HR TECH 2023 AI พลิกโฉมมนุษย์ทำงานในองค์กร

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา-ดร.ชนนิกานต์ จิรา-ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา-ดร.ชนนิกานต์ จิรา-ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต

ปิดฉากลงเรียบร้อยแล้วสำหรับงาน Thailand HR Tech Conference 2023 ตลอด 2 วัน ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 12,000 คน จาก 2,800 องค์กร โดยมีผู้ร่วมฟังสัมมนากว่า 100 หัวข้อ ที่เจาะลึกถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของ HR TECH ในยุคดิจิทัล จากผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง ทั้งผู้บริหาร ผู้คนในแวดวง HR และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพ ที่มาแบ่งปันมุมมองต่ออนาคตของการทำงานยุคใหม่

ดังตัวอย่างไฮไลต์ของงานคือ Al and the Future of Work : Opportunities and Challenges for Business Leaders ซึ่งมี “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มาร่วมพูดคุย

นอกจากนั้น ยังมีหัวข้อ Building Future Ready Organizations : Talent Enablement in the Age of Digital Disruption โดย “ดร.ชนนิกานต์ จิรา” ผู้อำนวยการ True Digital Academy,

และหัวข้อ The Digital Economy : What it is and why it is the future of business โดย “ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต” รองผู้อำนวยการ/Chief Operation Officer กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

Al กับอนาคตการทำงาน

“จิรายุส” กล่าวว่า เราทุกคนกำลังเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต 3.0 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจากยุค 2.0 โดยในยุคนี้อินเทอร์เน็ตจะลงมาจากท้องฟ้าผ่านการใช้ดาวเทียม และจะพบกับการใช้งาน AI ที่ช่วยเพิ่มทักษะทางเทคนิคให้กับทุกคนในระดับเท่าเทียมกัน Bitkub เกิดขึ้นในยุค block chain มีบทบาทสำคัญในการให้คุณค่าแก่สังคม

เพราะทำให้คนสามารถเข้าถึงคุณค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล และสามารถส่งถึงกันทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ทางการเงิน เช่นเดียวกับที่มีในโลกแบบดั้งเดิม แต่เมื่อพูดถึง AI ถือเป็นเครื่องมือที่มีความสามารถอย่างหลากหลาย ไม่เพียงแค่คำนวณตัวเลขเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานอื่น ๆ เช่น วาดภาพและทำกราฟิกได้ด้วย

Advertisment

“AI ได้รับการฝังเข้าไปในแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งสร้างผลกระทบที่ใหญ่มาก และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เพื่อให้งานทำได้มากขึ้น ดังนั้น เราสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์ขององค์กรได้โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ที่ต้องการให้องค์กรทำมากขึ้นด้วยทรัพยากรน้อยลง (do more with less)

เช่น หากบริษัทมีพนักงาน 50 คน สามารถทำงานเทียบเท่ากับมีพนักงาน 10,000 คน โดยใช้ความสามารถร่วมกันระหว่างมนุษย์ และ AI เหมือนเช่นมนุษย์และเครื่องจักรที่เคยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ในยุคใหม่คือเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในชั้นของงานที่เรียกว่า white collar”

Advertisment

ดังนั้น ในอนาคตจะมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือ การใช้ทรัพยากรทางด้านสมองมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น บล็อกเชน พิมพ์สามมิติ อินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างปัญญาประดิษฐ์ ฉะนั้น บริษัทที่ไม่ใช้ AI ในที่สุดจะแพ้บริษัทที่ใช้ AI และที่สำคัญควรระมัดระวังด้านประเด็นที่ไม่ดีของ AI ด้วย

ดร.ชนนิกานต์ จิรา
ดร.ชนนิกานต์ จิรา

สร้างบุคลากรรองรับอนาคต

“ดร.ชนนิกานต์” กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้องค์กรที่มีความพร้อมในอนาคต คือการมีโครงสร้างองค์กรเหมาะสม วัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง การกระจายอำนาจให้คนตัดสินใจอย่างรวดเร็ว การใช้ข้อมูลในการดำเนินงาน และการพัฒนาความสามารถบุคลากร คนในองค์กรมีค่ามากกว่าเงินทุน

ดังนั้น การพัฒนาคนให้พร้อมรับมือกับอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติ คนเก่งเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม และสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม องค์กรไม่ควรจัดการและบริหารคนเก่งเพียงแค่ระดับหัวกะทิ แต่ควรหาวิธีที่จะสร้างทีมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และขยายโอกาสให้คนเก่ง เพื่อคนเก่งจะได้ไม่ต้องทำงานอย่างโดดเดี่ยว

ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ต่างเกี่ยวข้องกับ “ทัศนคติ” 6 ประการที่เข้ามาช่วยพัฒนา “คน” สำหรับความพร้อมในอนาคตคือ

