จี้ดึงมืออาชีพคุมลงทุน ‘สปส.’ เร่งสอบปมซื้อตึก 7 พันล้าน

แกะปมร้อน “ประกันสังคม” มูลค่าพอร์ต 2.6 ล้านล้าน จี้รัฐรื้อระบบบริหารการลงทุนดึงมืออาชีพด้านการเงินเสริมศักยภาพ ยึดโมเดล กบข. เน้นสัดส่วนเสี่ยงต่ำ-ทำกำไร สร้างผลตอบแทนต่างขั้ว จับตากองทุนใหม่ “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 68 หวั่นซ้ำรอย สปส. ให้ข้าราชการบริหาร แจงสูตรคำนวณบำนาญชราภาพแบบ CARE สร้างความเป็นธรรมผู้ประกันตน 24 ล้านราย เปิดไทม์ไลน์ซื้อตึกพระราม 9 “อนุทิน” ตั้งทีมสอบ

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกองทุนประกันสังคม สังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้ประเทศไทยมีการประกันสังคมอย่างเต็มรูปแบบ กำลังถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในด้านการบริหารจัดการเรื่องการลงทุนและการคิดบำนาญ มาตรา 39 ที่ไม่เป็นธรรม จนกลายประเด็นร้อนต่อเนื่อง

ดึงมืออาชีพ

นายธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนคนบริหารกองทุนจากระบบราชการสู่มืออาชีพที่มีความรู้เรื่องการเงิน การลงทุน และรู้เท่าทันในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตน

ขณะนี้ทุกสื่อได้นำเสนอข้อมูลได้หลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการคิดบำนาญ ม. 39 ที่ไม่เป็นธรรมก็ได้ถูกแก้ไขแล้ว รวมถึงเรื่องการลงทุนซื้อตึกแถวพระราม 9 ที่อยู่ระหว่างรอการตรวจสอบ

เปิดสูตรใหม่บำนาญชราภาพ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แถลงว่า บอร์ดประกันสังคมที่นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์ในหลักการปรับสูตรบำนาญชราภาพผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 ทั้งนี้ ให้ สปส.กลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมและเดินหน้ากระบวนการประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จใน 90 วัน

เรื่องปรับสูตรคำนวณบำนาญชราภาพจะดำเนินการควบคู่กับการปรับเพดานค่าจ้างเงินสมทบแบบขั้นบันได จะเริ่มปรับวันที่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งเป็นกระบวนการที่สอดรับกันพอดี ทั้งนี้ สูตรใหม่แคร์ หรือ CARE ที่ได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2563 คงจะชัดเจนในรอบนี้

ADVERTISMENT

คนที่รับบำนาญชราภาพ หากใช้สูตรใหม่ที่จะได้รับบำนาญลดลงก็จะให้เท่าเดิม แต่ถ้าได้รับเพิ่มก็จะได้เพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นธรรมมากที่สุด ปัจจุบันมีผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ที่ 8 แสนคน จะทยอยเพิ่มปีละ 1 แสนคน จะได้รับความเป็นธรรมกับสูตรใหม่ ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39

กรณีที่ต้องใช้เงินกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากขึ้นนั้น นางมารศรีบอกว่ามั่นใจจะไม่กระทบกับเสถียรภาพของกองทุน

ADVERTISMENT

จากข้อมูลระบุว่า ณ ปัจจุบัน สปส.มีเงินสะสม 2.657 ล้านล้านบาท โดยปี 2567 มีรายรับจากเงินสมทบ 3 ฝ่าย รวมทั้งสิ้น 2.31 แสนล้านบาท และจ่ายสิทธิประโยชน์ 7 กรณีรวม 1.35 แสนล้านบาท

โดยพัฒนาช่องทางให้บริการให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้เร็วขึ้น จากสถิติการเข้าถึงสิทธิทั้ง 7 กรณี จากเดิม 39.34 ล้านครั้งในปี 2560 และสูงขึ้น 46.92 ล้านครั้งในปี 2567

