แผ่นแปะปรับสภาพผิวเรียบเนียน คว้าผลงานวิจัยที่น่าลงทุนที่สุดปี 2022

นักวิจัยไทย

Prolifera แผ่นแปะปรับสภาพผิวให้แลดูเรียบเนียน ฝีมือคนไทย คว้าผลงานวิจัยที่น่าลงทุนที่สุดในปี 2022 จากเวที APEC BCG Economy Thailand 2022 

วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าลงทุนประจำปี 2565 ในงานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) ที่จัดโดยองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศกว่า 40 หน่วยงาน ภายใต้แนวคิด ผสานพลัง วทน. เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน (Synergizing STI to Sustainable Business) เพื่อเป็นกิจกรรมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022 Thailand)  

สำหรับเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นที่น่าลงทุน (Investment Pitching) ในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 9 ผลงานจาก สวทช. 4 ผลงาน และพันธมิตร 4 ผลงาน และต่างประเทศ 1 ผลงาน ซึ่งผลปรากฎว่ารางวัลผลงานที่น่าลงทุนที่สุดประจำปี 2565 จากการโหวตจากนักลงทุนและประชาชนที่เข้าร่วมงาน และรางวัลผลงานที่นำเสนอดีที่สุด ได้แก่ “Prolifera แผ่นแปะปรับสภาพผิวให้แลดูเรียบเนียน” ผลงานวิจัยและพัฒนาโดย นางสาวกชกร เอี่ยมวิมังสา และทีมวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ นาโนเทค สวทช.

นางสาวกชกร เอี่ยมวิมังสา

นางสาวกชกร เอี่ยมวิมังสา เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นผลงานที่มีโอกาสทางธุรกิจ และการตลาด เพราะ สวทช.เป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศ และเป็นหน่วยงานที่เปิดให้ทั้งนักลงทุน และประชาชนที่สนใจสินค้านวัตกรรม มาร่วมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้เห็นโอกาสในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกมาก

สำหรับจุดเด่นของ งานวิจัย Prolifera คือ เป็นแผ่นแปะที่พัฒนามาจากการต่อยอดเทคโนโลยี ไมโครนีดเดิล ทำงานด้วย แนวคิด microninjury โดยผ่านการวิจัยและพัฒนา เข็มจิ๋ว ในระดับที่สามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังได้สำเร็จ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในราคาที่คุ้มค่า ไม่มีความเจ็บปวด และมีค่าบริการที่ถูกกว่าการเลือกรับบริการเลเซอร์หรือ microneedling ตามคลินิก 

ADVERTISMENT

แผ่นแปะ Prolifera ได้รับการพัฒนาออกมา 2 แบบคือ เป็นแผ่นแปะสำหรับใต้ตา และแผ่นแปะสำหรับร่องแก้ม โดยให้มีจุดสัมผัสกับผิวหน้าต่อการใช้ครั้งเดียว เทียบเท่ากับการใช้งาน microneedling ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม 10-15 รอบ และได้ผ่านการทดสอบทางคลินิกโดยแพทย์ผิวหนังในอาสาสมัคร ในลักษณะของ Blind test ซึ่งอาสาสมัครจะต้องใช้แผ่นแปะนานครั้งละ 5 นาที ทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากใช้งานแล้วพบว่า ผิวแลดูเรียบเนียนและอ่อนเยาว์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ชมผลงานเพิ่มเติมได้ ที่ www.nstda.or.th/apecbcg-tts2022 

ADVERTISMENT

นางสาวกชกร เอี่ยมวิมังสา