
ค่าแรง 400 บาททั่วไทย ไม่คืบ “ปลัดบุญสงค์” เผยบอร์ดค่าจ้างหมดวาระ 13 มีนาคมนี้ แต่ยังรักษาการต่อ ส่วนการประชุมนัดหน้า 8 เมษายน 2568 ติดตามผลกระทบปรับขึ้นค่าแรง 4 จังหวัด 1 อำเภอ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 12 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/2568 หลังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พยายามผลักดันการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ให้ได้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงาน
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นนัดก่อนบอร์ดชุดนี้จะหมดวาระในวันที่ 13 มีนาคม 2568 โดยมีกรรมการลาประชุม จำนวน 3 คน ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐจำนวน 2 คน คือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง และนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์, ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 1 คน คือ นายณัฏฐกิตติ์ เขตตระการ ทำให้มีกรรมการเข้าประชุม จำนวน 12 คน จากทั้งหมด 15 คน
นายบุญสงค์เปิดเผยก่อนการประชุมว่า ในวันนี้มีวาระการประชุมคือ รายงานเรื่องการปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เมื่อวานนี้ (11 มีนาคม 2568), เรื่องรับรองรายงานการประชุม, เรื่องเพื่อทราบเกี่ยวกับการดำเนินงาน, เรื่องการพิจารณาค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเรื่องทบทวนการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 4 จังหวัด 1 อำเภอ คือ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเฉพาะ อ.เกาะสมุย เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อสำรวจว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ
“แนวโน้มของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ต้องเป็นไปตามมติของบอร์ดค่าจ้าง โดยในวันนี้จะเป็นการพิจารณาเรื่องการสำรวจผลกระทบของนายจ้าง-ลูกจ้างจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปเมื่อต้นปีในทุก ๆ ประเด็นที่ได้รับผลกระทบ จะพิจารณาแบบสอบถามต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเดือดร้อนผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง เราต้องการไปแสวงหาความเห็นของนายจ้าง-ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ในเรื่องค่าครองชีพพอไหมในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งนายจ้างจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง“ นายบุญสงค์กล่าว
นายบุญสงค์กล่าวอีกว่า ส่วนอีกเรื่องคือ การพิจารณาค่าจ้างตามสาขาวิชาชีพตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พิจารณามาแล้ว เช่น ช่างกล ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ จะต้องได้ค่าจ้างประมาณไหนตามค่าจ้างขั้นต่ำที่เราเคยประกาศไว้ ทั้งนี้ ยังไม่ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของบอร์ดค่าจ้างชุดปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 13 มีนาคม 2568 โดยบอร์ดค่าจ้างชุดนี้ จะรักษาการและปฏิบัติตามกฎหมายได้ไปพลางก่อนจนกว่าจะแต่งตั้งบอร์ดค่าจ้างชุดใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้จะได้ข้อสรุปในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทหรือไม่ นายบุญสงค์กล่าวว่า ยังไม่มีวาระดังกล่าว จะพิจารณาไปเรื่อย ๆ ตามความเห็นของบอร์ดค่าจ้างชุดนี้ โดยหลักต้องดูตามภาวะเศรษฐกิจ และต้องเป็นการทยอยขึ้นค่าจ้าง
เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเห็นการปรับขึ้นค่าแรงเป็นตัวเลขใหม่ทันวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุไว้ นายบุญสงค์กล่าวว่า จะพยายามทำให้เป็นไปตามมติ หรือความเห็นของบอร์ดค่าจ้าง
เมื่อถามว่า บอร์ดค่าจ้างชุดใหม่ จะส่งผลกระทบถึงความต่อเนื่องในการดำเนินงานหรือไม่ นายบุญสงค์กล่าวว่า ไม่กระทบ เนื่องจากเป็นภารกิจที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
นัดถกบอร์ด 8 เม.ย.นี้ ติดตามผลกระทบค่าแรง 400 บาท
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมบอร์ดค่าจ้างว่า บอร์ดค่าจ้างเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการ ไปศึกษาและพิจารณาเรื่องการสำรวจผลกระทบของนายจ้าง-ลูกจ้างจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อสำรวจว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง
“โดยในวันที่ 8 เมษายนนี้ เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้างอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าผลจากการสำรวจผลกระทบของนายจ้าง-ลูกจ้างดังกล่าว ซึ่งก็ต้องดูตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะการจ้างงาน แต่ขณะนี้ฝ่ายลูกจ้างก็ยังไม่ได้ว่าอะไรในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ต้องรอผลสำรวจทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 10,000 คำถาม” นายบุญสงค์กล่าว
นายบุญสงค์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดเรื่องของการปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งมีเยอะ ทั้งการทบทวน 129 สาขาอาชีพ โดยมีการตั้งอนุเฉพาะกิจเพื่อทบทวนและนำมาเสนออีกครั้ง นอกจากนี้ยังทบทวนอีก 13 อาชีพเพิ่มเติม อาทิ คนขับรถบรรทุก ขับรถทัวร์ คนขับรถแทรกเตอร์ ขับปั้นจั่น ขับรถทั่วไป ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างมาก
“อยากบอกพี่น้องประชาชนทุกคนว่า เราต้องอาศัยอยู่ด้วยกันภายใต้ภาวะค่าครองชีพที่เป็นไปได้และเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างอยู่ได้ น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรที่จะปรับให้เกิดขึ้นก็แล้ว แต่เศรษฐกิจที่เป็นไปในอนาคต กระทรวงแรงงานและบอร์ดค่าจ้างเห็นใจทุกฝ่าย ภายใต้ความจำเป็นและค่าครองชีพที่เป็นไปได้” นายบุญสงค์กล่าวและว่า หากเพิ่มค่าจ้างสูงไป คนที่จ่ายค่าจ้างก็จะอยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราให้ค่าจ้างน้อยไป คนที่ทำงานก็อยู่ไม่ได้