18 ปี TK Park ห้องสมุดเดียวตอบโจทย์ทุกการเรียนรู้

กิตติรัตน์ ปิติพานิช
กิตติรัตน์ ปิติพานิช

นับจากปี 2548-2566 สถาบันอุทยานการเรียนรู้เดินทางมาถึง 18 ปีเต็ม ด้วยภารกิจ “สร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้” ผ่านสื่อ หนังสือ และกิจกรรม พร้อมกลยุทธ์เชิงรุกนำการเรียนรู้ส่งถึงมือผู้คนในสังคม ทั้งยังใช้นวัตกรรมสร้างระบบเชื่อมโยงโครงข่าย TK Park ทั่วประเทศในการปั้นแพลตฟอร์ม “ห้องสมุดเดียว” เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกสามารถยืม-คืนหนังสือข้ามสาขาได้

พร้อมกับเตรียมนำ “ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ” ที่บรรจุหนังสือกว่า 300 เล่มมาให้บริการครั้งแรกย่านใจกลางเมืองประมาณช่วงกลางปี ขณะเดียวกัน ยังดึง big data มาใช้ประมวลผลสร้างกิจกรรม-การเรียนรู้-คอร์สเทรนนิ่งที่มากกว่าการอัพสกิล และรีสกิล เพื่อตอบโจทย์การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจของผู้คนทุกช่วงวัย

โดยตั้งเป้าสร้างเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตามแนวทางของยูเนสโกเพิ่มขึ้น และในปีนี้ยังเตรียมพร้อมเพิ่มจำนวนเครือข่ายใหม่ ๆ ร่วมกับทรู ดิจิทัลพาร์ค ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเทศบาลเมืองพะเยา

ADVERTISMENT

“กิตติรัตน์ ปิติพานิช” ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ปี 2566 TK Park ยังคงเดินหน้าสานต่อการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้มาตอบโจทย์พื้นที่การเรียนรู้ที่ผู้คนในสังคมต้องการ จึงลงทุนเพิ่มในเรื่องนวัตกรรมระบบโครงข่ายเชื่อมโยงข้อมูล big data ของ TK Park ทั่วประเทศ

จนนำมาสู่การพัฒนาคุณภาพบริการ เติมเต็มสิ่งที่ประชาชนต้องการเรียนรู้และนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ รวมทั้งยังสร้างบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวของ TK Park ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ด้วยแพลตฟอร์ม “ห้องสมุดเดียว” อำนวยความสะดวกให้สมาชิกสามารถยืม-คืหนังสือข้ามห้องสมุดได้

โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถยืมหนังสือจากกรุงเทพฯ และผู้ใช้บริการที่กรุงเทพฯสามารถยืมหนังสือจาก TK Park ในต่างจังหวัดได้ โดยผ่านระบบตะกร้ากลางควบคู่กับบริการ book delivery ที่สามารถส่งและคืนหนังสือตลอดเวลา

ADVERTISMENT

สำหรับส่วนของกลยุทธ์ที่ TK Park ปักธงให้ความสำคัญในปีนี้คือ

ADVERTISMENT

หนึ่ง เดินหน้าขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร, ทรู ดิจิทัลพาร์ค และกลุ่มหอการค้า (YEC) โดยจากนี้ไปจะมีความร่วมมือเพิ่มเติมกับภาคเอกชนอีกหลายราย เพราะการส่งเสริมการเรียนรู้ทำเพียงลำพังจะทำให้ไปสู่เป้าหมายยาก การลงทุนใหม่ทุกอย่างอาจไม่ใช่คำตอบ แต่การพยายามหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำได้ดีอยู่แล้ว หรือมีประสบการณ์แล้ว เราจึงไปร่วมมือทำให้การสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น

“เดือนกุมภาพันธ์จะเปิดบริการ TK Park สาขาใหม่ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ ซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานและโครงการธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนเทคโนโลยี และสตาร์ตอัพแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนสุขุมวิท นับเป็นครั้งแรกของการเปิดสาขา TK Park ในพื้นที่กรุงเทพฯ

