18 ปี แอคคอมกรุ๊ป สร้างโค้ชนำองค์กรสู่ความยั่งยืน

ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ
ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ

การโค้ชไม่เพียงช่วยให้ผู้อื่นนำศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวออกมาใช้อย่างเต็มที่ หากยังทำให้ผู้โค้ชเพิ่มศักยภาพของตนเองไปพร้อม ๆ กัน เพราะการโค้ชเป็นวิธีการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นการช่วยลดช่องว่างของการสื่อสารระหว่างวัย เพื่อเน้นสร้างการเติบโตทางความคิด

จากการสำรวจของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ พบว่าอาชีพโค้ชในเอเชียปี 2565 เติบโตสูงถึง 86% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งที่เป็นช่วงโควิด-19 ระบาด สำหรับตะวันออกกลางและแอฟริกา อาชีพโค้ชเติบโต 74% และในยุโรปตะวันออกเติบโต 59%

นอกจากนั้น ปี 2565 ยังเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่สหพันธ์โค้ชนานาชาติมีสมาชิกโค้ชเพิ่มมากกว่า 100,000 คนครั้งแรก โดยมีมากถึง 109,200 คนทั่วโลก นับเป็นการเติบโต 54% จากปี 2562 และการสำรวจยังชี้ให้เห็นว่ารายได้โดยประมาณต่อปีของโค้ชสูงขึ้น 60% เมื่อเทียบกับปี 2562 จึงเป็นที่น่าสนใจว่าตัวเลขนี้กำลังบอกว่า “โค้ช” กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น

ด้วยความสำคัญของการโค้ช “แอคคอมกรุ๊ป” (ACCOMM Group) ในฐานะองค์กรดำเนินงานด้านการโค้ช และการเป็นพี่เลี้ยงในประเทศไทย จึงจัดงานฉลองครบรอบการดำเนินงาน 18 ปี พร้อมจับมือกับบริษัท NEWS® Navigation มอบรางวัล “NEWS Compass® Global Award Thailand 2024” เชิดชูองค์กรที่นำการโค้ช และการเป็นพี่เลี้ยงไปใช้อย่างมีประสิทธิผล

“ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอคคอมกรุ๊ป กล่าวว่า องค์กรที่ได้รางวัล Distinguished Achievement in Coaching and Mentoring โดดเด่นในการนำการโค้ชและพี่เลี้ยงไปใช้อย่างมีประสิทธิผล ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ADVERTISMENT

ขณะที่รางวัล Excellence in Coaching and Mentoring ดีเด่นด้านการโค้ชและพี่เลี้ยง ได้แก่ บริษัท เอบี ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

“ทักษะการโค้ชเป็นทักษะที่ลึกซึ้ง สามารถนำไปช่วยผู้อื่นในองค์กรได้ และใช้กับตัวผู้โค้ชเองก็ได้ โดยเฉพาะช่วยปรับวิธีคิดของตัวเอง เช่น เมื่อเราต้องรับมือกับสถานการณ์ที่จัดการยาก เรามีทางเลือกอะไรบ้าง หรือถ้ามีคนอื่นมาโค้ชก็จะได้มุมมองที่เราไม่เคยคิดมาก่อน นอกจากนั้น เรามีการติดตามสำรวจคนที่เรียนทักษะการโค้ชกับแอคคอมกรุ๊ป พบว่า 50% นำไปใช้กับคนในครอบครัวของตนเองด้วย นอกเหนือจากการนำไปใช้ในที่ทำงาน”

ADVERTISMENT

สำหรับเทรนด์การโค้ชในประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น หรือเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคนเข้าใจเพียงว่านำโค้ชมาใช้กับผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนเริ่มเข้าใจว่าใคร ๆ ก็ใช้การโค้ชได้ และองค์กรเริ่มสร้างวัฒนธรรมการโค้ชและการเป็นพี่เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งมีคุณลักษณะโดดเด่นกว่าองค์กรใด ๆ ในการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโค้ช หรือการมีพี่เลี้ยงได้ ทั้งยังมีการส่งเสริมให้นำโค้ชมาใช้ในการทำงาน และในชีวิตส่วนตัวอีกด้วย

“นอกจากนั้น คนไทยมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการโค้ชมากขึ้น และการพัฒนาผู้นำให้มีทักษะการโค้ชที่ถูกต้องใกล้เคียงโค้ชมืออาชีพ โดยมีการเติบโตมากขึ้นเท่าตัว แต่ละปีองค์กรจำนวนมากเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมาเรียนรู้ทักษะการโค้ช และสอบการรับรองมาตรฐานโค้ชมืออาชีพจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติอีกด้วย”

นอกจากนั้น “ดร.อัจฉรา” ยังกล่าวถึงคุณสมบัติเด่นของคนที่มีทักษะการโค้ชดังนี้

หนึ่ง มีมาตรฐานด้านจริยธรรม (Demonstrating Ethical Standard) โดยมีจริยธรรม ไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานและจริยธรรมของโค้ช

