Thailand HR TECH Conference & Exposition 2024 โดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ร่วมกับพันธมิตรกว่า 120 ราย จัดมหกรรมเทคโนโลยีด้านเอชอาร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ครั้งที่ 5 เพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร คนในแวดวงเอชอาร์ ผ่าน 80 หัวข้อที่น่าสนใจ
เช่น Meet Microsoft Copilot : A Road Ahead in the Era of Human-AI Collaboration & Cocreation โดย “โอม ศิวะดิตถ์” National Technology Officer บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด,
People, Strategy and Organizational Culture : Transforming into an AI-First Organization-The “True” Way โดย “ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ The Future of Success : How Employee Development and AI Drive Company Growth โดย “โอชวิน จิรโสตติกุล” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FutureSkill
AI ทำให้งานเบาลง
“โอม ศิวะดิตถ์” กล่าวว่า Generative AI ที่เป็นที่รู้จักปีกว่า ๆ ตอนนี้พัฒนาการไปไกลมาก ซึ่งไมโครซอฟท์ไปลงทุนในบริษัท Open AI สนับสนุนกำลังการคำนวณศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ มีชิปการประมวลผลสำหรับ AI โดยเฉพาะ จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี ChatGPT มีโมเดลเรียกว่า Whisper เป็นสิ่งที่ AI มาช่วยถอดเสียงพูดได้เกือบทุกภาษา แล้วแปลงออกมาเป็นข้อความ
“สิ่งที่น่าจับตามองต่อไป คือ Multimodal AI ย้อนไปตอนที่คนรู้จักกับ Copilot หรือ AI ในช่วงแรก ๆ วิธีสื่อสารคือใช้ตัวหนังสือ แล้ว AI ตอบกลับมาเป็นตัวหนังสือ หลังจากนั้นไม่นาน พอส่งตัวหนังสือไป AI ก็สร้างออกมาเป็นภาพ
แต่ Multimodal คือการที่ AI สามารถรับ Input ได้ทั้งตัวหนังสือ เสียง ภาพ และวิดีโอ แล้วออกมาเป็น Output ทุกรูปแบบ ดังนั้น กำแพงทางภาษากำลังจะหายไป AI ซึ่งไมโครซอฟท์มองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงแพลตฟอร์มครั้งใหญ่”
การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบกับทักษะของคน AI จะมาเปลี่ยนวิธีทำงาน มารับช่วงงานที่น่าเบื่อ งานค้นหา งานซ้ำ ๆ อะไรไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากให้ AI จัดการ เพื่อให้คนเหลือเวลามาทำงานที่ซับซ้อนมากกว่า
จากงานวิจัยของไมโครซอฟท์ สำรวจ 31,000 คน ใน 31 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย โดยสัมภาษณ์พนักงานที่นั่งทำงานที่โต๊ะมีคอมพิวเตอร์ และผู้บริหาร ระบุชัดว่า 92% ใช้ AI ในการทำงานแล้ว ทั้งนี้ ในคนจำนวนนั้น มี 81% ที่เอา AI ของตัวเอง ไปใช้ในงานออฟฟิศ
เพราะบริษัทไม่ได้จัดหาไว้ให้ จึงน่ากังวลว่า AI ที่เอามาใช้เอง ปลอดภัยหรือไม่ ข้อมูลความลับบริษัทจะรั่วไหลออกไปหรือเปล่า คนที่เอา AI มาใช้เองมีความระมัดระวัง มีความตื่นรู้เรียบร้อยดีไหม กับการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม
คนที่ใช้ AI ในองค์กรอย่างหนักหน่วง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับแรงบันดาลใจ และเห็นประโยชน์ของ AI ผลตอบรับของคนกลุ่มนี้แฮปปี้มาก ๆ กับ AI โดยตัวเลขสูงถึง 90% บอกว่า ทำให้งานเบาลง ทำให้มีเวลาไปโฟกัสกับงานสำคัญ ทำให้การทำงานน่าตื่นเต้น สนุกมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้นำ 90% ของไทยบอกว่า ถ้าจะจ้างงาน 1 คน ขอคนที่มีประสบการณ์น้อย แต่มีทักษะ AI มากกว่าเลือกคนที่มีประสบการณ์มาก แต่ใช้ AI ไม่เป็น
หา Digital Citizen
“ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์” กล่าวว่า ทรูใช้ AI คัดเลือกคนเข้าทำงาน โดยตั้งเป้าว่า ปี 2567 ต้องมีพนักงานที่เป็น Digital Citizen 2,400 คน และ ปี 2568 มี 5,000 คน AI ช่วยบริษัทคัดกรองคนได้ระดับหนึ่ง ไม่เสียเวลามากเหมือนแต่ก่อน เวลาคัดคน ทรูยึด 2 แกน คือ Business Talent กับ Tech Talent ซึ่งไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดได้ หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ แต่ต้องมี Tech Savvy ในหัว แล้วที่เหลือทรูจะมาสอน
