งานวิจัยพบ ผู้หญิงวัย 20-39 ปี รู้สึกถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานมากที่สุด

ภาพโดย Kamran Aydinov on Freepik
ภาพโดย Kamran Aydinov on Freepik

การเหยียดและการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ มีรูปแบบการเหยียดและการเลือกปฏิบัติมากมาย ด้วยหลายเหตุปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการเหยียดเรื่องอายุ ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าคนที่อายุมากจะโดนเหยียดมากกว่า แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเผยผลการวิจัยใหม่ที่น่าสนใจว่า ผู้หญิงอายุน้อยคือกลุ่มที่รู้สึกว่าโดนเหยียดและโดนเลือกปฏิบัติในที่ทำงานมากที่สุด

รายงานผลการศึกษาวิจัยซึ่งจัดทำโดยลีนอิน (LeanIn) องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ร่วมกับแม็กคินซีย์ (McKinsey & Co.) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากสหรัฐ ที่ซีเอ็นบีซี (CNBC) นำมารายงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2024 ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า ถ้าแยกคนในที่ทำงานออกเป็น 4 กลุ่มหยาบ ๆ คือผู้ชายอายุน้อย ผู้ชายอายุมาก ผู้หญิงอายุน้อย และผู้หญิงอายุมาก กลุ่มคนที่มีแนวโน้มถูก “เหยียดอายุ” (Ageism) มากที่สุดในที่ทำงานคือ “ผู้หญิงที่อายุน้อย” 

ผู้หญิงในช่วงวัย 20-39 ปี ต้องเผชิญกับการเหยียดอายุและการเลือกปฏิบัติมากกว่าผู้หญิงที่อายุมากกว่า และเมื่อเทียบกับผู้ชายในช่วงวัยเดียวกัน ผู้หญิงวัย 20-39 ปี ต้องเผชิญกับการเหยียดอายุและการเลือกปฏิบัติมากกว่าเพื่อนร่วมงานชายวัยเดียวกันมาก 

แต่ในคนทำงานที่อายุมากกว่า (40 ปีขึ้นไป) ผลสำรวจพบว่าเผชิญการเหยียดอายุในระดับใกล้เคียงกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง 

ผลวิจัยนี้ต่างจากความเชื่อเดิมที่มองว่า “ผู้หญิงที่อายุมาก” จะเผชิญกับการเหยียดอายุมาก หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมากที่สุด 

ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้หญิงช่วงวัยดังกล่าวจำนวนมาก โดยเกือบครึ่ง (49%) ของผู้หญิงอายุช่วง 20-29 ปี และ 37% ของผู้หญิงอายุ 30-39 ปี ที่ตอบแบบสำรวจในการวิจัยนี้บอกว่า อายุส่งผลกระทบเชิงลบต่ออาชีพการงานของตน ขณะที่มีเพียง 24% ของผู้หญิงช่วงอายุ 40-49 ปี และ 29% ของผู้หญิงช่วงอายุ 50-59 ปี ที่ตอบว่าอายุส่งผลกระทบเชิงลบต่ออาชีพการงาน

ADVERTISMENT

การเลือกปฏิบัติหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงอายุน้อยอาจมาในรูปแบบของการกีดกันไม่ให้โอกาสในการก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้นำ เพราะผู้นำเชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาของพวกเธอ เธอยังไม่พร้อม หรือการเล่นตลกเกี่ยวกับรูปลักษณ์และประสบการณ์ที่ไม่มากพอของพวกเธอ

ผู้หญิงวัย 37 ปีคนหนึ่งเล่าว่า ในช่วงที่เธออายุ 20-29 ปี ขณะที่เธอทำงานเป็นผู้สรรหาพนักงาน (Recruiter) เธอโดนบอกว่าเธอมีความ “ทะเยอทะยานมากเกินไป” แล้วเมื่อเธอขอโอกาสพัฒนาตนเองในสายงาน หรือขอเปลี่ยนตำแหน่ง เธอกลับถูกปฏิเสธจากเจ้านาย ซึ่งบอกว่าเธอต้อง “พิสูจน์ความสามารถ” ของตัวเอง แต่ในทางกลับกัน เพื่อนร่วมงานชายของเธอที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกลับได้รับรางวัลตอบแทนจากพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ 

ADVERTISMENT

ผลการวิจัยในภาพรวม พบว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะได้รับการจ้างงานในตำแหน่งระดับเริ่มต้น หรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งมักเกิดจากการขาดผู้สนับสนุนให้ผู้หญิงอายุน้อยได้ตำแหน่งงานที่สำคัญเหล่านั้น

ราเชล โทมัส (Rachel Thomas) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ลีนอิน อธิบายว่า องค์กรมักจะส่งเสริมผู้ชายตาม “ศักยภาพ” ของพวกเขา และส่งเสริมผู้หญิงตามผลงานที่ได้ประสบความสำเร็จแล้ว หรือกล่าวคือผู้ชายมักจะได้โอกาสมากกว่า ถ้าถูกมองเห็นว่ามีศักยภาพในระดับหนึ่ง ในขณะที่ผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จแล้วจึงจะได้รับโอกาส 

“บ่อยครั้งที่ผู้หญิงอายุน้อยต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ใหญ่กว่าในการที่จะก้าวหน้า” โทมัสกล่าว 

เอมิลี เลอวีน (Emily Levine) รองประธานบริหารของ แคเรียร์ กรุ๊ป (Career Group Companies) บริษัทจัดหางานและที่ปรึกษาด้านบุคลากรเสนอความคิดเห็นในมุมมองที่ต่างออกไปว่า การที่ผู้หญิงอายุน้อยรู้สึกว่าตัวเองถูกเลือกปฏิบัติอาจเป็นผลมาจากความแตกต่างของคนแต่ละรุ่นที่มีความคาดหวังไม่เท่ากัน จึงประเมินสิ่งที่ได้รับต่างกันออกไป

เธอเห็นว่าคนทำงานที่เพิ่งเริ่มต้นอาชีพ โดยเฉพาะคนรุ่น Gen Z มีความทะเยอทะยานสูง และต้องการเติบโตในอาชีพการงานเร็วกว่าคนรุ่นก่อน ๆ มาก และนั่นอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ความรู้สึกว่า “โดนเลือกปฏิบัติ” มีมากในคนกลุ่มนี้ เพราะเมื่อพวกเธอถูกปฏิเสธโอกาสต่าง ๆ พวกเธออาจคิดว่าเป็นเพราะเหตุผลเรื่องอายุ แทนที่จะคิดว่าเป็นเพราะความสามารถของตัวเองยังไม่ถึงจริง ๆ  

ไม่ว่าเหตุปัจจัยที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร ราเชล โทมัส จากลีนอินแนะว่า การหาพี่เลี้ยงให้กับพนักงานหญิงอายุน้อย และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างคนต่างวัย อาจช่วยลดการเลือกปฏิบัติทางอายุในที่ทำงานได้