Thailand HR Day เตรียมองค์กรรับความท้าทายใหม่

PMAT

ทุกปีสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand) หรือ PMAT จัดงานวันนักบริหารงานบุคคล (Thailand HR Day) โดยในปีนี้กำหนดจัดงานภายใต้หัวข้องานสัมมนา RE-INVENT HR : Prepare for The Unprepared ในรูปแบบ Hybrid Conference

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 57 ปี แห่งการก่อตั้งสมาคม และเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะโลกปัจจุบันมีแต่สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ Thailand HR Day 2022 ที่จัดขึ้น 11-12 มกราคม 2023 จึงมุ่งเป้าที่จะปลุก passion ให้ผู้นำองค์กร คนทำงาน และฝ่าย HR มีพลังในการเดินหน้าอย่างสร้างสรรค์ ในสภาวการณ์ที่เผชิญความท้าทายรอบด้าน โดยตลอด 2 วันมีมากกว่า 34 หัวข้อ วิทยากรมากกว่า 40 คน ครอบคลุมทั้งวงการ HR แวดวงธุรกิจหลากหลาย อุตสาหกรรม และกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ มาร่วมเจาะลึกทุกความท้าทายด้าน people management รับฟังแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมระดับโลก และมุมมองทางธุรกิจที่สดใหม่จาก CEO บริษัทชั้นนำ

นอกจากนั้น ยังจัดให้มีงานประกาศรางวัล “Thailand HR Innovation Award 2022” ซึ่ง PMAT ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (FTPI) และคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยมีโครงการที่รับรางวัลทั้งหมด 3 ระดับ รวมจำนวน 13 โครงการ จาก 12 องค์กร

เฟ้นหาองค์กรขั้นเทพ

“สุดคนึง ขัมภรัตน์” นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) กล่าวว่า ปีนี้ยังคงเป็นปีแห่งความท้าทายขององค์กรต่าง ๆ ที่มีทั้งเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาของโควิด-19 ความรุนแรงจากปฏิบัติการทางทหารรัสเซีย-ยูเครน มลพิษทางสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งด้านการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม การปฏิวัติทางดิจิทัล เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดโฟกัสในทางธุรกิจ และส่งผลถึงแนวทางการทำงานของ HR ในอนาคต หนึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวช่วยให้องค์กรต่าง ๆ พลิกความท้าทายสู่การสร้างโอกาสคือ การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ องค์กรต้องเตรียมพร้อมรับสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตั้งรับเอาไว้ เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอย ธุรกิจต้องเจอความท้าทายรอบด้าน งาน HR ต้องพลิกโฉมก้าวทันไปพร้อมธุรกิจ”

สำหรับรางวัล Thailand HR Innovation Award 2022 ปีนี้ มี 3 องค์กรที่ผ่านเข้ารอบมาได้ถึงระดับ Gold Award (550-750 คะแนน) และ 9 องค์กรเกาะกลุ่มกันมาในระดับ Silver Award (300-500 คะแนน) และหลายปีมานี้ยังไม่มีองค์กรใดไต่ขึ้นไประดับสูงสุด Diamond Award (800-1,000 คะแนน) เพราะต้องเป็นเทพจริง ๆ และต้องได้ทุกเกณฑ์คะแนน 5Is (initiative, involvement, implementation, integration, impact) ไม่ต่ำกว่า 80% จึงถือเป็นอีกความท้าทายก้อนใหญ่สำหรับบรรดา HR

Advertisment

โดยผู้ที่ได้รับ รางวัล Gold Award ได้แก่ WEDO จาก SCG Cement-Building Materials Co., Ltd. โครงการ WEDO Young Talent Program, บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงการ Building the Next-Generation IT Digital Workforce, และบริษัท ซีพีพีซี จำกัด (มหาชน) โครงการ ซีพีพีซี ใส่ใจห่วงใยคุณ

รางวัล Silver Award ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการ New Experience in Recruitment on Metaverse, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการ BCP Digital Driven for 100X Citizen Developer, บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด โครงการวัยทำงานจัดการเงิน สู่วัยเรียนเซียนเก็บเงิน, บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด โครงการพร้อมเพื่อน (เราพร้อมเป็นเพื่อนคุณ), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โครงการ Holistic Career Development, ธนาคารออมสิน โครงการ GSB HAPPY POINT : POINT สร้างสุข, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายด้วย Si-eHR Portal, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) โครงการ Better Futures (of Work), และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โครงการ แบ่งปัน ‘ทีเด็ด’ เพื่อบุคลากรและสังคม ‘อิ่มรู้’ (Kitchen of Knowledge)

Advertisment

รางวัลชมเชย ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) โครงการ Excellent Labor Relations with a Great Organization