แจงการปรับสูตร

นายณภูมิ สุวรรณภูมิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม โพสต์ FB เรื่องการปรับสูตรบำนาญประกันสังคม แก้ปัญหามาตรา 39 สรุปข้อเสนอการปรับสูตรบำนาญแบบ CARE

ปัจจุบันการคำนวณบำนาญใช้ 2 ส่วนคือ 1.อัตราบำนาญ = 20% + (1.5% X จำนวนปีที่เกิน 15 ปี) 2.คูณกับ “ค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย”

ผู้ประกันตนที่ส่งมาตรา 33 มานาน แล้วเปลี่ยนไปมาตรา 39 (ฐาน 4,800 บาท) ในช่วงท้าย มักทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยก่อนเกษียณลดลงมาก บำนาญจึงต่ำกว่าความเป็นจริง

ข้อเสนอจึงปรับมาใช้สูตร Career-Average Revalued Earnings (CARE) หรือ “เฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงาน” โดยคิดค่าจ้างทุกเดือนที่เคยส่งสมทบเดินหน้าปรับ (Index) ค่าจ้างในอดีตให้เป็นค่าเงินปัจจุบันก่อนนำมาคำนวณตามหลัก “ส่งมากได้มาก ส่งน้อยได้ตามสัดส่วนจริง”

สูตรเก่า VS สูตรใหม่ (CARE)

สูตรเก่า ไม่คิดเศษเดือน (เช่น ส่ง 25 ปี 6 เดือน ก็ยังคิดเป็น 25 ปี) และ คำนวณเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งอาจทำให้ฐานเฉลี่ยต่ำลง

สูตรใหม่ (CARE) นับเศษเดือนด้วย (25 ปี 6 เดือน ได้อัตราบำนาญ 35.75% แทน 35%) และคำนวณจากทุกเดือนที่ส่งสมทบ ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ โดยปรับค่าเงินย้อนหลัง (Index) ให้เป็นปัจจุบัน

ปัญหาเพดานค่าจ้าง 15,000 บาท & มาตรา 39 ประเทศไทยไม่เคยปรับเพดาน 15,000 บาท ทำให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาท/เดือน มายาวนานกว่า 30 ปี

ขณะที่มาตรา 39 ก็ใช้ฐาน 4,800 บาทคงที่มากว่า 30 ปี ส่งผลให้บำนาญของผู้ที่เปลี่ยนไปส่งมาตรา 39 นาน ๆ 
ต่ำตามไปด้วย ต่างประเทศจะปรับเพดานตามค่าครองชีพหรือค่าจ้างเฉลี่ยทุกปี จึงเลี่ยงปัญหาสะสมระยะยาวแบบของไทย

เปรียบเทียบ สปส.-กบข.

แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาการลงทุนเสริมว่า จากปัญหาทั้งหมดทำให้เกิดการเปรียบเทียบเรื่องการบริหารการลงทุนระหว่าง กปส.และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีผู้ประกันตนประมาณ 1.25 ล้านราย รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 4.9 แสนล้านบาท ที่สร้างผลตอบแทนได้ต่างกัน

จากข้อมูลสิ้นปี 2567 กบข.ทำได้ 30,994 ล้านบาท หรือ 6.73% ขณะที่ กปส.มีผู้ประกันตนประมาณ 24.8 ล้านราย มูลค่าพอร์ต 2.6 ล้านล้านบาท โดยสมาชิกไม่สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ และมีผลตอบแทน 71,960 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 2.71%

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตในการเลือกหน่วยลงทุนของหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ รวมถึงการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ต้องใช้ฐานข้อมูลและการตัดสินใจจากความรู้และประสบการณ์ โดย กบข.จะเข้มข้นมากในเรื่องเลือกการลงทุนอะไร ที่ไหน อย่างไร ทำให้มีผลตอบแทนที่ดี

