นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 2560 ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center หรือ RISC) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์ค้นคว้า และพัฒนานวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย
ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต จนเกิดนวัตกรรมที่หลากหลายสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีของผู้คนอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 เป็นต้นไป RISC เตรียมจัด 3 กิจกรรมเพื่อยกระดับบทบาทของศูนย์ในการเผยแพร่องค์ความรู้ให้เกิดการต่อยอดอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมการนำความรู้เชิงลึกไปประยุกต์ใช้จริง
“รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เตรียมจัด 3 กิจกรรม เพื่อขยายแนวร่วมในการสร้าง well-being นำไปสู่ความยั่งยืน สร้างกระแสและกระตุ้นการต่อยอดความรู้ในเชิงวิชาการไปใช้อย่างกว้างขวาง
โดยเน้นเจาะกลุ่มสถาปนิก วิศวกร นักพัฒนาโครงการ นักวิชาการ องค์กร/บริษัท นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจ และต้องการต่อยอดความรู้ไปในหลากหลายด้าน เพื่อมุ่งเน้นความหลากหลายของกิจกรรมให้ครอบคลุมในทุกมิติ ได้แก่
หนึ่ง การเปิดตัวหนังสือ “Sustainnovation” รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย คำนิยามของความยั่งยืน (sustainability) นวัตกรรม (innovation) และตัวอย่างเกณฑ์ชี้วัดความยั่งยืนทั่วโลก พร้อมบทสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 10 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสายอาชีพ
ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และนักวิชาการ มาให้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับคำนิยามดังกล่าว และตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงแนวทางปฏิบัติในการเป็นต้นแบบเพื่อความยั่งยืนให้กับสังคมไทยโดยกว้าง นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ที่น่าสนใจทั่วโลกที่มาช่วยตอบ pain point ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ในรูปแบบที่หลากหลายอย่างที่คาดไม่ถึง
“คำว่า sustainnovation หรือนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเรื่องอธิบายยาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีปัญหาใหม่ ๆ ถี่ขึ้น ฉะนั้น การแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ อาจไม่รอด ต้องปรับวิธีการใหม่ มีการนำเอานวัตกรรมใหม่มาใช้ เช่น การแก้ปัญหา PM2.5 เมื่อวิธีการเดิมแก้ไม่ได้ จึงเกิดนวัตกรรมที่เรียกว่าฟ้าใส (Fahsai) ขึ้นมา เป็นเครื่องฟอกอากาศเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศ
เรามีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนสามารถเพิ่มการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ จนตอนนี้พัฒนาต่อยอดเกิดเป็น ฟ้าใส มินิ ที่มีขนาดเล็กลง เข้าถึงพื้นที่แออัดในเมืองได้ ซึ่งเราตั้งใจพัฒนาใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ทดลองและพัฒนามีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษ นวัตกรรมในรูปแบบนี้สามารถต่อยอดสู่เชิงธุรกิจได้”
สอง เปิดตัวศูนย์วิจัยย่อย 5 ศูนย์ หรือ Research Hubs for Well-being ภายใต้ RISC ดังนี้
1) งานวิจัยด้านคุณภาพอากาศ (Air Quality) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร การดูแลและรักษาคุณภาพภายในอาคารที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารโดยตรง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบให้มีการระบายอากาศที่ดี การเลือกวัสดุที่ปลอดสารพิษ ระบบเครื่องกล ตลอดจนกระบวนการก่อสร้าง ที่ช่วยควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร และจากสภาพอากาศปัจจุบันที่เปลี่ยนไป
2) งานวิจัยด้านวัสดุและการใช้ทรัพยากร (Materials & Resources) การศึกษาและวิจัยวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อผู้ใช้งานอาคาร รวมถึงการใช้วัสดุทดแทนเพื่อลดการใช้ทรัพยากรโลกที่นับวันจะน้อยลงเรื่อย ๆ ได้
ตลอดจนการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาวัสดุใหม่ ทั้งการเพิ่มความคงทนของวัสดุรองรับการใช้งานได้ยาวนาน วัสดุที่มีความปลอดภัยช่วยลดแนวโน้มอุบัติเหตุ วัสดุที่ปลอดสารพิษ ลดแนวโน้มความเจ็บป่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี วัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน
3) งานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Plants & Biodiversity) การศึกษาและวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการลดลงของพื้นที่สีเขียวในเมืองซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม จึงมีการศึกษาและวิจัยให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ควบคู่กับการรักษา
และเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการพัฒนาเมือง สามารถทำได้ไปพร้อมกับการรักษาระบบนิเวศอย่างเข้าใจ และถูกต้องตามวัฏจักรชีวิตของทุกสิ่งมีชีวิต เกิดความสมดุลและสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้
4) งานวิจัยด้านการสร้างความสุขเชิงวิทยาศาสตร์ (Happiness Science) ซึ่งก็จะเป็นการศึกษาความสุขของคนเมืองในบริบทต่าง ๆ ผ่านการศึกษาพฤติกรรมและจิตวิทยาของคนทุกช่วงวัย ด้วยการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ตลอดช่วงชีวิต
ตั้งแต่ผลกระทบของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ การเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ความเครียดและความกังวลของวัยผู้ใหญ่ ความเสื่อมถอยด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ เพื่อหาปัจจัยในการส่งเสริมในแต่ละช่วงวัยให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จนนำความรู้ประยุกต์การออกแบบให้สอดคล้อง และเอื้อต่อการใช้ชีวิต ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างกัน
5) งานวิจัยด้านศาสตร์ความพร้อมรับมือ (Resilience) การศึกษา และวิจัยในปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเมืองและโลกของเรา ทั้งปัญหามลพิษอากาศ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคน สังคม ตลอดจนภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (climate change) เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม
เพราะเราเชื่อว่าอีกไม่นานโลกเราจะอยู่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ทำอย่างไรให้อยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น อยู่กับน้ำท่วมหนักอย่างมีความสุขอย่างไร โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องความสูญเสีย ก็ต้องวิเคราะห์ และวางแผนการสร้างอาคารและเมือง เพื่อสามารถตั้งรับได้ในทุกสถานการณ์
ทั้งการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ การจัดการขณะที่เหตุการณ์รบกวนนั้นกำลังเกิดขึ้น และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์รบกวนนั้นผ่านไปแล้ว เพื่อสร้างการ “อยู่รอด (survive) ปรับตัว (adapt) และเติบโต (grow) ได้
งานวิจัยจาก 5 Research Hubs จะนำมาเผยแพร่เพื่อเกิดการต่อยอดทั้งในด้านองค์ความรู้และการสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้จริงทั้งในโครงการอสังหาริมทรัพย์และต่อยอดไปในหลายด้าน เพื่อร่วมกันสร้าง well-being และความยั่งยืนผ่านงานวิจัยเชิงลึกสู่การประยุกต์ใช้จริงต่อไป
สาม Well-being Engineering Program จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมด้านความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อสร้างกลุ่มคนที่เรียกว่า “New Army of Well-being” หรือ “กองทัพเพื่อความอยู่ดีมีสุข” โดยใช้ความรู้เชิงลึกจากงานวิจัย ซึ่งเคยนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มาแล้วมากมาย
โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ จัดคอร์สอบรมให้กับผู้ที่สนใจ แต่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรม เพื่อให้เขานำองค์ความรู้ไปต่อยอด ด้วยการเน้นให้ข้อมูลเชิง Well-being Engineering และมิติต่าง ๆ ของความอยู่ดีมีสุข ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม
“ที่มาของหลักสูตรนี้ ผมคิดว่าเวลาสร้างอาคาร สำนักงาน เรามักจะเน้นแต่ประสิทธิภาพ เช่น การติดไฟ แสงเป็นอย่างไร ประหยัดหรือไม่ น้ำต้องไหลเท่าไหร่ถึงจะดี มีระบบความปลอดภัยในอาคาร สิ่งเหล่านี้คือเรื่องดี เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องคำนึง
แต่เรายังขาดคนที่ให้ความสำคัญเรื่อง well-being คือการก่อสร้างทั้งหมดนำมาซึ่งความสุขของผู้อยู่อาศัยหรือไม่ ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีหรือเปล่า และควรมีปัจจัยด้านนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจึงอยากสร้างคนกลุ่มนี้”
สำหรับคอร์สรุ่นแรกจะเปิดรับเพียง 40 คนในช่วงต้นปี 2566 โดยเริ่มจากการให้ผู้เข้าอบรม ซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย วิศวกร หรือสถาปนิก ต้องเข้าใจในภาพรวมก่อนว่า ความเป็นอยู่ที่ดีนั้นคืออะไร แล้วจะสร้างได้อย่างไรบ้าง เช่น สร้างอาคารภายในและภายนอกอย่างไรให้คนอยู่แล้วมีความสุข มีสภาพแวดล้อมที่ดี ควบคู่กับประสิทธิภาพของอาคารด้วย