สอง มีความอยากรู้ (Embracing Curiosity Mindset) มีความอยากรู้อยากเห็น เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ การเป็นโค้ชที่ดีจะไม่รีบตัดสินคน แต่สนใจที่จะเรียนรู้สไตล์ ค่านิยม และวัฒนธรรมของผู้ได้รับการโค้ช ทั้งยังเป็นคู่คิดในการเรียนรู้ (Building Learning Partnership) สร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในเป้าหมาย และการพัฒนา รวมถึงวางแผนร่วมกันเพื่อจัดสรรให้การพัฒนาเป็นไปอย่างราบรื่น และเข้าใจความคาดหวังของกันและกัน ถ้าเป็นผู้นำในองค์กรจะวางตัวเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีในการเรียนรู้ให้ลูกน้อง

สาม ปลูกฝังความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และความปลอดภัย (Cultivating Trust & Safety) องค์กรประกอบด้วยบุคคลที่มีความหลากหลาย เช่น มีวัยที่ต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน บางทีหัวหน้ากับลูกน้องพูดคุยกันจากประสบการณ์คนละแบบ ยกตัวอย่างคนละเรื่อง การใช้ภาษาโค้ชจะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยอย่างยอดเยี่ยม การเป็นโค้ชต้องศึกษาสไตล์คนที่เราจะโค้ชก่อน ไม่ตีตราว่าเขาเป็นคนประเภทไหน จากกลุ่มวัยใด

สี่ มีสติ (Maintaining Presence) มีสติบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เนื่องจากหัวหน้ามักจะอารมณ์เสีย เวลาลูกน้องทำไม่ได้อย่างที่บอก แต่ผู้นำที่ดีต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการอารมณ์ตัวเองได้

ห้า การฟังแบบใส่ใจ (Listening Actively) การฟังโค้ชมีเทคนิคหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือฟังแบบทำให้คนที่พูดอยู่ได้ยินเสียงตัวเองด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนมาบ่นว่าการทำงานของแผนกนี้แย่เสมอ โค้ชที่ดีจะสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินก่อน แล้วอาจถามกลับไปว่าแผนกนี้หมายถึงใครบ้าง หรือคำว่าแย่ ในความคิดของเขาเป็นอย่างไร เป็นต้น

หก การสร้างความตระหนักรู้ (Creating Awareness) คนที่เป็นโค้ชมักตั้งคำถามที่ทำให้คู่สนทนารู้จักตนเอง และสถานการณ์ของตนเองมากขึ้น มีวิธีการสนทนาเพื่อขยับกรอบวิธีคิด ถ้าจะแลกเปลี่ยนความเห็นก็จะทำในรูปแบบที่สร้างสรรค์ มากกว่าการสั่งให้ทำ

เจ็ด กระตุ้นการเติบโต (Facilitating Growth) ใส่ใจ และติดตามการเรียนรู้ของบุคคล กระตุ้นให้คนได้เรียนรู้ตลอดเวลา และส่งเสริมให้เขาได้รับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง

“ดร.อัจฉรา” กล่าวด้วยว่า องค์กรส่วนใหญ่มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นเมกะเทรนด์ระดับโลก อาทิ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่างพลิกผัน การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ผลกระทบของสงครามต่อห่วงโซ่การผลิต การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการบริหารจัดการกับความหลากหลายทั้งของบุคลากรภายในองค์กร และความคาดหวังของสังคม

ผลตรงนี้จึงส่งผลให้ยุทธศาสตร์ขององค์กรจำเป็นต้องปรับบ่อยขึ้น และมีผลต่อปริมาณการสื่อสาร ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวัน เร่งความเหน็ดเหนื่อยให้กับบุคคลในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะการบริหารงาน บริหารตนเอง และความก้าวหน้าทางอาชีพบนสิ่งแวดล้อมที่แปรปรวน (Career Turbulence) ซึ่งหนึ่งในหนทางที่จัดการกับความเครียดของตนเองคือ พยายามหนีจากสภาพแวดล้อมเดิม เช่น ในปี 2565 เกิดปรากฏการณ์การลาออกหรือเปลี่ยนงานสูงมากเกิดขึ้น (Great Resignation) ในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก

“ถึงแม้ปัจจุบันปัญหานี้จะลดน้อยลงแล้ว แต่องค์กรยังมีความหนักใจกับคนที่ไม่ลาออก แต่อยู่แบบถอดใจ (Quiet Quitting) อีกประเด็นคือ เรามักมองว่าเฉพาะบุคลากรอายุน้อย ๆ ต้องการทำงานจากที่บ้าน แต่เท่าที่อ่านแบบสำรวจจากหลายแหล่ง ระบุคล้ายกันว่าความต้องการนี้มาจากทุกเจเนอเรชั่น สำหรับในประเทศไทย เท่าที่คุยกับลูกค้าของแอคคอมกรุ๊ป พอประมาณได้ว่าปัจจุบันพนักงานประมาณ 25-30% ต้องการทำงานจากที่บ้าน และมากกว่า 50% ที่ต้องการทำงานแบบไฮบริด”

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “แอคคอมกรุ๊ป” ยังคงเดินหน้าเป็นองค์กรที่มอบทักษะการโค้ช และให้บริการคำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ อย่างแข็งแกร่งต่อไป