
Prachachat BITE SIZE Xtra โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
หลังจาก Prachachat BITE SIZE นำเสนอเรื่องของเด็กจบใหม่ กับตลาดแรงงาน ซึ่งมีงานวิจัยของ TDRI ที่สำรวจการหางานออนไลน์ พบว่า จากตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่เปิดรับสมัครออนไลน์กว่า 2 แสนตำแหน่ง ส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน ขั้นต่ำ 1-2 ปี
สิ่งที่น่าสนใจลึกลงไปกว่านั้น คือ ข้อมูลของเด็กจบใหม่ และความต้องการตลาดแรงงานในปัจจุบัน ว่าในแต่ละปี มีผู้จบการศึกษากี่คน และความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน อยู่ในภาคส่วนไหน และตำแหน่งว่างงานในปัจจุบัน มีเยอะแค่ไหน
Prachachat BITE SIZE Xtra เจาะประเด็นต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์เด็กจบใหม่ และความต้องการ จนถึงตำแหน่งงานว่าง ณ วันนี้
เด็กไทย เรียนจบกี่คน ?
ข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ระบุว่า ปี 2567 มีผู้จบการศึกษาตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตร จนถึงปริญญาเอก อยู่ที่ 319,496 คน (เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568) แบ่งเป็น
- ประกาศนียบัตร 162 คน
- ปวช. 1,592 คน
- ปวส. 2,627 คน
- อนุปริญญา 3,065 คน
- ปริญญาตรี 268,639 คน
- ป.บัณฑิต 5,845 คน
- ปริญญาโท 31,205 คน
- ป.บัณฑิตชั้นสูง 739 คน
- ปริญญาเอก 5,622 คน
และเมื่อย้อนข้อมูลกลับไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปี 2563 พบว่าส่วนใหญ่เรียนจบในระดับปริญญาตรีมากที่สุด เฉลี่ย 290,000 คนต่อปี
ขณะที่หากจำแนกเด็กจบใหม่ทุกระดับการศึกษา แยกตาม 10 กลุ่มสาขาวิชา (10 GROUP ISCED) พบว่า กลุ่มที่มีผู้สำเร็จการศึกษามากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจ การบริหาร และกฎหมาย (Business, administration and law) ซึ่งคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 102,427 คน ตามมาด้วยกลุ่มวิศวกรรม การผลิต และการก่อสร้าง (Engineering, manufacturing and construction) เฉลี่ยปีละ 45,945 คน และกลุ่มศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Arts and humanities) เฉลี่ยปีละ 39,641 คน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลระบุว่า ปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา เรียนจบตรงสายในสัดส่วน 76.93% และเรียนจบไม่ตรงสาย 23.07% (ผู้ตอบแบบสอบถามการมีงานทำ จำนวน 8,382 คน)
สำรวจความต้องการตลาดแรงงาน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนผู้ว่างงาน ในไตรมาส 4 พ.ศ. 2567 มีทั้งสิ้น 3.58 แสนคน ลดลง 0.56 แสนคน จากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ในจำนวนนี้ เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.78 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 1.80 แสนคน
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำ ในไตรมาสที่ 4/2567 อยู่ที่ 40.11 ล้านคน โดยเมื่อเปรียบเทียบการมีงานทำในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2567 กับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566) พบว่าการจ้างงานลดลง 0.14 ล้านคน (จาก 40.25 ล้านคน เป็น 40.11 ล้านคน) และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 พ.ศ. 2567) อัตราการมีงานทำคงที่คือร้อยละ 67.6
การจ้างงานโดยรวมลดลง 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566) (จากผู้มีงานทำ 40.25 ล้านคน เป็น 40.11 ล้านคน) เป็นการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น 1.1% (จาก 27.92 ล้านคน เป็น 28.22 ล้านคน) การจ้างงานภาคเกษตรกรรม ลดลง 3.6% (จาก 12.33 ล้านคน เป็น 11.89 ล้านคน)
จากรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานแรงงาน ระดับประเทศ ปี 2567 ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อสิงหาคม 2567 เก็บข้อมูลจากสถานประกอบการในระดับประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,760 แห่ง ใน 21 ประเภทอุตสาหกรรม ระบุว่า สถานประกอบการต้องการแรงงาน ณ ปัจจุบัน ร้อยละ 19.2 (จำนวน 2,254 แห่ง) มีอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
- การขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 36.0 (จ้านวน 812 แห่ง)
- การผลิต ร้อยละ 17.9 (จำนวน 403 แห่ง)
- การก่อสร้าง ร้อยละ 11.3 (จำนวน 254 แห่ง)