ขณะเดียวกัน สปส.มีนโยบายจะ
เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดที่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอีก ทำให้เกิดการทักท้วง และเรียกร้องให้รัฐปรับเปลี่ยนเรื่องคนบริหารกองทุน ให้มีลักษณะเหมือนหน่วยงาน กบข. จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกันตนมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน 
และไม่มีโอกาสรับรู้การบริหารพอร์ตแต่อย่างไร

จับตากองทุนใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มีเรื่องใหม่ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากจะมีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2568 ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่จัดตั้งขึ้นแล้ว โดยจะให้ข้าราชการ (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) เป็น
ผู้บริหารกองทุนดังกล่าว คำถามคือจะซ้ำรอยกองทุนประกันสังคมอีกหรือไม่ และควรจะให้มืออาชีพเข้ามาบริหาร 
เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกมากที่สุดดีกว่าหรือไม่

“ขณะนี้มีการจับตาดูว่าใครจะมาเป็นคนบริหารกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพราะจะเป็นผู้ที่มารักษาประโยชน์ให้กับสมาชิกกองทุนนี้ในอนาคต เพื่อจะได้ตรวจสอบเครดิต และไม่ซ้ำรอยประกันสังคมที่กลายเป็นขุมทองให้พวกฉ้อฉลมากัดกร่อน”

บังคับใช้ตุลา’68

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง มุ่งให้ลูกจ้างได้รับการดูแลและมีหลักประกันมากขึ้นเมื่อออกจากงาน ไม่ว่าจะลาออกเอง หรือถูกเลิกจ้าง หรือแม้แต่เสียชีวิต

กองทุนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระให้ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 68 อัตราเงิน
สะสมและเงินสมทบในช่วงแรก (1 ตุลาคม 2568-30 กันยายน 2573) คือ 0.25% ของค่าจ้าง และจะเพิ่มเป็น 0.50% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป

องค์กรที่เข้าร่วมต้องมีลูกจ้างมากกว่า 10 คนขึ้นไป เป็นองค์กรที่ไม่มีการสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎกระทรวง, องค์กรที่ไม่จัดให้ลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และองค์กรที่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไม่ให้นำหมวด 13 มาบังคับใช้ (ต้องไม่ใช่องค์กรประเภทกิจการ, งานประมง, มูลนิธิ-สมาคม, งานบ้านที่ไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจอยู่ด้วย และโรงเรียนเอกชนเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา )

กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน อัตราการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบในช่วงแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2573 ในอัตราร้อยละ 0.25 ของค่าจ้าง และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2573 เป็นต้นไป จะมีการปรับอัตราเป็นร้อยละ 0.5 ของค่าจ้าง

บอร์ดประชุม 25 มีนาฯ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ดประกันสังคมที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม 2568 คาดว่า กองทุนประกันสังคมจะมีการนำเสนอรายละเอียดของแผน
กรอบการบริหารความเสี่ยงการลงทุนสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดต่อที่ประชุมของบอร์ดประกันสังคมให้พิจารณาด้วย ซึ่งการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดจะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากบอร์ดประกันสังคมมีการอนุมัติกรอบและแนวทางบริหารความเสี่ยงการลงทุน แต่บอร์ดจะไม่เข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการบริหารรายละเอียดสินทรัพย์การลงทุนเพื่อให้เป็นไปตามหลักการธรรมาภิบาล

ขณะเดียวกัน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า การซื้อตึก SKYY9 ย่านพระราม 9 ด้วยมูลค่าราคา 7 พันล้านนั้น เป็นไปตามกฎหมาย แต่ตนเองขอไม่ชี้แจง ขอให้เป็นหน้าที่กรรมการบอร์ดประกันสังคมแล้วกัน

