ถอดสูตรคำนวณเงินบำนาญ ประกันสังคม ม.33-ม.39 สูตรเก่า VS สูตรใหม่

สูตรคำนวณเงินบำนาญ ประกันสังคม ม.33 ม.39

ถอดสูตรคำนวณเงินบำนาญ ประกันสังคม ม.33-ม.39 ระหว่าง “สูตรเก่า” ใช้ฐานเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย กับ “สูตรใหม่” คำนวณจากฐานเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงาน

หลังจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมชุดที่ 14 ครั้งที่ 5/2568 เห็นชอบรับหลักการปรับสูตรบำนาญใหม่ ให้กับผู้ประกันตนถูกมาตรา ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยมอบหมายให้ สปส. กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม และการดำเนินการหลังจากนี้จะเป็นการทำควบคู่ไปกับการปรับเพดานค่าจ้าง ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มปรับเพดานค่าจ้างในวันที่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่สอดรับกันพอดี

โดยในส่วนที่เกษียณไปแล้วจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนสูตรบำนาญครั้งนี้หรือไม่ นางมารศรี ใจรังศรี เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เราจะดูว่าผู้ประกันตนที่ได้รับบำนาญชราภาพอยู่แล้ว ถ้าได้รับเงินลดลง ก็จะปรับให้ได้เท่าเดิม แต่ถ้าดูแล้วสูตรใหม่นี้ทำให้คนที่ได้รับบำนาญอยู่แล้วได้รับเงินเพิ่มขึ้น ก็จะดูและจะให้ได้รับเพิ่มขึ้น เพื่อความเป็นธรรมมากที่สุด

ปัจจุบันผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพอยู่ที่ 8 แสนคน และคาดการณ์ว่าจะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 แสนคน ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากสูตรบำนาญนี้ โดยจะได้รับความเป็นธรรมต่อสูตรนี้ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนถอดสูตรคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม ม.33-ม.39 ระหว่าง “สูตรเก่า” และ “สูตรใหม่” มีหลักการคำนวณอย่างไร แตกต่างกันมากแค่ไหน แล้วใครได้ประโยชน์จากการปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ

ใครมีสิทธิได้เงินบำนาญชราภาพ ประกันสังคม

ก่อนจะทำความเข้าใจสูตรการคำนวณบำนาญรูปแบบใหม่ ทบทวนอีกครั้งว่า ใครมีสิทธิได้รับเงินบำนาญกรณีชราภาพ

ADVERTISMENT

ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ต่อเมื่อส่งเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปีขึ้นไป รวมถึงต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องแจ้งสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

หากกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว คือ ลูก หรือลูกบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามี-ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือบิดา-มารดาที่มีชีวิตอยู่

ADVERTISMENT

กรณีผู้ประกันตนรับบำนาญชราภาพ ต่อมาเสียชีวิตภายใน 60 เดือน (5 ปี) นับแต่เดือนที่รับบำนาญชราภาพ

  • ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

กรณีผู้ประกันตนถูกงดจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน และต่อมาถึงแก่ความตาย

  • หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน

ทำความเข้าใจ “สูตรเดิม” VS “สูตรใหม่” คำนวณบำนาญประกันสังคม

สูตรการคำนวณบำนาญแบบปัจจุบันที่ใช้อยู่นี้ มีชื่อว่า “Final Average Earnings (FAE)” คำนวณเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ และไม่คิดเศษเดือน (เช่น ส่ง 25 ปี 6 เดือน = 25 ปี) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2540 หรือกว่า 27 ปีที่แล้ว

ปัญหาของสูตรคำนวณบำนาญ FAE คือ หากผู้ประกันตน มีค่าจ้างลดลง ช่วง 60 เดือนสุดท้าย จะทำให้ได้รับเงินบำนาญที่ลดลงด้วย โดยเฉพาะผู้ประกันตนที่ออกจากงาน และยังส่งเงินสมทบต่อ ตามมาตรา 39 ซึ่งมีเพดานค่าจ้างสูงสุดเพียง 4,800 บาทเท่านั้น ต่ำกว่ามาตรา 33 ที่มีเพดานค่าจ้างสูงสุดที่ 15,000 บาท

