ผู้ประกันตน รักษามะเร็งได้ทุกโรงพยาบาลประกันสังคม เริ่ม 1 ม.ค. 68

ประกันสังคม รักษาโรค โรงพยาบาล สำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตน

บอร์ดประกันสังคม เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน รักษาโรคมะเร็งได้ทุกโรงพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส. ไม่จำกัดแค่โรงพยาบาลตามสิทธิ เริ่ม 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

หลังจากคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม ได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนรักษาโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับบริการยังสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้ทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคมนั้น

ล่าสุด นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เปิดเผยความคืบหน้าว่า จากการประชุมบอร์ดฯ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติเห็นชอบการรักษาพยาบาล เรื่องรักษามะเร็งได้ทุกโรงพยาบาล โดยผู้ประกันตนสามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมแล้วประกันสังคมจะตามไปจ่าย ไม่ต้องรักษาเฉพาะแต่รพ.ประกันสังคมตามสิทธิเท่านั้น

“โดยเป็นไปในแนวทางที่ชื่อว่า ‘SSO cancer anywhere‘ สำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ. ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนที่ทำเงื่อนไขร่วมกับประกันสังคม ที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น รพ. จุฬาภรณ์ ซึ่งจะพยายามผลักดันให้มีการประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตน“ นายบุญสงค์ กล่าว

นายบุญสงค์ กล่าวว่า จากเดิมเป็นการเข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี ทำให้การเข้าถึงคุณภาพการรักษาของผู้ประกันตนทำได้ช้าและไม่สะดวก แต่ในอนาคตจะขยายสิทธิประโยชน์ให้มากขี้น ครอบคลุมสิ้นสุดการรักษา

นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า อยู่ระหว่างเตรียมระบบแอปพลิเคชันในการติดตามการรักษาและส่งต่อข้อมูล และรวบรวมรายชื่อรพ. รับรักษามะเร็งที่ร่วมทำข้อตงลงกับประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปดูรายชื่อสถานพยาบาลและมีช่องทางในการสื่อสาร ส่งต่อข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลตามสิทธิกับสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนประสงค์จะไปรักษา เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ร่วมกับการกำกับติดตาม ประเมินผลการเข้าถึงบริการ และรายงานผลต่อคณะกรรมการการแพทย์

ADVERTISMENT