เปิดกลยุทธ์ธุรกิจยั่งยืนของเนสท์เล่ เวียดนาม ใช้การเล่าเรื่องพิชิตใจผู้บริโภค

เนสท์เล่ เวียดนาม (Nestlé Vietnam) เผยกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เน้นการเล่าเรื่อง (Storytelling) ลดระยะห่างระหว่างความยั่งยืนกับผู้บริโภค เป็นจุดเด่นในการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์ในระยะยาว

บินู จาคอบ (Binu Jacob) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนสเล่ เวียดนาม (Nestlé Vietnam) เปิดเผยกรณีศึกษาในประเด็นแนวทางปฏิบัติในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ภายในงาน The Economist Sustainability Week ครั้งที่ 4 ว่า ความยั่งยืนมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นต้นทุนมากกว่าการลงทุน แต่หากนำมาปรับใช้เชิงกลยุทธ์ ก็สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้

ทุกวันนี้หลายบริษัทลังเลที่จะทุ่มเทให้กับความยั่งยืนอย่างเต็มที่ เพราะมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกับความสามารถในการทำกำไรทั้งที่ในความเป็นจริง กว่า 80% ของผู้บริโภคกล่าวว่า พวกเขาต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้นจริง ๆ

ดังนั้นแทนที่ธุรกิจจะรอให้ความต้องการเติบโตขึ้นเอง พวกเขาควรเป็นผู้นำในการทำให้ความยั่งยืนเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจ ทั้งนี้แนวทางของเนสท์เล่ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการผสมผสานระหว่างผลกำไรและผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สามารถเดินไปพร้อม ๆ กันได้  

เครดิตภาพ brandsvietnam

เนสท์เล่ เวียดนาม ใช้โซเชียลมีเดียสร้างความตระหนักรู้

ตัวอย่างสำคัญประการหนึ่งคือความพยายามของเนสท์เล่ในการลดขยะพลาสติก เพราะการผลิตเครื่องดื่มพร้อมดื่มที่มีมากถึง 1.5 พันล้านชิ้นต่อปี ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล เพราะหลอดพลาสติกเกือบทั้งหมดลงเอยในหลุมฝังกลบหรือในมหาสมุทร

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เนสท์เล่ได้เปิดตัวโครงการให้คำมั่นสัญญาของผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดีย โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลลัพธ์ที่ได้คือความมุ่งมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นถึง 7% พร้อมทั้งยกระดับภาพลักษณ์ของเนสท์เล่ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  

ADVERTISMENT

เกษตรกรรมยั่งยืน สร้างแบรนด์ให้ธุรกิจ

ในอุตสาหกรรมกาแฟ เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เนสท์เล่ได้ลงทุนในการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนมานานกว่า 14 ปี โดยนำเทคนิคการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้ และส่งเสริมการปลูกพืชแบบผสมผสานเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ด้วยการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรมากกว่า 350,000 คน และฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูกกาแฟกว่า 87,000 เฮกตาร์

โครงการนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตถึง 250% ในขณะที่ลดการใช้ยาฆ่าแมลงและน้ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกเนสท์เล่ประสบความท้าทายในการทำให้ผู้บริโภคสนใจประเด็นด้านความยั่งยืน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแนวทางโดยนำเสนอผ่านประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยตรง ผ่านโครงการฝึกงานที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน

ADVERTISMENT

แคมเปญนี้ได้รับการตอบรับอย่างมากมาย ด้วยยอดเข้าชมกว่า 8.2 ล้านครั้ง และผู้สมัครมากกว่า 1,000 คน โดย 85% ของผู้เข้าร่วมระบุว่าพวกเขามีความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น วิธีการนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า หากสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนสามารถช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์และขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจได้  

ความยั่งยืนใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาด

บินู จาคอบ กล่าวต่อว่า ความยั่งยืนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น โดยยกตัวอย่างร้านอาหารแห่งหนึ่งที่นำโมเดลความยั่งยืนแบบครบวงจรมาใช้ โดยการรีไซเคิลขยะอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก และใช้ระบบอะควาโปนิกส์ (Aquaponics) ในการเพาะปลูกผักเพื่อใช้ภายในร้าน

โมเดลนี้ไม่เพียงช่วยลดของเสีย แต่ยังสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ ส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังหลายประเทศ ความสำเร็จของกรณีศึกษานี้ ตอกย้ำว่าความยั่งยืนสามารถปรับใช้ได้กับทุกขนาดธุรกิจ และสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

“ความยั่งยืนและผลกำไรไม่ได้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน หากบูรณาการอย่างเหมาะสม ความยั่งยืนสามารถเพิ่มมูลค่าในระยะยาว เสริมสร้างความภักดีของผู้บริโภค และกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจได้”

การเล่าเรื่อง (Storytelling) ที่มีพลังเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้แนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าถึงผู้บริโภค และไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถผสานแนวทางที่ยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการดำเนินงานได้ ที่สำคัญที่สุด ความยั่งยืนต้องได้รับการสนับสนุนจากระดับผู้นำขององค์กร เพราะความมุ่งมั่นของผู้นำคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืน