ความรู้ Data ค้นหาชายชุดดำ สกัด “3 เผา” ฝ่าฝุ่น PM 2.5

ความรู้-DATA ค้นหาชายชุดดำ สกัด 3 เผ่า ฝ่าปัญหาฝุ่น PM 2.5
ภาพจากเพจฝ่าฝุ่น

1 ในภัยพิบัติธรรมชาติของทศวรรษนี้ คือภัยที่มากับฝุ่น PM 2.5 ซึ่งลากยาวและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินประเมินมูลค่าไม่ได้

ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย ปัญหาฝุ่นได้พรากชีวิตคนไทยไปหลายราย จากโรคปอดอักเสบ และสร้างผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาใส่ใจและร่วมมือกันแก้ไข

การแก้ปัญหา PM 2.5 ให้ได้สำเร็จลุล่วง และเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คนไทยอาจจะต้องตระหนักถึงต้นตอของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้น และร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน รัฐ-ราชการ และธุรกิจเอกชน

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมสนทนากับ “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP และ “นายเจน ชาญณรงค์” รองประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ซึ่งร่วมกันศึกษาข้อมูล-ลงพื้นที่ และสะท้อนมุมมองของปัญหา การรู้เท่าทันปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคม

“3 เผา” ต้นตอปัญหา “ฝุ่น”

“ดร.อนุชิต” ได้เล่าถึงความตั้งใจของการเข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ตัวเองในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เผชิญปัญหาฝุ่นจนหายใจไม่ออกและไม่สะดวก จึงอยากจะสะท้อนให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้ การจะแก้ไขปัญหาได้นั้น เบื้องต้นอาจจะต้องรู้ถึงที่มาของต้นตอการเกิด “ฝุ่น” จะมาจากปัญหาของการ “เผา” ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 เผา ได้แก่ 1.เผาป่า 2.เผานา และ 3.เผาไร่ หากเจาะเข้าไปดูในแต่ละเผา จะพบว่า “เผาป่า” จะมีอยู่ 2 แบบ คือ เจ้าหน้าที่เผาเอง และชาวบ้านเผา ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลป่า จะมีอยู่ 2 กรม ได้แก่ 1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2.กรมป่าไม้

ADVERTISMENT

และเผาที่ 2 คือ “เผานา” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องหลัก เนื่องจากไม่มีหน่วยงานหรือผู้กำกับดูแล (Regulator) หรือเป็นเจ้าภาพจัดการ ทำให้ยังเห็นสัญญาณการ “เผานา” อยู่ราว 6 ล้านไร่ จำเป็นต้องหาหน่วยงานรับผิดชอบดูแลเพื่อแก้ปัญหา และเผาที่ 3 คือ “เผาไร่” จะมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด แม้ว่าจะมีการบริหารจัดการอยู่ แต่ตัวเลขการเผายังไม่ได้ลดลง ซึ่งมองว่าต้องเชื่อมความร่วมมือไปยังภาคเอกชนด้วย

“ไทยเรามีงบฯดับไฟราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินค่อนข้างเยอะเพื่อไล่ดับไฟ และตราบใดที่เรายังเข้าไม่ถึงคนจุด เราจะต้องไล่ดับและใช้งบฯเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ไฟไหม้อยู่อีกราว 6 แสนไร่ และคาดว่าในปี’68 จะมีการเผามากขึ้น เพราะปีนี้เป็นปีที่เราจะเผชิญปัญหา ‘ลานีญา’ และเป็นข่าวที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะชาวบ้านจะมีการเผาป่าเพิ่มมากขึ้น โดยคิดว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว เพราะคิดว่าเร่งเผาก่อน และพอฝนมาไฟจะดับเอง เขาไม่ผิด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบตามมา”

ADVERTISMENT

ป่าสงวนฯยังน่าห่วง ไฟยังเพิ่มขึ้น 3%

“นายเจน” ได้ขยายความถึง “การเผาป่า” ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ 2 กรม ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  และกรมป่าไม้ ซึ่งเจาะลึกลงไป ดังนี้

1.ป่าอนุรักษ์ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ 2.ป่าสงวนฯ ภายใต้กรมป่าไม้ และหากดูข้อมูลพบว่าในปี 2562 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ไฟไหม้ใหญ่ที่สุด และตัวเลขในปี 2564 การไหม้ประมาณ 90% จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และประมาณ 65% จะอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมีการแต่งตั้งและปรับเปลี่ยน “อธิบดี” เข้ามาดูแล “กรมอุทยานฯ” พบว่า ภาพรวมของไฟป่าทยอยลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจาก 2-3 ปัจจัย แต่หลัก ๆ เกิดจาก “ภาคประชาสังคม-ประชาชน” ตระหนักถึงผลกระทบจากไฟป่าสู่ปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่

จึงเกิดเป็นคำถามนำไปสู่แรงกดดัน จนเป็นที่มาของการยื่น “ยุทธศาสตร์ภาคเหนือ” แก้วิกฤตหมอกควันและไฟป่า รวมถึงผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด เสนอแก่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้น โดยอธิบดีมีการกำหนดเป้าหมายลดไฟป่าลง ตัวเลขในปี 2566-2567 ตั้งเป้าลดลง 50% จาก 12 ล้านไร่ เหลือเพียง 6 ล้านไร่ และในปี 2568 ตั้งเป้าลดลงอีก 25% คาดว่าจะเหลือเพียง 4 ล้านไร่ แม้จะลดลงแต่ยังเป็นโจทย์ที่ยังต้องต่อสู้ต่อไป

ป่าที่น่ากังวลที่สุด คือ ป่าสวงนฯ เนื่องจากขาดเจ้าภาพเข้ามาดูแลชัดเจน ประกอบกับพื้นที่ป่าสงวนฯจะอยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีที่ทำกิน ทำให้กฎกติกาบังคับใช้มีความผ่อนปรน (Relax) มากกว่าป่าอนุรักษ์ ทำให้การเผาป่ายังคงมีต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีมุมมองและเป็นวิถีของชาวบ้านในการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ เพื่อหาผักหวานหรือเห็ดเผาะ จึงใช้ป่าแบบไม่ยั่งยืน โดยคาดว่าไฟป่าในปี 2568 ยังคงเพิ่มขึ้นอีก 3% จากปีก่อนไฟไหม้ป่ากว่า 6 ล้านไร่

“ตัวเลขไฟไหม้ป่าอนุรักษ์เริ่มลดลง เพราะมีแผนชัดเจนและมีอธิบดีคอยดูแล จะเห็นข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการสั่งปิด 2 ป่าในพื้นที่ เพราะมีไฟป่าเพิ่มขึ้น 30% แต่ป่าสงวนฯยังน่าห่วง เพราะไม่มีเจ้าภาพ และไม่มีอธิบดี ซึ่งสาเหตุการเผาป่าส่วนใหญ่ด้วยพื้นที่ติดชุมชน ชาวบ้านเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ เผารังผึ้ง หรือเผาเพื่อหาผักหวานและเห็ด โดยเป็นการเผาทั้งภูเขา เพื่อให้สัตว์วิ่งออกมาหรือบางครั้งเผาเพื่อลาสัตว์เพียงแค่ 1 ตัว และบางครั้งชาวบ้านมีความเชื่อว่าเผาทั้งป่าแล้วผักหวานหรือเห็ดจะขึ้น ซึ่งเป็นการใช้ป่าแบบไม่ยั่งยืน และทุกวันนี้ยังมีไฟลุกไหม้อยู่อีกกว่า 2-3 แสนไร่ ส่วนหนึ่งมาจากกติกาไม่เข้มงวด”

จับมือเผา ผ่านบัญชีรายชื่อ “ชายชุดดำ”

หากเจาะลึกเข้าไปดูว่า “ใครเป็นคนเผา” จากการสำรวจพื้นที่ “ป่าแม่ปิง” เป็นพื้นที่เกิดไฟป่าค่อนข้างเยอะ และเป็นสาเหตุสำคัญของฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือ สะท้อนจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวเนื่องกับปอดทั้งสิ้น ซึ่งในพื้นที่มีประชากรราว 2,000 คน โดยในระยะหลังชาวบ้านได้รับรู้ถึงภัยที่เกิดจากไฟป่า ทำให้ชาวบ้านเกิดความร่วมมือการหาต้นตอของไฟป่าหรือคนเผา โดยมีการช่วยสังเกตการณ์กลุ่มคนที่เมื่อเข้าป่า ไฟป่าจะเกิดขึ้น จนเป็นที่มาของรายชื่อบัญชี “ชายชุดดำ”

โดยรายชื่อ “ชายชุดดำ” ที่ชาวบ้านสรุปมาให้ พบว่าจะมีอยู่ 20 คน ซึ่งหน่วยงานได้ขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยดูรายชื่อที่มี 20 รายชื่อ วิธีการเข้าไปจะไม่ได้เป็นการใช้ความรุนแรง แต่จะเป็นการเคาะประตูเพื่อพูดคุย ทั้งนี้ ภายหลังจากพูดคุยใน 20 คน พบว่ามีจำนวน 10 คน ที่สามารถพูดคุยและปรับวิธีการเผาป่าได้ แต่อีก 10 คน จะเห็นว่า 8-10% เป็นกลุ่มคนของผู้มีอิทธิพล และเกี่ยวข้องกับการค้ายาหรือเป็นเอเย่นต์ค้ายา และเป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งบางส่วนมีความยากจน ไม่รู้กฎหมาย จนเกิดเป็นการลอบวางเพลิงและเพื่อล่าสัตว์ป่า ซึ่งสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเกิดปัญหาหมอกควันฝุ่นในภาคเหนือ

“จากบัญชีรายชื่อชุดดำ จะเห็นว่า 10 คนที่สามารถพูดคุยได้ เราได้เข้าไปช่วยชาวบ้านเหล่านี้ให้มีงานทำ โดยการจ้างให้เป็น ‘นักอนุรักษ์’ เพื่อดูแลผืนป่าไม่ให้เกิดไฟไหม้ และช่วยให้ขาวบ้านเหล่านี้มีเงินใช้ในการดำรงชีพ อย่างไรก็ดี ในส่วนของคนที่เหลือที่ไม่สามารถพูดคุยได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันกรมอุทยานฯได้ดำเนินการทางคดีแล้ว 150 คดี พบว่าส่วนใหญ่ศาลให้รอลงอาญาและปรับ จึงมองว่าการแก้ปัญหาอาจจะต้องมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือหมอเข้าไปดูแลด้วย รวมถึงอยากต่อยอดในเรื่องของบัญชีรายชื่อ ‘ชายชุดดำ’ หากสามารถทำได้และกระจายในหลายพื้นที่จะช่วยได้มาก”

Data หัวใจสำคัญ กดดัน “จำเลย” ปรากฏตัว

สำหรับภาพรวมการเผาไร่ 3 แบบ จะเห็นว่า การเผาไร่อ้อย จาก 9 ล้านไร่ เหลือ 1.5 ล้านไร่ มองว่า ประเทศไทยไม่ควรปลูกอ้อย เนื่องจากต้นทุนการปลูกสูงกว่าต่างประเทศค่อนข้างมาก เช่น ไทยต้นทุนสูงกว่าบราซิล เพราะต่างประเทศปลูกแบบแปลงขนาดใหญ่ (Mega) และเมื่อเก็บเกี่ยวสามารถใช้รถขนาดใหญ่เก็บได้ เมื่อเทียบกับไทยที่ปลูกแปลงเล็ก ทำให้การใช้รถตัดอ้อยคันที่ใหญ่ไม่ได้ไม่คุ้ม และไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะรอบการปลูกใช้เพียง 3 เดือนเท่านั้น จึงเป็นที่มาว่าไทยไม่ควรปลูกอ้อยนานแล้ว แต่ไทยไม่สามารถเลิกปลูกได้ เพราะการปลูกอ้อยมีเรื่องของนายทุนและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขณะที่การเผา “ข้าว” ยังมีการเผาอยู่ 6 ล้านไร่ ซึ่งมีความคิดของการทำข้อมูลรายบัญชี รายแปลง เพื่อดูว่าแปลงที่เกิดการเผาเป็นแปลงไหน พื้นที่ไหน และใครรับผิดชอบ จะได้มีข้อมูลที่แม่นยำและชัดเจน ซึ่งปัจจุบันข้าวยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน เพราะกรมการข้าวยังนิ่ง แต่ข้อมูลรายแปลงจะอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมที่ดิน เป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ดี อาจจะต้องรอดูกฎหมาย “อากาศสะอาด” ที่น่าจะได้เห็นในไตรมาสที่ 3/2568 โดยจะมีกองทุนดูแลคนที่เป็นผู้ดูแลป่า และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมคนที่เผาป่า และในอนาคตอาจจะแยกสินค้าที่แปะฉลากผลิตภัณฑ์แยกระหว่าง “เผา” และ “ไม่เผา”

ส่วนการเผา “ไร่ข้าวโพด” แม้จะไม่เยอะมาก แต่ต้องพัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียม เพราะไร่ข้าวโพดแปลงเล็ก และการเผาเกิดจากปัจจัยข้ามแดน เพราะประเทศ สปป.ลาว เป็นประเทศที่เผาไร่ข้าวโพดเยอะที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขงทะลุประเทศเมียนมาแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยไม่เบาที่ต้องติดตาม

“แม้ว่าปัจจุบันเรามีการพัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียมแล้ว แต่ต้องเพิ่มรีโมตไซซิ่งเพิ่มเติม เพื่อให้เราสามารถตรวจจับการเผาไหม้ และมีดัชนีชี้วัดเพื่อให้สามารถตรวจได้ว่าแปลงไหนเป็นของใคร อยู่ที่ไหน เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมของการเผา เรายังขาด ‘จำเลย’ หากข้อมูลเราดีและแม่นยำ ‘จำเลย’ จะปรากฏตัว ซึ่งจะช่วยให้การเผาลดลงได้ ดังนั้น เรื่องของ ‘Data Driven’ เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องทำก่อน นอกจากนี้ กรุงเทพฯจะต้องเริ่มตระหนักถึง PM 0.1 เล็กกว่า PM 2.5 ซึ่งต้นตอมาจากการเผาเชื้อเพลิง และโรงงานภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นต้นตอของโรคมะเร็ง ซึ่งจะเป็นปัญหาหนักในกรุงเทพฯต่อไป”