กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และดีแทค ร่วมกำหนดกรอบความร่วมมือเพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวห้องแชท “Stop Bullying” อย่างเป็นทางการ มุ่งสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย
“ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น โดยข้อมูลจากงาน Thailand Social Award 2017 พบว่า คนไทยมีการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook จำนวนประมาณ 47 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 15%) Line จำนวนประมาณ 41 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 41%) Instagram จำนวนประมาณ 11 ล้านคน และ Twitter จำนวนประมาณ 9 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 70%)
และจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 89.8% ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือวัยรุ่น โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และเปิดเผยความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกล่อลวงทางโลกออนไลน์มากขึ้น
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตามยังอาจมีผลทางด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวง โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดงานประชุมสัมมนาสานพลังป้องกัน Cyberbullying เพื่อรวบรวมสถานการณ์และความคิดเห็นในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับสังคมดิจิทัล
และปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เน้นแนวทางในการปฏิบัติการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรภาคีร่วมโครงการ “Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน” และเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผ่าน Stop Bullying Chat Line จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์
“ดร.พิเชฐ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับดีแทคในครั้งนี้ กระทรวง โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประสานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในการให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางเทคนิคสำหรับการส่งต่อกรณีที่มีการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ โดยขอความร่วมมือ ปอท. ในการให้คำปรึกษาในช่วงเวลา 16.00 – 22.00 น.
พร้อมกันนี้ ยังร่วมกันให้บริการคำปรึกษา/ แนะนำ Stop Bullying Chat Line ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยผ่านกิจกรรมยุวทูตในโรงเรียน
นอกจากนี้ กระทรวง และดีแทคจะร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู/ อาจารย์ และเด็กและเยาวชน และประสานการดำเนินงานในการนำหลักสูตรดังกล่าวบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทางเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้ ได้มีหลักสูตรการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy Curriculum) ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิทัล สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และกรณีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นควรทำอย่างไร
นอกจากการดำเนินงานข้างต้น กระทรวงฯ ยังมีกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน
ดังนั้น หากมีกิจกรรม หรือ โครงการที่เป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ก็สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวได้อีกด้วย
ด้าน “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้วางตำแหน่งด้านการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน (Child-friendly Business) สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible business) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานของดีแทค โดยถูกกำหนดอยู่ในกลยุทธ์บริษัท และในฐานะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้ตระหนักถึงบทบาทการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย จึงได้ริเริ่มโครงการ Safe Internet ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชน
โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดี ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทค ได้เดินสายโร้ดโชว์ให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียนประถมปลายกว่า 50 แห่ง เพื่อจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้และสอนวิธีการรับมือหากถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 27,000 คน
สำหรับบริการห้องแชท Child Chat Line ที่ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ขอคำปรึกษาจำนวน 278 คนและมีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 40,000 ครั้ง สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประชากรอินเทอร์เน็ตไทย
“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั้น จำต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเอกชน ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและดีแทคในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการตระหนักถึงการสร้างสภาพแวดล้อมอินเทอร์เน็ตที่ดี ตลอดจนความร่วมมือในอนาคตอีกด้วย”
ในขณะที่ “รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล” หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัก 13 ประเทศทั่วโลก พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 34.6% เคยแกล้งผู้อื่นและ 37.8% เคยถูกกลั่นแกล้ง และ 39% เข้าไปร่วมวงในเหตุการณ์กลั่นแกล้งนั้นด้วย ทำให้พฤติกรรม Cyberbullying ขยายวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์แปรผันตรงกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตถึง 4.8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย โดยใช้ยูทูปมากที่สุด รองลงมาคือไลน์และเฟซบุ๊ก
โดย 47% ของผู้ตอบสอบถามระบุว่าเคยแชทกับคนแปลกหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 56% เป็นเพื่อนกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อนในสื่อสังคมออนไลน์ 65% เคยให้เพื่อนใช้มือถือขณะที่ยังล็อกอินอยู่บยโซเชียลมีเดีย 28% เคยลืมล็อกเอ้าท์หลังจากใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ และ 6.5% เคยนัดพบกับคนแปลกหน้า นอกจากนี้ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังบอกว่ามีคนอื่นรู้รหัสผ่านของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นเพื่อน
กลุ่มที่กลั่นแกล้งผู้อื่นยังมีพฤติกรรมเกเร สมาธิสั้น มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้ พฤติกรรมการติดสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้กลั่นแกล้ง ผู้ถูกหรือแม้แต่ผู้ที่ร่วมแชร์หรือกดไลค์ (Bystander)
“พฤติกรรมการรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การออกไปพบกับคนแปลกหน้า การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การอัดคลิปตัวเองโพสต์ลงออนไลน์ การให้คนอื่นรู้รหัสส่วนตัว พฤติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำต้องทำอย่างบูรณาการ มององค์รวมไปถึงต้นตอ อันได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ปลอดภัย (Safe Internet) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการร่วมแก้ปัญหา