มท.1 สั่งสอบด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการใช้งบประมาณของ สปส. โดยมีองค์ประกอบกรรมการจำนวน 5 คน เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานไม่โปร่งใส โดยคณะกรรมการประกอบด้วย 1.นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ประธานกรรมการ 2.นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ เป็นกรรมการ 3.นายภูวเดช สุระโคตร กรรมการ 4.นายยุทธนา สาโยชนกร กรรมการ 5.พล.ต.ต.วีรพล เจริญศิริ กรรมการ 6.นายเกริกไกร นาสมยนต์ เป็นเลขานุการ และ 7.นายอภิศักดิ์ แก้วสูงเนิน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ด้าน “ตึกสูงย่านพระราม 9” มูลค่า 7 พันล้านบาท มีความเชื่อมโยงกับอดีตรัฐมนตรี นายอนุทินระบุว่าไม่รู้ว่าเชื่อมโยงอะไรถึงใคร

“ขอให้เป็นไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง”

เมื่อถามว่า เรื่องนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจจะไม่กล้าเข้าไปจัดการ

นายอนุทินถามกลับทันทีว่า “มีเหรอ ปลัดของใครอ่ะ”

พร้อมยืนยันว่า คนใดที่ทำผิดกฎหมาย และเป็นข้าราชการที่มีความกลัว ก็มาอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เลิกได้แล้ว ใครจะมีอิทธิพลมากกว่ารัฐบาล

เปิดไทม์ไลน์ซื้อตึก 7 พันล้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” เรียงลำดับเวลา การลงทุนซื้ออาคาร SKYY9 Centre ย่านพระราม 9

พบว่ามีการตั้งกองทรัสต์ดำเนินการ แต่ไม่มีรายละเอียดของสินทรัพย์ และก่อน สปส.ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้มีการเปลี่ยนมือมาแล้วหลายครั้ง

ทั้งในนามบุคคลตั้งแต่ปี 2532 ทั้งจำนองกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นครหลวงเครดิตฯ มาปี 2537 ได้ถูกไถ่ถอนจากนักธุรกิจท่านหนึ่ง

ปี 2538 มีชื่อบริษัท อินเตอร์ เนชั่นแนล คอนโซลิเดทเต็ท เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นเจ้าของอาคาร และเป็นครั้งแรกที่ก่อสร้างอาคารดังกล่าว ชื่อว่า I.C.E Tower มีธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด รับจำนอง

ปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง I.C.E Tower หยุดการก่อสร้างและกลายเป็นอาคารร้าง เป็นหนี้เสีย NPL โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) เป็นผู้บริหารทรัพย์สิน

ปี 2542 มีข้อมูลโอนทรัพย์สินเพื่อการชำระหนี้จากบริษัท อินเตอร์ เนชั่นแนล คอนโซลิเดทเต็ท เอนจิเนียริ่งฯ ให้กับ BAM

ปี 2560 พบข้อมูลผู้ซื้อ I.C.E Tower รวมที่ดิน 2 โฉนด จาก BAM ซึ่งระบุราคาการซื้อขายอาคารสมัยนั้นประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมีชื่อผู้ซื้อและเปลี่ยนมือมาเป็นบริษัท วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน จำกัด ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ย่านถนนราชปรารภ โดยมีชื่อนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี ถือหุ้น

ปี 2562 บริษัท วอเตอร์เกท พาวิลเลี่ยน จำกัด ขายทรัพย์สินให้กับ บริษัท เอจีอาร์อี 101 จำกัด หรือ AGRE101 มีธนาคารยูโอบี รับจำนอง

ปี 2565 AGRE101 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไพร์ม ไนน์ เรียลเอสเตท จำกัด

ปี 2565 มีการประชุมบอร์ดประกันสังคม ครั้งที่ 11/2565 รับทราบแผนการลงทุน จากการกลั่นกรองของอนุกรรมการการลงทุนที่เสนอให้เพิ่มการลงทุนนอกตลาด ผ่านกองทรัสต์ Private Equity Trust (PE Trust )