สำหรับความความต้องการแรงงานภายใน 1 ปี พบว่า สถานประกอบการที่มีความต้องการแรงงาน ร้อยละ 28.7 (จำนวน 3,374 แห่ง) มีอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
- การขายส่ง และการขายปลึก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 36.3 (จำนวน 1,224 แห่ง)
- การผลิต ร้อยละ 17.8 (จำนวน 600 แห่ง)
- การก่อสร้าง ร้อยละ 10.6 (จำนวน 356 แห่ง) ตามลำดับ
ในมิติของตำแหน่งงานกับประเภทอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
- ตำแหน่งพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ในกิจกิจกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 685 คน
- ตำแหน่งผู้ประกอบอาชีพพื้นฐาน ในกิจกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 613 คน
- ตำแหน่งพนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า ในกิจกรรมโรงแรมและบริการด้านอาหาร จำนวน 536 คน
เมื่อดูในมิติของประเภทอุตสาหกรรมและวุฒิการศึกษา ที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่
- แรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 ในอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 510 คน
- แรงงานที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ในอุตสาหกรรมการขายส่ง และการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และ
รถจักรยานยนต์ จำนวน 498 คน - แรงงานที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 ในอุตสาหกรรมการผลิต จำนวน 475 คน
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวมีการวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงาน ทั้งอุปสงค์ และอุปทาน
โดยในมุมอุปสงค์นั้น จำนวนผู้สำเร็จการศึกษา อัตราการเรียนต่อ อัตราการมีงานทำ จำแนกตามวุฒิการศึกษา ปี 2565 พบว่าระดับการศึกษาที่มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) จำนวน 484,364 คน
- มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) จำนวน 303,472 คน
- ระดับปริญญาตรี จำนวน 300,963 คน
ในภาพรวมอัตราผู้ศึกษาต่อจะค่อย ๆ ลดลงในระดับชั้นการศึกษาที่สูงขึ้น จะเห็นได้จากอัตราการเรียนต่อของผู้สำเร็จการศึกษา โดยมีอัตราการเรียนต่อของผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ
- ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) ร้อยละ 98.3
- มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ร้อยละ 93.8
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ร้อยละ 54.1
และอัตราผู้มีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษาสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)/อนุปริญญา ร้อยละ 36.1 ปริญญาตรี ร้อยละ 21.7 และปริญญาเอก ร้อยละ 21.4 ตามลำดับ
ขณะที่การประมาณการอุปทานแรงงานหรือผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ระดับประเทศ ปี 2568-2572 จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม และวุฒิการศึกษา ประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ของระดับประเทศ ปี 2568-2572 จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวนผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ระดับประเทศ มีแนวโน้มลดลดลงทุกปีในทุกประเภทอุตสาหกรรม โดยมีอัตราการเติบโตลลงเฉลี่ย 1.6
ขณะเดียวกัน รายงานยังประมาณการผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ระดับประเทศ ปี 2568-2572 จำแนกตามวุฒิการศึกษา พบว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวนผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ มีแนวโน้มลดลงทุกปี ในทุกวุฒิการศึกษา โดยมีอัตราการเติบโตลดลงเฉลี่ย 1.6
อ่านรายงานฉบับเต็ม ที่นี่
นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2568 โดยกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลตลาดแรงงาน กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน ระบุว่า มีตำแหน่งงานว่าง มากถึง 38,654 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพงานขั้นพื้นฐาน 16,643 ตำแหน่ง
ระดับการศึกษาที่ต้องการมากที่สุด คือ มัธยมศึกษา ตามมาด้วยประถมศึกษาและต่ำกว่า และปริญญาตรี และประเภทอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากที่สุด คือ การผลิต (14,919 คน) การขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ (10,813 คน)
ชมรายการ Prachachat BITE SIZE – มองสถานการณ์ ‘เด็กจบใหม่’ เมื่อตลาดแรงงาน เมิน ‘จบใหม่ ไร้ประสบการณ์’