“เวลาเปิดรับสมัครคนทำงาน 2,000 คน จะได้คนเก่งจริง ๆ 1% หรือประมาณ 18-20 คน เราคัดหนักมากสำหรับ Management Trainee เราสอนทุกคน ทุกคนต้องไปเรียน Digital Academy เรียนเรื่องข้อมูล เพราะรากฐาน AI มาจากข้อมูล ต้องแปล Data Insight เป็น ตอนนี้ก็ผ่านไปครึ่งปี 2567 เราพยายามให้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ AI และพยายามฝึกอบรมพนักงานทุกระดับให้ตื่นรู้กับเรื่องนี้ และตั้งเป้าปี 2570 เป็นองค์กรที่ Automate ทั้งองค์กร 100%
เราสรรหา Digital Citizen ก็จริง แต่ส่วนหนึ่งเราต้อง Upskill และ Reskill พวกเขาด้วย โดยเรามีหลักสูตร Digital Foundation ที่ซื้อมาจากอเมริกา พนักงานต้องผ่านการทดสอบ 70% ถึงจะเรียกว่าเป็น Digital Talent แต่ถ้าผ่าน 60% เรียกว่า Digital Competency ตอนนี้คนของทรูเรียนไปแล้ว 70% สิ้นปี 2567 ต้องเรียนให้ครบ 100%”
นอกจากเรื่อง AI องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรก่อน ต้องเข้าใจเรื่องของ AI เรื่องของ Data Driven วัฒนธรรมองค์กรที่มีส่วนผสม AI ต้องเกิดจากผู้บริหารระดับบน ต้องมีวิสัยทัศน์ บริษัทจะใช้ AI อย่างไร ใช้ที่ไหน ทำแบบไหน กลยุทธ์คืออะไร โรดแมปเป็นยังไง ใช้เวลากี่ปี ทุกแผนกใช้ AI ตรงไหน เป็นสิ่งสำคัญมาก ทรูเริ่มจาก Start from the Top หลังจากนั้นจะเจอกับ Action Igniter คือคนที่จุดประกายให้เกิดขึ้นจริง จากระดับบนก็กระจายตัวลงมือทำจริงในระดับกลางและปฏิบัติการ เกิดเป็น Talent Magnet
สร้างคนใน-หาคนนอก
“โอชวิน จิรโสตติกุล” กล่าวว่า ปัจจุบันพนักงานส่วนใหญ่ไม่ผูกพันกับองค์กร และไม่มีความสุข สาเหตุอันดับ 1 ไม่ใช่เรื่องเงินเดือน แต่เพราะขาดโอกาสเติบโตทางด้านอาชีพ เมื่อคนในองค์กรไม่เติบโต HR ก็ไปหาคนข้างนอกมาเติม เกิดคอนเซ็ปต์ Hunting VS. Building สร้างคนในหรือหาคนนอกมาเสียบดี ซึ่งไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง ขึ้นอยู่กับสถานะขององค์กร แต่สุดท้ายต่อให้เอาคนนอกเข้ามา ก็ต้องสร้างคนอยู่ดี สอนงานคนใหม่ เพื่อให้เขาทำงานอย่างที่อยากได้
งานวิจัยจาก Deloitte ระบุว่า องค์กรที่ยืนอยู่บนทักษะจะสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่าองค์กรที่ไม่ใช่ 63%, รักษาพนักงานไว้ได้มากกว่า 98% และสร้างนวัตกรรมได้ดีกว่า 52% ทั้งนี้ 66% ของพนักงานบอกว่า อยากอยู่กับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับทักษะและศักยภาพมากกว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับใบปริญญา ดังนั้น การสร้างให้องค์กรเป็น Skill-based Organization เป็นสิ่งที่ควรโฟกัสต่อจากนี้ไป
การสร้างคนมีเรื่องที่ต้องสนใจ คือ 1.ต้องตั้งเป้าหมายว่าเรียนรู้ไปเพื่ออะไร 2.Segmented Path แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งไม่เหมือนกัน จะให้มาเรียนรู้เหมือนกันหมดไม่ได้ 3.การฝึกอบรม 4.ระหว่างเรียนรู้ ทำอย่างไรให้สนุก และกลับมาเรียนรู้อีก 5.เรียนแล้ว ลงมือทำ ส่งโปรเจ็กต์ 6.มีพี่เลี้ยงสอนงาน 7.ประเมิน เรียนแล้วเก่งขึ้นไหม
“ทักษะที่จำเป็นในยุคนี้ คือ หนึ่ง ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว 2.AI, Big Data, Analytical Thinking, Creative Leadership เป็นทักษะกลุ่มการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาที่ดี ความคิดสร้างสรรค์ที่ดี ปรับตัวได้ดี มีความสามารถในการร่วมไม้ร่วมมือกัน 3.ทักษะทางด้านเทคโนโลยี เช่น มีความสามารถทำแอปง่าย ๆ ซึ่ง 1 ใน 3 ของเวลาที่ใช้ทำงานในปี 2573 จะถูก Automate หมดเลย แปลว่าถ้าเรามีทักษะในการใช้ Automation ที่ดี เราจะสามารถทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่มีทักษะมาก”