
ทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากก้าวเล็ก ๆ และ เนสท์เล่ ประเทศไทย กำลังเดินหน้าก้าวสำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยได้ประกาศความคืบหน้าด้านความยั่งยืนปี 2025 สู่เป้าหมาย Net Zero 2050 หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 พร้อมขับเคลื่อนกลยุทธ์สิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค (Good for You) และสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ควบคู่ไปกับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจโลก ตั้งแต่ต้นทางในฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค
พร้อมกันนี้ เนสท์เล่ยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยร่วมกันดูแลโลก ผ่านแคมเปญ ‘Every Little Act Matters เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้’ ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ชวนทุกคนร่วมเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ทีละเล็กทีละน้อย เพราะเมื่อพลังของทุกคนรวมกัน โลกของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า บอกว่า ในฐานะบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก เนสท์เล่เชื่อมั่นในการมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฟื้นฟูระบบอาหารและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกร ชุมชน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ เนสท์เล่ ประเทศไทย จึงมุ่งดำเนินงานตาม 2 กลยุทธ์หลัก ที่สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ได้แก่ การขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค (Good for You) และการขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา (Good for the Planet) ภายใต้กลยุทธ์ ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค หรือ Good for You เนสท์เล่ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสัญลักษณ์ ‘ทางเลือกสุขภาพ’ ในปริมาณมากกว่า 4,600 ล้านหน่วยบริโภคในปี 2024 โดยมีผลิตภัณฑ์ 115 รายการที่ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ ซึ่งสูงสุดในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยนอกจากนี้ ยังส่งมอบอาหารและเครื่องดื่มที่เสริมแร่ธาตุและวิตามินกว่า 3,400 ล้านหน่วยบริโภคในปี 2024 ด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการเฉพาะกลุ่มครอบคลุมตั้งแต่ทารก เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ เพื่อช่วยต่อสู้กับภาวะทุพโภชนาการและเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับคนไทย
เนสท์เล่ ยังเดินหน้าส่งเสริม ‘การกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet’ ผ่านการให้ความรู้ด้านสุขภาพ โภชนาการ และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทยกว่า 5.48 ล้านคน ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ เนสท์เล่ คาราวานครอบครัวแข็งแรง และโครงการภารกิจพิชิตสุขภาพดี
ในส่วนของกลยุทธ์ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อโลกของเรา หรือ Good for the Planet เนสท์เล่ได้มุ่งมั่นที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์และการดำเนินงานมีความยั่งยืนตั้งแต่ฟาร์มไปสู่มือผู้บริโภค เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูระบบอาหารอย่างยั่งยืนในวงกว้าง
วิคเตอร์ ยังได้ฉายภาพรวมถึงแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเนสท์เล่ว่า การทำงานของเนสท์เล่ด้านความยั่งยืนจะยึดพันธกิจและเป้าหมายเดียวกันทั่วโลก โดยแต่ละประเทศมีอำนาจในการกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินการที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศมาใช้ ซึ่งผมยินดีที่จะแบ่งปันว่า เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้รับการยอมรับว่ามีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีในหลากหลายด้าน
หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ การใช้พลาสติกรีไซเคิล rPET ในแบรนด์น้ำแร่ธรรมชาติมิเนเร่ (Mineré) ร่วมกับแคมเปญการสื่อสารอย่าง ‘BOTTLE MADE FROM BOTTLES’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการความยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดโครงการหนึ่งในภูมิภาค เนื่องจากเราเป็นผู้นำในการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นรายแรกในตลาดน้ำดื่มในประเทศไทย และขณะเดียวกันก็สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคได้อย่างเข้มแข็ง
นอกจากการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนแล้ว เนสท์เล่ยังให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันบริษัทมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูและคืนทรัพยากรน้ำกลับสู่ชุมชนและธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการจัดการน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว
“อย่างไรก็ตาม การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากองค์กรเพียงลำพัง ดังนั้น เนสท์เล่ ประเทศไทย จึงมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาระบบการรีไซเคิลขยะในประเทศไทย ความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่โรงงานรีไซเคิล หน่วยงานท้องถิ่น โรงงานจัดเก็บและแยกขยะ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ล้วนมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งระบบการจัดการขยะที่เหมาะสมและยั่งยืน” วิคเตอร์ เซียห์ เน้นย้ำ
ในปี 2021 เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้เปิดแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ ภายในปี 2050 (Nestlé Thailand Net Zero 2050 Roadmap) และในปี 2025 กำลังเดินหน้าสู่ความคืบหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ใน 4 มิติหลัก
เพาะปลูกอย่างยั่งยืน สู่เมล็ดกาแฟคุณภาพเพื่อทุกคน
เริ่มจากการจัดการวัตถุดิบอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในภาคการเพาะปลูกกาแฟ ซึ่ง นิภาวรรณ โดดเสนา นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า ‘กาแฟ’ ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของเนสท์เล่ ภายใต้แบรนด์เนสกาแฟ เราจึงทุ่มเทในการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลและพื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“เราทราบว่า ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบของเนสท์เล่ มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับทั่วโลกขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตของเราลดน้อยลง เราจึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำเกษตรกรรม โดยนำหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู หรือ RegenerativeAgricultureเข้ามาช่วยเกษตรกรให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อให้การจัดหาวัตถุดิบของเนสท์เล่มีความยั่งยืน ดีต่อผู้บริโภค และดีต่อโลกของเราไปพร้อม ๆ กัน”

ขณะเดียวกัน จากการที่เราทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมาอย่างยาวนาน ทำให้เราสามารถจัดหาวัตถุดิบซึ่งก็คือเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าและโรบัสต้าอย่างมีความรับผิดชอบ 100% นอกจากนี้ 20% ของเมล็ดกาแฟสดที่เนสท์เล่ ประเทศไทยใช้ก็มาจากการเพาะปลูกด้วยหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูอีกด้วย
จนถึงวันนี้ เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟกว่า 2,500 ราย และสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟอีก 5 ราย ให้ผ่านมาตรฐาน 4C หรือ Common Code for Coffee Community เป็นที่เรียบร้อย เพราะเราเชื่อว่า กาแฟที่ดี ต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงแก้วของคุณ
สร้างอนาคตฟาร์มโคนมยั่งยืน ผ่านการใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู
ในด้านการจัดการน้ำนมดิบอย่างยั่งยืนนั้น ศิรวัจน์ ปัณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้เล่าถึงการพัฒนาฟาร์มโคนมอย่างยั่งยืน โดยระบุว่า เนสท์เล่ ใช้น้ำนมดิบในผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เนสกาแฟ นมตราหมี และไมโล ในขณะที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำนมดิบลดลงจากปัญหาภาวะโลกเดือด ซึ่งก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งในแหล่งเพาะปลูกอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตของเกษตรกรโคนมสูงขึ้นและฟาร์มบางแห่งเลิกเลี้ยงโคนมไป ทำให้เราจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ
สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นปรับเปลี่ยนคือ โภชนาการที่วัวได้รับโดยเนสท์เล่ได้เริ่มใช้การประเมินการผลิตอย่างยั่งยืนในฟาร์ม ผ่านการใช้หลัก ‘Responsible Sourcing’ซึ่งในปี2021ได้ผ่านมาตรฐานนี้100%เป็นการรับประกันว่าเกษตรกรของเนสท์เล่ไม่มีการใช้แรงงานเด็กและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเชื่อมโยงกับการวางแผนระยะยาวถึงปี 2030 โดยในปี 2025 เนสท์เล่ตั้งเป้าหมายให้ 20% ของน้ำนมดิบที่ใช้มาจากฟาร์มที่มีการประยุกต์ใช้การเกษตรเชิงฟื้นฟู ในขณะที่ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างเนสท์เล่และเกษตรกรโคนม ที่มีการรวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหกรณ์ แล้วส่งน้ำนมดิบให้เรามาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี

“ผมพูดได้เลยว่า เนสท์เล่ เป็นบริษัทแรกในไทยที่มีการส่งเสริมการใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูในฟาร์มโคนม เพื่อพัฒนาการจัดการการเลี้ยงโคนมให้มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตน้ำนมโคอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้ดียิ่งขึ้น”
สำหรับหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูในฟาร์มโคนม เนสท์เล่มุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาระบบโภชนาการของแม่โค ผ่านการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แปลงหญ้าที่มีการผสมผสานถั่วอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้แม่โคได้รับสารอาหารที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จัก การจัดการของเสียในฟาร์ม โดยการสร้างลานคอนกรีตเพื่อจัดการกับมูลโค และนำมูลโคที่แห้งแล้วกลับมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้า ซึ่งส่วนเกินสามารถนำไปขายเพิ่มรายได้เสริมได้อีกทาง และสุดท้ายคือ การเข้าถึงพลังงานทดแทน เช่น โซลาเซลล์และการผลิตไบโอแก๊ส ยังช่วยให้ฟาร์มโคนมมีความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
“จากกิจกรรมที่พูดมานี้ ทำให้ปี 2023 เราสามารถลดคาร์บอนที่เกิดจากฟาร์มโคนมได้มากกว่า 5,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2018 ขณะที่ปริมาณและคุณภาพของน้ำนมดิบก็ดีขึ้นด้วย”
นอกเหนือจากเรื่องเกษตรเชิงฟื้นฟู เนสท์เล่ยังทำงานร่วมกับภาคราชการอย่าง กรมปศุสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานที่เรียกว่า GAP ซึ่งตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เกษตรกรทุกฟาร์มที่ส่งนมให้เนสท์เล่ผ่านมาตรฐาน GAP แล้ว 100%
อย่างไรก็ดี เนสท์เล่ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ 3 สหกรณ์ที่ส่งน้ำนมดิบให้กับเนสท์เล่ ได้แก่ สหกรณ์โคนมพิมาย สหกรณ์โคนมชุมพวง และสหกรณ์โคนมครบุรี รวมกว่า 160 ฟาร์มในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เกษตรกรทุกคนมั่นใจได้ว่า เนสท์เล่ยังส่งเสริมการประยุกต์ใช้หลักการเกษตรเชิงฟื้นฟูในฟาร์มโคนม ควบคู่ไปกับการซื้อน้ำนมดิบอย่างต่อเนื่อง ในราคาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
สำหรับแผนงานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนสท์เล่ ประเทศไทย จะต่อยอดจากสิ่งที่เราได้ทำในช่วงที่ผ่านมา อย่างแรกคือ หลังจากที่เกษตรกรมีลานตากมูลโคแล้ว เมื่อมูลโคแห้ง เราก็จะนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยคอก รวมถึงการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน เพราะมูลไส้เดือนนี้มีราคามากกว่ามูลโคทั่วไป ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งเรายังมีการพัฒนาอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกหญ้าขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกหญ้าทำเป็นหญ้าแห้ง หรือหญ้าสดส่งให้กับฟาร์มโคนมของเรา
“ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นของเนสท์เล่ในการดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีความมั่นคงและมีรายได้มากขึ้นพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านภาวะโลกร้อน รวมไปถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผ่านการลดคาร์บอน ดูแลพื้นดิน ดูแลป่า ปกป้องแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และที่สำคัญคือ เรื่องของผู้บริโภค ที่จะได้รับอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีโภชนาการอาหารที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อโลกที่สวยงามให้กับคนรุ่นถัดไป”
ปลูกฝังการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน คืนทรัพยากรน้ำสู่ธรรมชาติและชุมชน

บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้มุ่งมั่นในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแค่การบริหารจัดการในโรงงานผลิตน้ำดื่มเท่านั้น แต่ยังมีการขยายผลสู่การดูแลธรรมชาติและชุมชนรอบข้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในเชิงธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดย ศุภวัฒน์ คามีเยาน์ ผู้จัดการด้านความยั่งยืนธุรกิจน้ำดื่มของบริษัทเนสท์เล่ ได้เผยถึงแนวทางและความสำเร็จในการดำเนินงานดังกล่าว