ขณะที่สูตรคำนวณบำนาญแบบใหม่ มีชื่อว่า “Career-Average Revalued Earnings (CARE)” ซึ่งมีการใช้ในหลายประเทศ และเป็นไปตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่หน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ทำวิจัยและให้คำปรึกษา มาตั้งแต่ปี 2563

สูตรคำนวณบำนาญแบบ CARE จะเน้นหลักการที่ว่า “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วนจริง” คำนวณเงินเดือนหรือค่าจ้างเฉลี่ยตลอดการทำงาน คิดค่าจ้างทุกเดือนที่เคยส่งสมทบ พร้อมทั้งปรับ Index ค่าจ้างในอดีตให้เป็นค่าเงินปัจจุบันก่อนนำมาคำนวณ

หลักการนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกันตน ที่ส่ง ม.39 ในช่วงท้ายของการทำงาน ได้รับเงินสมทบที่มากขึ้น และทำให้การได้เงินบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน มีความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงลดปัญหาสูตร 60 เดือนสุดท้ายที่บางคนใช้เพื่อให้ได้บำนาญสูงเกินจริง หรือกลุ่มมาตรา 39 ที่ฐานต่ำเกินไป

วิธีคำนวณบำนาญ “แบบเดิม”

การคำนวณเงินบำนาญชราภาพแบบเดิม หากส่งเงินสมทบประกันสังคม มากกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

  • กรณีส่งเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน (15 ปี) มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
  • กรณีส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) ได้รับอัตราบำนาญชราภาพ เพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการส่งเงินสมทบทุก 12 เดือน (1 ปี)

ทั้งนี้ การยื่นรับสิทธิกรณีชราภาพ จะคำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย โดยผู้ประกันตน ม.33 ใช้ฐานเงินเดือนตามฐานที่มีการนำส่งเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนผู้ประกันตน ม.39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 จะใช้ฐานของ ม.33
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.39 จะใช้ฐานของ ม.39
  • หาก 60 เดือนสุดท้ายเป็น ม.33 และ ม.39 ทางประกันสังคมจะเฉลี่ยให้

สูตรคำนวณ ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ค่าจ้าง 60 เดือนสุดท้ายรวมกันหาร 60) X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีส่งเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต

ตัวอย่าง 1 ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ม.33 มาแล้ว 20 ปี โดยปีที่ 1-10 ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปีที่ 11-20 ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากนั้นได้ออกจากงานประจำ แล้วส่งเงินสมทบ ม.39 ต่ออีก 2 ปี ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย : [(15,000 x 36 เดือน) + (4,800 x 24 เดือน)] ÷ 60 = 10,920 บาท

คำนวณเป็นเงินบำนาญ : 10,920 x [20% + (1.5% x 7)] = 3,330.60 บาทต่อเดือน

ตัวอย่าง 2 ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ม.33 มาแล้ว 20 ปี โดยปีที่ 1-10 ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปีที่ 11-20 ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากนั้นได้ออกจากงานประจำ แล้วส่งเงินสมทบ ม.39 ต่ออีก 5 ปี ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย : 4,800 บาท เนื่องจาก 5 ปีสุดท้าย ผู้ประกันส่งเงินสมทบ มาตรา 39 ทั้ง 60 เดือน

คำนวณเป็นเงินบำนาญ : 4,800 x [20% + (1.5% x 10)] = 1,680 บาทต่อเดือน

วิธีคำนวณบำนาญ “แบบใหม่”

การคำนวณเงินบำนาญชราภาพแบบใหม่ หรือ สูตร CARE จะใช้วิธีการคำนวณเงินเดือนตลอดชีวิตการทำงาน โดยคำนวณจากทุกเดือนที่ส่งสมทบ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ พร้อมทั้งปรับค่าเงินย้อนหลัง (Index) ให้เป็นปัจจุบัน