เสียงจาก CEO

“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Voice of CEO : 2023 HR Challenges in CEO Perspective ว่า HR ควรฟังเสียงของลูกค้าให้รอบทิศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อกับผู้นำขององค์กรให้เข้าใจตรงกันเป็นเรื่องสำคัญมาก

“HR ในอนาคตจะต้องเข้าใจทิศทางและรูปร่างหน้าตาของความท้าทายในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ตัวเองดำรงอยู่ มิใช่เพียงเพื่อรับมือกับการรักษาพนักงานเอาไว้ให้ได้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับการกำหนดกลยุทธ์ที่พร้อมป้องกันความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อองค์กรของเราเอาไว้

การทำความเข้าใจมุมมองของผู้บริหาร จะช่วยให้ HR วางแผนและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้ทันเวลา มาร่วมกันทำความเข้าใจกับความท้าทายในมุมมองของ CEO เพื่อพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และร่วมคิดเพื่อเตรียมสร้างระบบและการบริหารงานในด้านทรัพยากรบุคคลที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้”

ต้องปรับ HR ครั้งใหญ่

“ศ.เดฟ อุลริช” นักเขียน นักพูด โค้ชด้านการจัดการ อาจารย์ที่ Ross School of Business ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน และผู้ร่วมก่อตั้งของ RBL กล่าวในหัวข้อ Reinventing HR’s future : Value creation, contribution, and HR work ว่า HR ไม่ใช่ทำงานเฉพาะ HR แต่ต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า เจ้าของกิจการ และสังคม ช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในธุรกิจ เพราะถ้าไม่มีธุรกิจ ก็ไม่มีบุคลากรให้ HR อีกต่อไป

ถึงเวลาต้องปรับใหญ่สำหรับ HR เพื่อให้งานของ HR สร้างผลกระทบในวงที่กว้างขึ้น สร้างโอกาสให้องค์กรมากยิ่งขึ้น โดยจากผลการสำรวจมากกว่า 28,000 ราย ในหลากหลายองค์กรทั่วโลก และจากประสบการณ์ พบว่า HR ต้องพลิกโฉม 3 ด้าน ได้แก่

1.สร้างคุณค่าให้กับลูกค้า นักลงทุน และชุมชน : งานของ HR ต้องสร้างผลลัพธ์ในวงที่กว้างขึ้นให้กับลูกค้า เจ้าของกิจการ และสังคม ซึ่งการทำงานแบบเดิมนั้นให้ผลลัพธ์เช่นนี้ไม่ได้

2.การสนับสนุนความสามารถของบุคลากร : บทบาทของ HR ในด้านการพัฒนาศักยภาพต้องครบถ้วนทั้งการพัฒนาศักยภาพคนเก่ง ศักยภาพองค์กร และศักยภาพผู้นำ จะทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

3.HR for HR : แผนกทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคลที่ดีขึ้น ต้องพัฒนางาน HR ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ใช้ข้อมูลมากขึ้น และต้องเร่งพัฒนาคน HR ให้เร็วมากขึ้น

กลยุทธ์ด้านแรงงาน

“ดร.ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์” หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ Effective Workforce Design for the New World of Work ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังที่แตกต่างจากพนักงานกำลังส่งผลกระทบต่อองค์กรตลอด value chain

“กลยุทธ์ด้านแรงงาน (workforce strategy) ที่เหมาะสมมีความสำคัญมาก เนื่องจากองค์กรในปัจจุบันมุ่งมั่นที่จะส่งมอบตามหน้าที่ ภารกิจ และ ESG ในเวลาเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อปรับต้นทุนให้เหมาะสมและเพิ่มผลผลิตสูงสุด ณ เวลานี้เป็นยุคแห่ง “purpose” คนทำงานต้องการทำงานกับนายจ้างที่แสดงถึงความเอาใจใส่

พวกเขายังต้องการให้องค์กรที่พวกเขาทำงานให้ดำเนินตาม purpose ค่านิยม และวัฒนธรรมขององค์กรด้วย workforce strategy มุ่งเน้นให้เกิดความยืดหยุ่น สามารถปรับตามสถานการณ์ได้ และอาศัยข้อมูลเชิงลึกประกอบ ดังนั้น เพื่อให้องค์กรมีกลยุทธ์ด้านกำลังคนที่สามารถแข่งขันและสนับสนุนกิจกรรมในอนาคต HR ไม่อาจปฏิเสธการเรียนรู้เทคนิค วิธีการ เครื่องมือ และแสวงหาความรู้จากองค์กรที่เป็นต้นแบบได้”

นับเป็นข้อคิดจาก Thailand HR Day เพื่อองค์กรรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้