หนึ่ง agility มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามสภาวะและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการทำงานและในสังคม

สอง data-driven การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และการดำเนินงาน ควรเรียนรู้ และเพิ่มทักษะในการเข้าถึง และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจที่มีเหตุผล และเป็นไปตามข้อมูลที่เป็นหลัก

สาม experiment thinking การคิดเชิงทดลอง การมีความคิดเปิดกว้าง และกล้าที่จะเรียนรู้จากผลลัพธ์ของการทดลองในการดำเนินการและแก้ไขปัญหา

สี่ learning ability ความสามารถในการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง เราควรเป็นผู้รับผิดชอบในการอัพเดตความรู้ และทักษะใหม่ ๆ เพื่อที่จะทำงานได้เป็นอย่างดีในอนาคต

ห้า inclusiveness ความเป็นกลาง การเปิดโอกาส และการรับฟังทุกคนในการแก้ไขปัญหา และการทำงานร่วมกัน

หก curiosity การมีความกระตือรือร้นสืบสานความรู้และค้นคว้าในเรื่องต่าง ๆ

“นอกจากนี้ World Economic Forum ระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทักษะอย่างรวดเร็ว โดย 44% ของคนทำงาน จะต้องเปลี่ยนแปลงทักษะเพื่อการทำงาน ดังนั้น จึงต้อง reskill และสิ่งที่สำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ การรู้เทคโนโลยี การใช้ปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลขนาดใหญ่ การคิดอย่างวิเคราะห์ และคิดสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมตัวเราให้พร้อมสำหรับอนาคต”

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต

ปรับตัวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

“ดร.รัฐศาสตร์” กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ หนึ่ง การเข้าถึงดิจิทัล (digital access) ไม่ใช่เพียงแค่การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่หมายถึงระบบที่ทั้งหมดสามารถเข้าถึงทางออนไลน์ ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาดิจิทัล

สอง การเชื่อมต่อดิจิทัล (digital connectivity) ข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สาม ข้อมูล (data) เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานดิจิทัล เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นพื้นฐานสำหรับการตัดสินใจ และการวิเคราะห์เชิงลึก สี่ การอัตโนมัติดิจิทัล (digital automation) เป็นกระบวนการทำงานที่ถูกโปรแกรมให้ทำงานอัตโนมัติ การอัตโนมัติดิจิทัลช่วยลดความเชื่อมั่นที่มาจากมนุษย์ และลดความผิดพลาดในกระบวนการ

ห้า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นดิจิทัล (digital transformation) อันเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผลวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยเปรียบเทียบไทยกับรถตุ๊กตุ๊กที่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อน 3 ล้อ แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 3 รุ่น คือ 1.0 เริ่มใช้อีเมล์และมีเว็บไซต์ ต่อมา 2.0 เริ่มมีระบบ POS, 3.0 ระบบการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ใช้ข้อมูล และ 4.0 การใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

“ภาพรวมของ digital transformation ของอุตสาหกรรมการผลิตขนาดเล็กในประเทศไทย มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับ 1.0 เนื่องจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดกลางใช้ดิจิทัลในการทำงานประมาณ 30-40% ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า เราคาดว่าสถานการณ์ในธุรกิจขนาดเล็กจะยังคงคล้าย ๆ แบบเดิมทั่วไป คือทำงานแบบดั้งเดิม

แต่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นที่ประมาณ 2% ส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นในระดับ 2.0 ถึง 4.0 ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และเงินทุนมากกว่า 23% จะทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด”

ทั้งนี้ ในกลุ่มท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งรวมถึงการขนส่ง การจองห้องพัก และกิจกรรมท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มกิจการที่ใช้ดิจิทัลเกือบ 100% ภายในอีก 5 ปี ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะเริ่มปรับตัวตามมา เช่น ร้านอาหารและสปา ดังนั้น คนที่ทำงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะเริ่มพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น

ที่สำคัญ ในอีก 5 ปีข้างหน้าควรจัดกำลังคนทำงานในลักษณะเป็น developer based โดยแบ่งเป็น digital based อย่างน้อย 1 ใน 4 ของจำนวนคนในองค์กร เพื่อสร้างแพลตฟอร์ม สร้างข้อมูลต่าง ๆ ในการทำงาน ขณะที่คนทำงานหน้างานอาจลดลงจาก 60 คน เหลือ 46 คน ซึ่งเป็นความท้าทายของ HR เพราะคนทำงานด้านดิจิทัลหายาก จึงต้อง engage, retain, reskill, upskill”

นับว่าโลกของการใช้ดิจิทัลกำลังขับเคลื่อนประเทศ และข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น HR ควรเป็นทีมหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรทั้งระบบ