บอร์ดประกันสังคมไฟเขียว ’บำนาญสูตรใหม่’ สถานีต่อไป ทำประชาพิจารณ์

บอร์ดประกันสังคมไฟเขียว ’บำนาญสูตรใหม่’

ผู้ประกันตนเฮ! บอร์ดประกันสังคมไฟเขียว ’บำนาญสูตรใหม่’ เตรียมเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ เพื่อแก้กฎหมาย คาดเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมทำควบคู่การปรับเพดานค่าจ้างใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2569

เมื่อเวลา 12.25 น. ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.นนทบุรี นางมารศรี ใจรังศรี เลขาธิการ สปส. พร้อมด้วยคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) แถลงผลการประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดที่ 14 ครั้งที่ 5/2568 ว่า วันนี้มีการประชุมบอร์ดประกันสังคมที่มีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายราชการ และยังมีประธานอนุสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

โดยวันนี้มีข่าวดีกับทุกท่านว่า ประธานบอร์ดประกันสังคม นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม เห็นชอบรับหลักการปรับสูตรบำนาญใหม่ ให้กับผู้ประกันตนถูกมาตรา ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยมอบหมายให้ สปส. กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม และการดำเนินการหลังจากนี้จะเป็นการทำควบคู่ไปกับการปรับเพดานค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มปรับเพดานค่าจ้างในวันที่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่สอดรับกันพอดี

“ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมการทำงาน สปส. ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดย สปส. ได้ทำการศึกษาสูตรบำนาญแบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือเฉลี่ยตลอดการทำงาน ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2563 จนมาสำเร็จและเห็นรูปธรรมชัดเจนในวันนี้“ นางมารศรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนที่เกษียณไปแล้วจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนสูตรบำนาญครั้งนี้หรือไม่ นางมารศรีกล่าวว่า เราจะดูว่าผู้ประกันตนที่ได้รับบำนาญชราภาพอยู่แล้ว ถ้าได้รับเงินลดลง ก็จะปรับให้ได้เท่าเดิม แต่ถ้าดูแล้วสูตรใหม่นี้ทำให้คนที่ได้รับบำนาญอยู่แล้วได้รับเงินเพิ่มขึ้น ก็จะดูและจะให้ได้รับเพิ่มขึ้น เพื่อความเป็นธรรมมากที่สุด

ปัจจุบันผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพอยู่ที่ 8 แสนคน และคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 แสนคน ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสูตรบำนาญนี้ โดยจะได้รับความเป็นธรรมต่อสูตรนี้ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39

ADVERTISMENT

ด้านนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคม เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ประกันตน และเป็นข่าวดีของนายจ้างที่จะเพิ่มสวัสดิการให้กับลูกจ้างอย่างเป็นธรรม เนื่องจากปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพเป็นแบบเฉลี่ยตลอดอายุการทำงาน และตามฐานเงินเดือนตามที่ได้มีการนำเสนอไป

“โดยกระบวนการต่อไปจากนี้ จะเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ เพื่อแก้ไขกฎหมายเป็นระยะเวลา 30 วันตามกรอบกฎหมายและจะพยายามให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน (3 เดือน) ซึ่งกระบวนการต่อจากนี้จะสามารถเดินตามก้าวที่เราวางไว้ จากนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39” นายษัษฐรัมย์กล่าว

ADVERTISMENT

ขณะที่นายมนตรี ฐิรโฆไท กรรมการฝ่ายนายจ้าง ในบอร์ดประกันสังคม กล่าวว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เกิดกระแสและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่ผู้ประกันตนหันมาให้ความสนใจกับสิทธิประโยชน์ของตนเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งฝ่ายนายจ้างอยากให้เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเงินที่รัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างส่งเงินสมทบ และต้องได้รับการดูแลบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยวันนี้ได้พิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้กลับไปทบทวนสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพอย่างละเอียด และให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกันตนในทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ก่อนกลับมาเสนอในที่ประชุมบอร์ดประกันสังคม ก่อนมีมติเห็นชอบในหลักการ

“ช่วงเวลาต่อไปนี้ อยากให้ผู้ประกันตนให้ความสนใจกับการทำประชาพิจารณ์และให้ความเห็นว่า สิ่งที่บอร์ดประกันสังคมนำเสนอไป เป็นธรรมถูกต้องหรือมีแง่มุมใดที่อยากให้เพิ่มเติม หรือแก้ไขอย่างไรบ้าง เราจะทำงานเพื่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง” นายมนตรีกล่าว

นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวเสริมว่า การปรับสูตรบำนาญใหม่เป็นการปรับเงินบำนาญให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่จะได้รับบำนาญในอนาคต เรามองว่าสูตรบำนาญที่มีอยู่มากว่า 30 ปีมีความเหลื่อมล้ำ

และสูตรใหม่นี้จะทำให้ผู้ที่มีผลกระทบจากสูตรบำนาญในอดีต ที่ไม่ใช่ว่าสูตรบำนาญในอดีตไม่ดี แต่มันอาจจะเหมาะสมในอดีต แต่ปัจจุบันยุคเปลี่ยน เราก็ควรปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย และหวังว่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในอนาคต

ขณะที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า รู้สึกชื่นใจ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนและจะมีผลย้อนหลัง การคืนความเป็นธรรมนี้ ถึงแม้ว่าล่าช้า แต่ในที่สุดก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ประกันสังคมยอมเปลี่ยนแปลงให้ทันตามความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ไม่ใช่ว่ามีความสำเร็จเรื่องนี้แล้วจบสิ้นไปเลย เพราะต้องมีอีกหลายเรื่องที่คงต้องตามกันต่อ

คำนวณสูตรใหม่ ถ้าได้เพิ่มขึ้น มีผลเดือนถัดไป ไม่จ่ายย้อนหลัง

นายษัษฐรัมย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการประชุมบอร์ดประกันสังคม ที่มีมติรับหลักการพิจารณาปรับสูตรบำนาญให้กับผู้ประกันตนทุกมาตรา โดยใช้เป็นสูตร CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือ “เฉลี่ยตลอดการทำงาน ปรับเป็นค่าเงินปัจจุบัน”

โดยระบุว่า การประชุมวันนี้มีการพิจารณาเพียงแค่ 1 จากทั้งหมด 7 เรื่อง นั่นก็คือเรื่องการพิจารณาสูตรคำนวณเงินบำนาญสูตรใหม่ คือ สูตร CARE ซึ่งที่ประชุมได้หารือว่าสูตรนี้พร้อมที่จะเปิดทำประชาพิจารณ์หรือไม่ แต่สิ่งที่ที่ประชุมเห็นตรงกันทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ นายจ้างและผู้ประกันตน คือ สูตรนี้มีความจำเป็น แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยได้

“สูตรนี้สามารถเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ได้ซึ่งตามระเบียบกฎหมาย ระบุว่าหากมีการแก้กฎกระทรวงใดที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้องเปิดทำประชาพิจารณ์ และจะต้องเริ่มทำประชาพิจารณ์ภายใน 30 วันนับจากวันที่รับหลักการ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง หวังว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน หรือเร็วกว่านั้น“ นายษัษฐรัมย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายษัษฐรัมย์กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกันนี้จะมีอยู่ 2 เรื่องคือ การปรับฐานเพดานค่าจ้าง และการปรับสูตรคำนวนเงินบำนาญ แม้จะเป็น 2 เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันแต่จะต้องทำไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ความเห็นของฝ่ายวิจัย ระบุว่าการปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ หรือสูตร CARE สามารถทำได้ก่อนการทำเรื่องการปรับฐานเพดานค่าจ้าง

ดังนั้น กระบวนการหลังจากนี้คือการเปิดทำประชาพิจารณ์ โดยทางบอร์ดประกันสังคมจะต้องทำชุดคำถาม เพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประกันตนเข้ามาให้ความเห็น ถ้าการประชาพิจารณ์แล้วเสร็จ ก็จะแจ้งต่ออนุกรรมการสิทธิประโยชน์ ของสำนักงานประกันสังคม จากนั้นก็จะนำสู่บอร์ดประกันสังคมได้ภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการแสตมป์ครั้งสุดท้าย ก่อนเดินหน้าเข้าสู่การแก้ไขกฎกระทรวง

นายษัษฐรัมย์กล่าวต่อว่า สำหรับสูตร CARE และการปรับฐานเพดานค่าจ้าง แม้ว่าผู้ที่เกษียณไปแล้ว ก็จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มในการคำนวณบำนาญ เช่น ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า มีการปรับเพดานค่าจ้างเป็น 20,000 บาทต่อเดือน จากเดิมที่เคยได้ 15,000 บาทต่อเดือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก็จะไม่ถูกจำกัดการคำนวณบำนาญไว้ที่เพดานค่าจ้าง 15,000 บาท แม้ว่าเกษียณแล้วก็จะมีการคำนวณย้อนหลังปรับเพิ่มให้ ดังนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่แยกกัน แต่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์เรื่องนี้ต้องทำควบคู่กันไป

เมื่อถามถึงการปรับสูตรคำนวนบำนาญจะมีผลย้อนหลังให้ผู้ประกันตนที่อยู่ระหว่างการรับเงินบำนาญถึง 8 แสนคนในปัจจุบันหรือไม่ นายษัษฐรัมย์กล่าวว่า ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญอยู่ในปัจจุบัน ถ้าการปรับเป็นสูตร CARE แล้วได้เงินบำนาญเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการปรับสูตรสำหรับงวดบำนาญเดือนถัดไป แต่จะไม่ได้มีผลย้อนหลังให้กับการจ่ายบำนาญงวดที่ผ่านมา

เช่น เดิมได้รับบำนาญสูตรเดิมอยู่ที่เดือนละ 1,500 บาท ถ้าปรับเป็นสูตร CARE แล้วได้มากขึ้นเป็น 4,500 บาท เดือนถัดไปหลังจากมีประกาศกระทรวงออกมาแล้วก็สามารถรับที่ 4,500 บาทได้เลย แต่ไม่ได้มีผลย้อนหลังให้กับงวดบำนาญที่ผ่านมา

ถามต่อว่าการทำประชาพิจารณ์คาดว่าจะมีคนให้ความสนใจอย่างไร นายษัษฐรัมย์กล่าวว่า ตนเชื่อว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป อย่างการทำประชาพิจารณ์เรื่องการปรับเพดานค่าจ้าง ก็มีคนมาให้ความเห็นมากกว่า 200,000 คน ถือว่าประสบความสำเร็จ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้จะได้รับความเห็นจากผู้ประกันตนที่หลากหลายครบถ้วน ซึ่งเป็นหน้าที่ของบอร์ดประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคม ที่จะออกแบบชุดคำถามในการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในเรื่องนี้