียว ผ่านการจัดงาน “The NOVA Expo 2025” งานแห่งปีของวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่
ดร.เกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ EEC Academy ชี้ถึงสาเหตุสำคัญของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างว่า เกิดจากปัจจัยหลัก ๆ ที่ประกอบด้วย 4 สาเหตุ ได้แก่ วัสดุก่อสร้างที่มาจากกระบวนการผลิต ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8%,
การใช้พลังงาน โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทย ที่มีการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ทำความเย็นให้กับอาคารสูงถึง 60-70% ของการใช้พลังงานทั้งหมด, ขาดกระบวนการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และการขนส่ง ด้วยระยะทางการขนส่งและรถขนส่งยังใช้พลังงานเชื้อเพลิง
การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ควรต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ได้แก่ การออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและการออกแบบอาคารใช้พลังงานต่ำ หรือ Passive Design, การเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน, ภาครัฐควรมีมาตรฐานสนับสนุนการรับรองตามมาตรฐานอาคารเขียว
สำคัญที่สุดคือการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากกริดไฟฟ้า และสนับสนุนการใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการเกิดขยะ และสามารถนำไปใช้ใหม่ได้ เพื่อให้เกิด Circular Economy Model
เปิดเทรนด์เทคโนโลยีอนาคต
1.การออกแบบและวางผังเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Green Design and Planning for Carbon Reduction) อาทิ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ การวางทิศทางอาคารเพื่อป้องกันความร้อน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำนึงตั้งแต่ก่อนสร้างไปถึงการใช้งานอาคารไปอีก 30 ปี โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่าง เครื่องคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint Calculator) การประเมินวงจรชีวิตอาคาร (Lifecycle Assessment) และระบบรับรองอาคารยั่งยืน
2.การก่อสร้างแบบสำเร็จรูปและโมดูลาร์ (Green Modular and Materials Construction) เทคนิคการก่อสร้างที่ประกอบบางส่วนจากโรงงาน มาช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ลดการเกิดเศษวัสดุ โดยมีเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D และหุ่นยนต์ก่อสร้าง (Construction Robotics) เข้ามามีบทบาทสำคัญ
3.เทคโนโลยีสีเขียวและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Green Innovative Tech) ด้วยการใช้ระบบ IOT, AI และระบบอัจฉริยะ (Smart Systems) เข้ามามีส่วนในการออกแบบ ก่อสร้าง ควบคุมงานก่อสร้าง และบริหารงานอาคาร การนำ AI เข้ามาทำนายรูปแบบการใช้พลังงานและปรับระบบเรียลไทม์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และยืดอายุการใช้งานของอาคาร
โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ Digital Twins (แบบจำลองเสมือนของอาคาร) ระบบทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สมัยใหม่, สารทำความเย็นจากธรรมชาติ, เครื่องปรับอากาศแบบไร้ท่อ, การทำความเย็นด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพ, การทำความเย็นโดยอิสระ DOAS (Dedicated Outdoor Air System ระบบอากาศแยกส่วน)
4.เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ (Green Operation Quality) อาทิ การให้บริการพลังงานความเย็น ไม่ว่าจะเป็น Cooling as a Service (CaaS), Performance Guarantee รวมถึงการให้บริการบริหารระบบบำบัดน้ำเสีย (Smart Waste Water Management) ที่จะมาช่วยดูแลและบริหารจัดการระบบอาคารที่มีความซับซ้อน
5.เทคโนโลยีพลังงานสีเขียวที่เกิดขึ้นมากมาย (Green Innovation Energy) เช่น RE100 หรือการใช้พลังงานสะอาด 100%, พลังงานไฮโดรเจน, ระบบกักเก็บพลังงาน, ESCO หรือ Energy Service Company, ระบบทำความเย็นจากศูนย์กลาง หรือ District Cooling System ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลดีด้านสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีเหล่านี้
ดร.เกชากล่าวทิ้งท้ายว่า การก้าวเข้าสู่สังคม Carbon Net Zero จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือ ที่ผ่านมาเห็นแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ความสนใจและสนับสนุนอย่างจริงจัง รวมทั้งทุ่มลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอน
“หากประเทศไทยมีพลังงานสีเขียวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มั่นใจว่าเราจะสามารถดึงดูดนักลงทุนและสามารถสร้างเม็ดเงินในระบบได้อีกมหาศาล”