แต่ก่อนหน้านั้น การประชุมบอร์ดประกันสังคม ครั้งที่ 10 /2565 มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด มีรายชื่อผู้ได้รีับการแต่งตั้ง 13 คน แต่ปรากฎชื่อ 2 คนที่น่าสนใจ

หนึ่งในนั้นเป็นอดีตคณะทำงานที่ปรึกษา รมว.แรงงาน อีกคน เป็นนักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองบริหารการลงทุน สปส. โดยเข้าไปเป็นอนุกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการในอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนสินทรัพย์นอกตลาด ปัจจบุันย้ายไป เป็นที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ที่สิงคโปร์ และอำนาจของคณะกรรรมการชุดนี้ มีส่วนตั้งต้น นำไปสู่การซื้อตตึก มูลค่า 7 พันล้านบาท

ปี 2565 มีการประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษาการลงทุน สินทรัพย์นอกตลาด ครั้งที่ 2 /2565 มีมติเห็นชอบการลงทุน Prime Asset และ PE Trust รวมวงเงิน 9,800 ล้านบาท

กองทุนทรัสต์ของ สปส. มีชื่อว่า กองทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน ไพร์ม แอสเซท มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด เข้าซื้อหุ้นบริษัท ไพรม์ เซเว่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท ไพร์ม ไนน์ เรียลเอสเตทฯ หรือชื่อเดิม AGRE101 ในเครือแคส แคปปิตอล (ประเทศไทย) เจ้าของโครงการ Cas Centre ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น SKYY 9 ในปัจจุบัน

มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 6,900 ล้านบาท ประเมินมูลค่าโดยผู้ประเมินราคาอิสระ 2 รายคือ บริษัท ซีพีเอ็ม แคปปิทัล จำกัด ( CPM Capital ) และบริษัท เอ็ด มันด์ ไต แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย ( Edmund Tie) ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

CPM Capital ประเมินสินทรัพย์ SKYY9 ด้วยการประเมินรายได้อยู่ที่ 7,400 ล้านบาท วิเคราะห์ต้นทุนอยู่ที่ 7,800 ล้านบาท

Edmund Tie ประเมินสินทรัพย์ SKYY9 ด้วยการประเมินรายได้อยู่ที่ 7,200 ล้านบาท วิเคราะห์ต้นทุนอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อาคาร SKYY9 เคยระบุมูลค่ารวมไว้ที่ 3,700 ล้านบาท

โดย ก.ล.ต.รับรอง บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์

มีบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ แมนเนจเม้นท์ จํากัด (JLL) เป็นผู้จัดการบริหารอาคาร

บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เป็นโบรกเกอร์หาผู้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและบริหารสินทรัพย์ SKYY 9 มีราคาค่าเช่าในปี 2568 ตกประมาณ 600 บาทต่อตารางเมตร

จากข้อมูล PE ถือเป็นการลงทุนทั่วไปสำหรับกองทุนบำนาญ หรือ Pension Fund ที่มุ่งเรื่องผลตอบแทนสูงกว่าในสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ในตลาด แต่ต้องลงทุนระยะยาว 30-40 ปี แม้มีความเสี่ยง แต่ต้องอยู่ในระดับที่พอรับได้

ขณะที่ สปส.ได้ลงทุน PE ด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต่างจากวิธีการลงทุนทั่วไป โดยปกติควรลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และทำกำไรบ้างในแต่ละกองทุน เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว

ที่สำคัญ “ค่าเฉลี่ยกองทุนบำนาญ” ผู้ถือหน่วยลงทุนจะลงทุนไม่สูงกว่า 15 – 20% ของแต่ละกองทุน PE

พร้อมทั้งกระจายการลงทุนแบบหลากหลายกองทุน เพื่อลดความเสี่ยงในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งอันเป็นเป้าหมายสำคัญ