เปิดอัตราผลประโยชน์ เงินบำเหน็จ ม.33 ม.39 ม.40 ปี 2557-2567

ประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญ

เปิดตัวเลขอัตราผลประโยชน์ตอบแทน เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2567 แต่ละปีผลตอบแทนร้อยละเท่าไร

ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 เผยแพร่ประกาศสำนักงานประกันสังคม 2 ฉบับ ประกอบด้วย เรื่อง กำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประจำปี 2567

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลอัตราผลประโยชน์ของเงินบำเหน็จ ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อัตราผลประโยชน์ ม.33-ม.39

อัตราผลประโยชน์ตอบแทน เงินบำเหน็จชราภาพ สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39 ในช่วงตั้งแต่ปี 2557-2567 เป็นดังนี้

ปี อัตราผลประโยชน์ (ร้อยละ) ปี อัตราผลประโยชน์ (ร้อยละ)
2557 3.66 2563 2.75
2558 3.21 2564 2.83
2559 3.65 2565 3.46
2560 3.61 2566 2.53
2561 3.16 2567 2.81
2562 4.52

 

อัตราผลประโยชน์ ม.40

อัตราผลประโยชน์ตอบแทน เงินบำเหน็จชราภาพ สำหรับผู้ประกันตน ม.40 ในช่วงตั้งแต่ปี 2555-2567 เป็นดังนี้

ADVERTISMENT
ปี อัตราผลประโยชน์ (ร้อยละ) ปี อัตราผลประโยชน์ (ร้อยละ)
2555 3.30 2562 2.61
2556 3.17 2563 3.11
2557 2.58 2564 4.80
2558 2.56 2565 2.18
2559 2.33 2566 2.60
2560 2.81 2567 4.19
2561 2.80

 

เงินบำเหน็จชราภาพ มีเงื่อนไข-คำนวณอย่างไร ?

หากส่งเงินสมทบประกันสังคมน้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ โดยมี 2 เงื่อนไข

ADVERTISMENT
  • กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน (ต่ำกว่า 1 ปี) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
  • กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม จะมีการประกาศอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ในราชกิจจานุเบกษา โดยอัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพล่าสุด สำหรับผู้ประกันตน ม.33-ม.39 อยู่ที่ 2.81% ต่อปีของเงินสมทบสุทธิ (ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2568)

วิธีคำนวณ

กรณีส่งเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน : เงินสมทบของผู้ประกันตน x จำนวนเดือน (1-11 เดือน) = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ตัวอย่าง : ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบได้ 9 เดือน เดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 300 x 9 = 2,700 บาท

กรณีส่งเงินสมทบ 12-179 เดือน (1 ปี-14 ปี 11 เดือน) : เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบของนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน = จำนวนเงินบำเหน็จชราภาพ

ทั้งนี้ “ผลประโยชน์ตอบแทน” เงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 คือ เงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ประกันตนจากการที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินสมทบไปลงทุน โดยแต่ละปีจะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

ผู้ประกันตน ม.33-ม.39-ม.40 ส่งเงินสมทบเท่าไร ?

การส่งเงินสมทบประกันสังคม ม.33 และ ม.39 มีรายละเอียดดังนี้

ผู้ประกันตนภาคบังคับ (มาตรา 33) หรือมนุษย์เงินเดือน ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน โดยถูกหักจากเงินเดือนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ (สูงสุดหักไม่เกิน 750 บาท) นอกจากนั้น นายจ้างต้องจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราเดียวกันด้วย

เงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายแต่ละเดือนเข้ากองทุนของประกันสังคม จะถูกแบ่งการบริหาร 3 ส่วน จากเพดาน 750 บาท/คน/เดือน

1. จำนวน 225 บาท สมทบกองทุนดูแลเรื่องเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน

2. จำนวน 75 บาท สำหรับใช้ประกันการว่างงาน ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถเอาเงินส่วนนี้มาใช้ในระหว่างตกงานหรือรอหางานใหม่ ถึงแม้ไม่ใช้สิทธิก็ไม่ได้รับเงินคืน

3. จำนวน 450 บาท เก็บเป็นเงินออมกรณีชราภาพ จะได้คืนเมื่ออายุครบ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน

ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ (มาตรา 39) หรือบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออก แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมในมาตรา 39 แทน การสมัครประกันสังคมในกลุ่มนี้ มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ เจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต

ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือประกอบอาชีพอิสระ (มาตรา 40) คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า แม่บ้าน รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์ สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ในมาตรา 40 โดยผู้ที่สามารถสมัครมาตรา 40 ได้ คือบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม

โดยแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ (รับบำเหน็จ)

ทางเลือกที่ 3 (ทางเลือกใหม่) : ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท/เดือน รับสิทธิประโยชน์ 5 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ (รับบำเหน็จ) และสงเคราะห์บุตร

เงื่อนไขการเกิดสิทธิ กรณีชราภาพ : เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

  • ทางเลือกที่ 1 : ไม่คุ้มครอง
  • ทางเลือกที่ 2 : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน (ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบบวกเงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
  • ทางเลือกที่ 3 : ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน (ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบบวกเงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
  • ได้รับเงินเพิ่มเติมจากบำเหน็จชราภาพ 10,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป)
  • *ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม (ออมเพิ่ม) ได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท