18 กิจการยักษ์ใหญ่ไทย ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยองค์กร

18 สถานประกอบกิจการยักษ์ใหญ่ ร่วมลงนามแคมเปญ “Safety Culture Together” ตั้งเป้าลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานกรณีร้ายแรงให้เหลือไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน และกรณีเสียชีวิต ให้เหลือไม่เกิน 3 ต่อ 100,000 คน ในปี 2573

แคมเปญ Knowing Safety Culture Together เป็นการรณรงค์สร้างการรับรู้ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของคนทำงานให้เกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในทุกองค์กร และแคมเปญ Safety Culture Together in The Workplace เป็นการรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

นายพิพัฒน์เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดยในปี 2568 ได้ประกาศนโยบายสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงาน

โดยการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย มุ่งเน้นยกระดับความปลอดภัยสู่สากล เคร่งครัดบังคับใช้กฎหมาย มุ่งสู่เป้าหมายลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน การดำเนินการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อบรรลุเป้าหมายลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน กรณีร้ายแรง

จากปัจจุบัน 2.03 ต่อลูกจ้าง 1,000 คน ให้เหลือไม่เกิน 1 ต่อลูกจ้าง 1,000 คน และกรณีเสียชีวิตจากปัจจุบัน 4.66 ต่อลูกจ้าง 100,000 คน ให้เหลือไม่เกิน 3 ต่อลูกจ้าง 100,000 คน ในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในปี ค.ศ. 2030

ADVERTISMENT

ซึ่งการดำเนินการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนสูง และมีห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณสถานประกอบกิจการทั้ง 18 แห่ง ที่มาร่วมขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้ขยายผลออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รายชื่อ 18 กิจการ ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร

  1. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
  2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
  4. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  6. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
  7. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
  8. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
  9. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
  10. บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
  11. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  12. บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด
  13. บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน)
  14. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  15. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
  16. บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
  17. บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย)
  18. บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)

ภาครัฐ ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

เรือเอกสาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามปฏิญญาความปลอดภัยฯ ในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามนโยบายของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ADVERTISMENT

โดยมุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ขับเคลื่อนนโยบาย โดยมอบหมายหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินกิจกรรม Safety Campaign ประกอบด้วย แคมเปญ Safety Inspection Together เป็นการรณรงค์บูรณาการตรวจเข้มการบังคับใช้กฎหมายร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 เรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
เรือเอกสาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ดังนั้น ปฏิญญานี้ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์แสดงความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างจริงจัง ระหว่างกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน 18 หน่วยงาน ที่พร้อมสนับสนุนและร่วมดำเนินกิจกรรม “สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย” ไปด้วยกัน

โดยภาครัฐได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไกการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างการรับรู้ และพัฒนาเครือข่าย ในส่วนของสถานประกอบกิจการจะได้มีการขยายผลไปยังสาขาเครือข่ายธุรกิจตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน

โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเสี่ยงของลูกจ้างเป็นพฤติกรรมการทำงานปลอดภัย และหากดำเนินการต่อเนื่องจะกลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงานขององค์กร จะเป็นแนวทางป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงานที่ยั่งยืนในอนาคต และหลังจากนี้จะมีการประชุมหารือร่วมกันเป็นระยะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และแนวทางการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อเป็นแบบอย่างแก่หน่วยงานอื่นต่อไป