ซึ่งในปี 2025 นี้ เนสท์เล่จะบรรลุ Milestone สำคัญคือการดำเนินโครงการ Water Regeneration ที่จะชดเชยน้ำทั้งหมดที่ใช้ในธุรกิจน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ หรือน้ำแร่ธรรมชาติ มิเนเร่ รวมถึงน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากโรงงานทั้งสองแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุราษฎร์ธานี คืนสู่ธรรมชาติและชุมชนในปริมาณที่เทียบเท่ากับการใช้น้ำในธุรกิจทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณมากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ โรงงานผลิตน้ำดื่มของเนสท์เล่ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจาก Alliance for Water Stewardship (AWS) ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ซึ่งทำให้เนสท์เล่เป็นบริษัทเดียวในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับมาตรฐานนี้
ความสำเร็จนี้ไม่ใช่เพียงการตอบสนองความต้องการภายในองค์กร แต่ยังเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเนสท์เล่ น้ำรักษ์น้ำ ในทั้งสองจังหวัด ซึ่งโครงการนี้มุ่งเน้น 3 แกนหลัก คือ การเรียนรู้ การปกป้อง และการฟื้นฟู สำหรับในแกนแรก การเรียนรู้ เนสท์เล่มุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำไม่เพียงแค่ในชุมชนและโรงเรียน แต่ยังขยายไปถึงภาควิชาการ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เรื่องน้ำ ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ
ในส่วนของ การปกป้อง เมื่อได้รับความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแล้ว การลงมือทำจริงก็เป็นขั้นตอนสำคัญ เนสท์เล่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านและส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการตลาดนัดขยะชุมชน ซึ่งสามารถลดขยะในคลองได้อย่างเห็นผล อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่เป็นวัชพืชในน้ำโดยการส่งเสริมให้ชาวบ้านนำผักตบมาตากและทำการถักทอเพิ่มมูล ค่า สร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน ผ่านโครงการ ‘เนสท์เล่รักษ์ชุมชน ผักตบชวาสู่รายได้’
สุดท้ายคือ การฟื้นฟู เมื่อการเรียนรู้และการปกป้องเกิดขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ เนสท์เล่ได้ดำเนินโครงการคืนปลาสู่คลองขนมจีน โดยการสร้างบ่ออนุบาลและปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นหายากคืนสู่คลอง เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อกำจัดวัชพืชและฟื้นฟูคลอง โดยการลอกคลอง ซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และทำเขตห้ามล่าเพื่อสนับสนุนการวางไข่ของปลาในพื้นที่หนองทุ่งทอง ช่วยให้ระบบนิเวศสมบูรณ์มากขึ้น
เดินหน้าลดขยะพลาสติก พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงเท่านั้น เนสท์เล่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย วันฉัตร ผลทวี ผู้จัดการฝ่ายบรรจุภัณฑ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านบรรจุภัณฑ์ โดยบอกว่า เนสท์เล่ ประเทศไทย ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อออกแบบให้บรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเดินหน้าลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ 1 ใน 3 โดยเนสท์เล่ ประเทศไทย มุ่งมั่นแน่วแน่ว่า จะต้องไม่มีบรรจุภัณฑ์ของเนสท์เล่ถูกทิ้งอยู่ในหลุมฝังกลบหรือในแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ดังนี้
- ลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic Reduction) ด้วยการเปลี่ยนไปใช้พลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET ในขวดน้ำดื่มมิเนเร่ และเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ รวมทั้งการใช้ฟิล์มหุ้มบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ rPE อีกทั้งยังมีการใช้วัสดุทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการใช้พลาสติก อาทิ ซองกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้านนอกของผลิตภัณฑ์เนสกาแฟโพรเทค โพรสลิม และเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู สูตรน้ำตาลน้อยและสูตรไม่มีน้ำตาล เพื่อเดินหน้าสู่การลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ลง 1 ใน 3
- ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้รีไซเคิลได้ (Designed for Recycling) ได้แก่ ซองบรรจุภัณฑ์แบบ Mono Structure ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเดียวกัน กระป๋องอะลูมิเนียม สำหรับเนสกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม รีไซเคิลได้ 100%