สูตรคำนวณ ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงาน X [20%+(1.5% x จำนวนปีที่ส่งเงินสมทบ กรณีส่งเกิน 15 ปี)] = จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่จะได้รับเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต

ตัวอย่าง 1 ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ม.33 มาแล้ว 25 ปี โดยปีที่ 1-10 ฐานเงินเดือน 10,000 บาท ปีที่ 11-20 ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปีที่ 21-25 ฐานเงินเดือน 15,000 บาท

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย : [(10,000 x 120 เดือน) + (12,000 x 120 เดือน) + (15,000 x 60 เดือน)] ÷ 300 เดือน = 11,800 บาท

คำนวณเป็นเงินบำนาญ : 11,800 x [20% + (1.5% x 10)] = 4,130 บาทต่อเดือน

ตัวอย่าง 2 ผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ ม.33 มาแล้ว 20 ปี โดยปีที่ 1-10 ฐานเงินเดือน 12,000 บาท ปีที่ 11-20 ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากนั้นได้ออกจากงานประจำ แล้วส่งเงินสมทบ ม.39 ต่ออีก 2 ปี 6 เดือน ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย : [(12,000 x 120 เดือน) + (15,000 x 120 เดือน) + (4,800 x 30 เดือน)] ÷ 270 เดือน = 12,533 บาท

คำนวณเป็นเงินบำนาญ : 12,533 x [20% + (1.5% x 7.5)] = 3,916.56 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ตัวเลข 7.5 มาจากการส่งเงินสมทบ ม.33 เกิน 15 ปีมาแล้ว 5 ปี และส่งเงินสมทบ ม.39 อีก 2 ปี 6 เดือน และปรับให้เป็นจำนวนปี

หมายเหตุ : สูตรดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น ในสูตรคำนวณบำนาญแบบ CARE จะมีการปรับค่าเงินย้อนหลัง (Index) ให้เป็นปัจจุบันเพิ่มเติมด้วย

การปรับ Index ค่าจ้าง

นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ประเทศไทยไม่เคยปรับเพดาน 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน มายาวนานกว่า 30 ปี ขณะที่มาตรา 39 ก็ใช้ฐาน 4,800 บาทคงที่มากว่า 30 ปี ส่งผลให้บำนาญของผู้ที่เปลี่ยนไปส่งมาตรา 39 นาน ๆ ต่ำตามไปด้วย ขณะที่ต่างประเทศจะปรับเพดานตามค่าครองชีพหรือค่าจ้างเฉลี่ยทุกปี จึงเลี่ยงปัญหาสะสมระยะยาวแบบของไทย

ปัญหาข้างต้นทำให้ไม่สามารถ Index ค่าจ้างแบบปกติได้ จึงต้องใช้แนวทางพิเศษ ดังนี้

  • ก่อนปรับเพดาน ค่าจ้างมาตรา 33 ในอดีตจะถูก Index ได้ไม่เกิน 15,000 บาท
  • หลังปรับเพดานเป็น 17,500 บาท (ปี 2569) สามารถ Index เกิน 15,000 บาทได้ (เช่น ถ้าปรับ 5% ก็เป็น 15,750)
  • ฐาน 4,800 บาทของมาตรา 39 จะ Index เพิ่มได้ก็ต่อเมื่อมีการปรับฐานในอนาคต
  • มีรายละเอียดย่อยเพื่อให้ผลลัพธ์โดยเฉลี่ยใกล้เคียงสูตร 60 เดือนสุดท้ายมากที่สุด

มีกติกา “เปลี่ยนผ่าน”

นายณภูมิ ระบุว่า การจ่ายเงินบำนาญ ผู้ประกันตน จะมีกติกาในการเปลี่ยนผ่าน คือ ผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้ว (ประมาณ 800,000 คน) ไม่มีใครได้รับบำนาญลดลง และคำนวณด้วยสูตรใหม่แล้วได้มากขึ้น ก็ปรับให้เพิ่มทันที

