กระทรวงแรงงาน สั่งติดตามค่าจ้างค้างจ่าย 134 ล้านบาท บริษัทผู้รับเหมางานของโรงกลั่นน้ำมัน จ.ชลบุรี โดยผู้รับเหมาจะจ่ายให้คนงานวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เป็นเงินจำนวน 40 ล้านบาทก่อน
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี กลุ่มลูกจ้างของบริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (SINOPEC) ชุมนุมเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อวานนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ระบุว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่ง SINOPEC เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture of Petrofac, Saipem, Samsung (UN) ที่เป็นผู้รับเหมาหลัก และเป็นผู้ว่าจ้าง SINOPEC ในการก่อสร้างโครงการพลังงาน ปรากฏว่าลูกจ้างทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง จึงได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องค่าแรง
โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่า บจก. ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ได้รับเหมางานจาก บมจ.ไทยออยล์ มีลูกจ้างทำงานประมาณ 1,000 คน ได้ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. รวมเป็นเงินประมาณ 134 ล้านบาท และปัจจุบันประสบปัญหาไม่สามารถกำหนดวันจ่ายค่าจ้างได้
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี และหัวหน้าสำนักงานประกันสังคมสาขาศรีราชา ได้ประชุมร่วมกับผู้แทน บมจ.ไทยออยล์, บจก. ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์), ผู้บริหารกิจการร่วมค้า UJV, และฝ่ายปกครองของ อ.ศรีราชา ทราบว่าสาเหตุการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าว เกิดจาก บจก. ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) ไม่ได้รับเงินค่างวดงานตามสัญญาจ้างงานจากกิจการร่วมค้า UJV
โดยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี ได้แจ้งให้ บจก. ซิโนแพค เอนจิเนียริ่งกรุ๊ป (ไทยแลนด์) เร่งรัดนำเงินค่าจ้างมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยเร็ว ซึ่งทางบริษัทซิโนแพคฯยืนยันว่าจะสามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่กลุ่มลูกจ้างได้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เป็นเงินจำนวน 40 ล้านบาทก่อน
นอกจากนี้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี ยังได้รับคำร้องจากกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวน 80 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,881,606.26 บาท และจะได้ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินตามคำร้องโดยเร็วต่อไป
“มีข้อมูลว่ากิจการร่วมค้า UJV ยังได้ค้างจ่ายเงินแก่บริษัทผู้รับเหมาต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก และมีลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบประมาณ 8,000 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรวบรวมข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน รวมทั้งขอให้ผู้ชุมนุมเจรจาพูดคุยกับนายจ้างด้วยสันติวิธี โดยกระทรวงแรงงานพร้อมเป็นคนกลางเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหานี้” นายภูมิพัฒน์ กล่าว