- ส่งเสริมระบบการจัดการขยะเพื่อการรีไซเคิล (System for Recycling) ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ แคมเปญ ‘BOTTLE MADE FROM BOTTLES’ จากน้ำแร่ธรรมชาติ มิเนเร่ โครงการ ‘Careton กล่องนมรักษ์โลก’ จากไมโล รวมทั้งการเข้าร่วม ‘PRO-Thailand Network’ เพื่อขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตามหลัก EPR และผลักดันให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ให้ ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน เนสท์เล่ยังร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการจัดเก็บ คัดแยก และนำขยะเข้าสู่การรีไซเคิล เช่น การจัดโครงการตลาดนัดขยะชุมชน โดยร่วมมือกับวงษ์พาณิชย์ และโครงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน โดยจับมือกับ Waste Buy Delivery ส่งเสริมให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และผู้บริโภคก็ได้นำขยะมาขายแลกเปลี่ยนเป็นเงิน
มุ่งสู่ Net Zero จากการใช้พลังงานหมุนเวียน-เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ
กันต์ เขมาชีวะกุล ผู้จัดการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้มาเผยแผนงาน Net Zero ของบริษัท โดยระบุว่า ปัจจุบันโรงงานทั้ง 8 แห่งของเรา รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า ได้มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% โดยมาจากการใช้พลังงานสะอาด 2 ส่วน คือ ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในโรงงาน และการได้ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) และในปัจจุบัน เนสท์เล่ ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% เมื่อเทียบกับปี 2018 ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการดำเนินงานในหลายมิติร่วมกันตลอดห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นจนจบ

นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังได้เลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น การนำร่องการใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า 100% มาใช้ในการขนส่งผลิตภัณฑ์คิทแคทและเนสท์เล่ ไอศกรีมในระบบควบคุมอุณหภูมิระหว่างโรงงานศูนย์กระจายสินค้าและร้านค้าพันธมิตรการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ยังช่วยลดระยะทางการขนส่งและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับก้าวต่อไปของเนสท์เล่ ประเทศไทย ได้มีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอน 50% ภายในปี 2030 โดยจะยังคงดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing), การดูแลและจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship), ความยั่งยืนด้านบรรจุภัณฑ์ (Packaging Sustainability) และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจและโลกของเรา
‘Every Little Act Matters เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้’ แคมเปญสร้างแรงบันดาลใจ ชวนคนไทยร่วมดูแลโลก
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมมือกันในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม เจนิกา คอนเด ครูซ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จึงประกาศเดินหน้าสานต่อแคมเปญ ‘Every Little Act Matters เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้’ เป็นปีที่ 4 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยทำสิ่งเล็กน้อย ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อการมีส่วนร่วมในการดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อโลกของเราอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

จากการสำรวจ Kantar’s Sustainability Sector Index 2023 พบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตามด้วยการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ โดยผู้บริโภคไทย 76% ให้ความสนใจกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นอย่างมากอย่างไรก็ตามยังมีช่องว่างระหว่างค่านิยมและการกระทำ จริง แม้ว่า ผู้บริโภค 91% อยากใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน แต่มีเพียง 42% ที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริงจัง เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการหรือไม่สามารถประนีประนอมเรื่องเวลางบประมาณรสชาติคุณภาพและความเพลิดเพลินจาก ผลิตภัณฑ์ ให้กับความยั่งยืนเพียงอย่างเดียวได้
เจนิกายังฝากทิ้งท้ายอีกว่า“แนวคิดหลักของแคมเปญในปีนี้มาจากอินไซต์ผู้บริโภคที่พบว่าทุกคนต้องการสร้าง การเปลี่ยนแปลง แต่บางครั้งเรายังสงสัยว่า คน ๆ เดียว หรือการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราจะมีความหมายหรือไม่ เนสท์เล่จึงมุ่งทำให้ทุกคนมั่นใจว่า การทำสิ่งเล็กน้อย ง่าย ๆ ในทุกวัน สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ เมื่อทุกคนร่วมมือกัน”