ส่วนผู้ที่จะเริ่มรับบำนาญหลังสูตรใหม่บังคับใช้ หากสูตรเก่าให้บำนาญมากกว่า จะคำนวณแบบ “ผสม” (เก่า+ใหม่) จ่ายตลอดชีวิต โดยแบ่งตามปีที่จะเริ่มรับบำนาญ ดังนี้

  • 2568-2569: สูตรเก่า 100%
  • 2570: เก่า 80% + ใหม่ 20%
  • 2571: เก่า 60% + ใหม่ 40%
  • 2572: เก่า 40% + ใหม่ 60%
  • 2573: เก่า 20% + ใหม่ 80%
  • 2574 เป็นต้นไป: ใช้สูตรใหม่ (CARE) เต็มรูปแบบ

พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า ใครได้เพิ่ม – ใครได้ลด? โดยยกตัวอย่างการคำนวณ จากคนที่ส่งสมทบตั้งแต่ปี 2542 และเกษียณปี 2568

  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่เคยส่งฐาน 15,000 (ตอนมาตรา 33) แล้วเปลี่ยนไปส่ง 4,800 บาทช่วง 6 ปีสุดท้าย บำนาญเพิ่มมาก (จาก ~1,750 เป็น ~4,789 บาท หรือ +173%)
  • ผู้ที่ส่งมาตรา 33 ไม่นานแล้วมาส่งมาตรา 39 นาน ๆ บำนาญเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากเท่ากรณีแรก
  • ผู้ที่ส่งฐาน 15,000 บาทตลอด พอเพดานขยับเป็น 17,500 ในปี 2569 บำนาญขยับขึ้นจาก 5,700 เป็น 6,039 บาท (+6%) แต่ถ้าเกษียณหลังปรับเพดานค่าจ้างไปเกิน 60 เดือน สูตรใหม่จะได้น้อยกว่าเก่า (เพราะสูตรเก่าไม่นำช่วงเพดานเก่า 15,000 มาคิด จึงได้มากกว่าตามสัดส่วนการส่งจริง)
  • กลุ่มค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท จะได้บำนาญใกล้เคียงสูตรเดิม
  • ผู้ที่ค่าจ้างต่ำเกือบตลอด แต่ไปเร่งส่งสูง 15,000 ช่วง 5 ปีสุดท้าย บำนาญอาจลดลง เพราะสูตร CARE ป้องกันไม่ให้เอาเปรียบระบบโดยจ่ายสูงเฉพาะโค้งสุดท้าย

นายณภูมิ ระบุถึงการเปลี่ยนผ่านสูตรคำนวณบำนาญเป็น “สูตร CARE” ว่า นี่ไม่ใช่การ “เพิ่มบำนาญ” แต่เป็นการปรับให้ระบบยุติธรรมและยั่งยืน “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วน” อย่างแท้จริง ลดปัญหาสูตร 60 เดือนสุดท้ายที่บางคนใช้เพื่อให้ได้บำนาญสูงเกินจริง หรือกลุ่มมาตรา 39 ที่ฐานต่ำเกินไป และมีมาตรการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่กระทบผู้ที่รับบำนาญอยู่แล้วหรือคนที่ใกล้เกษียณมากเกินไป

10 ปี ใช้เงินเพิ่ม 6 หมื่นล้าน

ก่อนหน้านี้ นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคม ระบุว่า การใช้สูตรใหม่จะไม่มีทางได้บำนาญเกินสูตรเก่า เพียงแค่เป็นการปรับ (adjust) ให้ผู้ที่เสียประโยชน์ โดยคนส่วนมากโดยเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 39 จะได้บำนาญเพิ่มประมาณ 1,000 บาท และจะทำให้เฉลี่ยแล้วคนได้บำนาญไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้ ในระยะ 10 ปี ใช้เงินเพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ 2.6 ล้านล้านบาท แต่สามารถช่วยผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง หลังจากนั้นงบประมาณก็จะไม่เพิ่ม และไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม

ปี’69 เริ่มต้นปรับเพดานค่าจ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อมกราคม 2568 ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) ครั้งที่ 1/2568 มีการรับทราบ สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระกรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. และให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอร่างกฎหมายต่อไป

การปรับปรุงเพดานค่าจ้าง เพื่อคำนวณเงินสมทบประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 จะเป็นรูปแบบบันได 3 ขั้น จากเพดานค่าจ้างสูงสุดเดิม 15,000 บาท เป็น 17,500 บาทในปี 2569-2571 จากนั้นปรับเป็น 20,000 บาทในปี 2572-2574 และสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป

เพดานค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยปี 2569-2571 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 6,125 บาทต่อเดือน ปี 2572-2574 เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 7,000 บาทต่อเดือน และปี 2575 เป็นต้นไป ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 8,050 บาทต่อเดือน

เปิดไทม์ไลน์ เริ่มคำนวณบำนาญ “สูตร CARE”

หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบการปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพแบบ CARE (Career-Average Revalued Earnings) หรือ เฉลี่ยตลอดการทำงานจริงของผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์ ซึ่งเบื้องต้นกำหนดกรอบทำงานทุกขั้นตอนไว้ 90 วัน นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด สปส. กำลังดำเนินการติดตามรายละเอียดการดำเนินงานของสูตรคำนวณชราภาพดังกล่าว โดยคาดว่าจะศึกษาแบบการปั้นตุ๊กตา หรือการใช้กรณีตัวอย่าง (case study) เนื่องจากมีทั้งผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 แต่ละกลุ่มมีลักษณะเงื่อนไขแตกต่างกัน เช่น กรณีผู้ประกันตน มาตรา 33 ออกไปอยู่มาตรา 39 หรือ จากมาตรา 39 กลับไปอยู่มาตรา 33 จะต้องศึกษาว่า คำนวณสูตรใหม่ออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร หรือมีปัญหามากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงใน สปส. เปิดเผยว่า ข้อมูลของผู้ประกันตนมีในระบบอยู่แล้ว การทำตุ๊กตาขึ้นมา ทำ case study ขึ้นมา เพื่อที่จะไปสู่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ที่จะเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แสดงความคิดเห็นในระยะเวลา 30 วัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเอามติบอร์ดฯ ออกมาทำแผนการดำเนินงาน ว่า กระบวนการต่อไปจะเป็นไปอย่างไร

ซึ่งขณะนี้แผนงานยังคงไม่ชัดเจน แค่เป็นคาดการณ์คร่าว ๆ จากเลขาธิการ สปส. ที่ชี้แจงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 เท่านั้น ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ คือ อย่างแรกต้องทำประชาพิจารณ์ให้เสร็จก่อน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยกร่างกฎกระทรวง และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาก ครม. มีมติเห็นชอบ ก็จะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้ลงนาม จากนั้นถึงจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

“ซึ่งก็อยู่ที่ว่า ราชกิจจานุเบกษาจะประกาศวันใด ซึ่งจะมีผลประกาศใช้ได้ตามกฎหมายต่อไป โดยรายละเอียดต่างๆ จะต้องนำมาเขียนในลักษณะของกฎกระทรวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คาดว่า ในขั้นตอนการยกร่างกฎกระทรวง ก่อนจะนำเข้าสู่ ครม. อาจจะต้องนำกลับมาให้บอร์ดฯ ดูรูปร่างหน้าตาอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นไปตามหลักการที่ได้เห็นชอบไว้หรือไม่ ทุกอย่างมีขั้นตอนตามหลักการ

สำหรับการทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย อย่างไร โดย สปส.จะรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของผู้ประกันตน ซึ่งคาดการณ์ว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับการปรับสูตรคำนวณบำนาญใหม่นี้” แหล่งข่าวกล่าว