และปีนี้ เราเตรียมพร้อมเปิด TK Park ที่สวนสาธารณะเกาะลำพู ในตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ TK Park ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา รวมถึงผลักดันให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ learning city เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางยูเนสโก ที่ TK Park จะร่วมผลักดันกับเครือข่ายทุกจังหวัดในการส่งเสริมให้ทุกที่เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้”

สอง การขยายพื้นที่การเรียนรู้ จากนี้ TK Park จะยิ่งรุกหนัก และเข้าหาประชาชนมากขึ้น นอกเหนือจากผ่านช่องทางการสื่อสารแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งยังมีการขยายเพิ่มการเข้าถึงพื้นที่กายภาพ โดยในช่วงกลางปีคาดว่าจะเปิดให้บริการตู้ยืม-คืน หนังสืออัตโนมัติที่มีหนังสือกว่า 300 เล่ม โดยเปิดบริการตลอด 24 ชม.

สาม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในทุกกลุ่ม เนื่องจาก TK Park มีหนังสือ สื่อ องค์ความรู้ และมีการฝึกอบรมตามแนวทาง train the trainers เพื่อขยายผลองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้น โครงการต่าง ๆ จะดำเนินการผ่านการเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล จนเกิดเป็นโซลูชั่นที่ตรงกับความสนใจของคนแต่ละกลุ่ม

เช่น โครงการแนะแนว สำหรับชี้เส้นทางอนาคตเด็กมัธยม และต่อไปจะมีการพัฒนากลุ่มเป้าหมายของโครงการไปสู่กลุ่มคนทำงานที่อยากพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ, การต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ หรือเสริมเรื่อง design thinking และกลุ่มคนวัยเกษียณที่ต้องการแนะแนวเส้นทางการใช้ชีวิตและการพัฒนาตัวเองด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ “กิตติรัตน์” ยังกล่าวถึงทิศทางต่อไปของ TK Park ว่า ปัจจุบันกระแส sharing economy กำลังมาแรง โดยเฉพาะในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ใช่แค่การแชร์หนังสือแลกกันอ่าน แต่ยังรวมถึงการแชร์สิ่งของที่ผู้คนใช้กันไม่บ่อย เพื่อช่วยลดการซื้อของเข้าบ้าน TK Park จึงคิดนำระบบการแชร์หนังสืออ่านด้วยกันมาใช้ รวมถึงการให้ยืม “ของเล่น” ที่เหมาะกับเด็กในช่วงวัยต่าง ๆ

โดยผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องซื้อ เพื่อเป็นการเดินหน้าสู่คอนเซ็ปต์เปลี่ยนห้องสมุดจาก public space ให้เป็น people space คือถ้าเราอยากให้ห้องสมุดเป็นที่ต้องการของผู้คน เราต้องทำตัวให้เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้คนมากขึ้น ต้องตอบโจทย์กับสิ่งที่คนสนใจให้ได้ ต้องรู้จักคิดต่อยอด เช่น ในย่านที่ห้องสมุดตั้งอยู่นั้น มีอะไรโดดเด่นในพื้นที่ เราควรหยิบอะไรออกมาใช้เพื่อจะได้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ

“ทักษะที่จะทำให้คนเราอยู่รอดได้ท่ามกลางอุปสรรค และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาคือ transferable skill ซึ่งเป็นทักษะที่ส่งต่อผู้คนให้รู้จักนำไปใช้ในการแก้ปัญหา และหาคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกวัน

ที่สำคัญ TK Park ยังสนับสนุนการเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุด เราจึงพยายามสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลก การที่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง อยากรู้เรื่องใดก็ค้นคว้าหาความรู้ เพราะปัจจุบันแนวโน้มคนเราเริ่มรู้เส้นทางการเรียนรู้ที่เขาอยากเป็นเพิ่มมากขึ้น TK Park จึงเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงการเรียนรู้มากขึ้น”

อันจะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างแท้จริง