หัวใจล้มเหลว “APSC” ผนึก “แพทย์” ทั่วเอเชียแปซิฟิก ยืดอายุผู้ป่วย

หัวใจ
Photo: Robina Weermeijer/unsplash

ภัยเงียบ “หัวใจล้มเหลว” APSC ผนึกแพทย์ทั่วเอเชียแปซิฟิก ยืดอายุผู้ป่วย เพราะโรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก

โดยจำนวนทั้งหมดของผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจบนโลก ครึ่งหนึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ระหว่างปี 2533-2562 การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดทั่วเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้น 12% ตัวเลขในปี 2562 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 10.8 ล้านคน คิดเป็น 58% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก

ด้วยความน่ากลัวของโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดการรวมตัวของคณาจารย์ แพทย์ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านการแพทย์ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และภูมิภาคอื่น ๆ ผ่านงาน The Asian Pacific Society of Cardiology (APSC) Congress อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นเวทีชั้นนำสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การศึกษาต่อเนื่อง และการนำเสนองานวิจัยใหม่ ๆ ในด้านของโรคหัวใจทั่วไป การถ่ายภาพด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการถ่ายภาพอิเล็กโทรสรีรวิทยา การผ่าตัดหัวใจ และโรคหัวใจในเด็ก

สำหรับปีนี้ Singapore Cardiac Society เป็นเจ้าภาพจัดงาน APSC Congress ครั้งที่ 27 ในสิงคโปร์ วันที่ 13-15 กรกฎาคม 2023 โดยงานดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) เป้าหมายที่ 3 ในประเด็น good health ทั่วโลก และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี รวมถึงมาตรการป้องกัน และการดูแลสุขภาพที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน ทั้งนี้ “Roche” (โรช) เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาคเอกชนที่สนับสนุน APSC Congress 2023 ด้วย

นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์
นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์

“นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์” อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกรรมการสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศไทย ตัวแทนแพทย์โรคหัวใจจากประเทศไทยที่เข้าร่วมงานประชุม APSC กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคหัวใจ เป็นอาการที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

Advertisment

ภาวะหัวใจล้มเหลววินิจฉัยยาก เนื่องจากอาการไม่เฉพาะเจาะจง และในระยะแรกอาจไม่มีใครสังเกตเห็น แต่หลังจากนั้นอาจมีอาการหายใจไม่อิ่ม, ขา ท้อง ข้อเท้า และเท้าบวม, เหนื่อยล้า เป็นต้น

และเมื่อถ่ายภาพหัวใจจะพบว่า หัวใจของคนที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวจะมีขนาดโตกว่าหัวใจปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติ โดยพบประมาณ 1% ในประชากรทั่วไป และพบ 10% ในผู้ที่อายุมากกว่า 70 ปี

Advertisment

“ประมาณ 50% ของคนไข้ภาวะหัวใจล้มเหลวทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย เสียชีวิตภายใน 5 ปีหลังได้รับการวินิจฉัย แต่ในรายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และต้องนอนโรงพยาบาล มีอัตราการเสียชีวิต 5% ขณะนอนโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

แบ่งเป็น 1.การดูแลตัวเองของผู้ป่วย 2.การรักษาด้วยยา 3.การรักษาโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น การปลูก ถ่ายหัวใจ โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา องค์ความรู้ใหม่ที่ช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ยากลุ่ม angiotensin receptor/neprilysin inhibitor (ARNI), sodium/glucose cotransporter-2 inhibitors (SGLT2i)”

ปัจจุบันมีเทคโนโลยี biomarker ที่สามารถตรวจหาภาวะหัวใจล้มเหลวจากโปรตีนที่หลั่งออกมาจากหัวใจสู่กระแสเลือด เรียกว่า NT-proBNP เป็นการตรวจเลือดหาโปรตีนที่บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ โดยโปรตีนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเมื่อหัวใจทำงานหนัก ถ้าหัวใจกำลังทำงานหนักอย่างมากเท่าไหร่ โปรตีนชนิดนี้จะออกมามาก และเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้มีอยู่แล้วในหลายโรงพยาบาล

รศ.เดวิด ซิม
รศ.เดวิด ซิม

“รศ.เดวิด ซิม” หัวหน้าและที่ปรึกษาอาวุโส National Heart Centre ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ระหว่างปี ค.ศ. 1990-2019 การเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้นจาก 23% เป็น 35%

ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประมาณ 9 ล้านคนเป็นโรคหัวใจล้มเหลว การที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน กำลังผลักดันให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเกี่ยวข้องกับภาระทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก โดยมีการประมาณค่ารักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวในเอเชีย-แปซิฟิก รวมกว่า 48 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการสำรวจออนไลน์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (APSC) พบช่องว่างและความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอีกมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระบบนิเวศของการรักษาโรคภาวะหัวใจล้มเหลวในเอเชีย-แปซิฟิก ดังนี้

หนึ่ง awareness (ตระหนักรู้) ผู้ป่วยมักเข้ารับการรักษาเมื่อภาวะหัวใจล้มเหลวลุกลาม เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงินและชีวิต โดยคนขาดความรู้สาธารณะ และความตระหนักเกี่ยวกับโรคหัวใจถึง 76% และขาดความรู้ทางการแพทย์ปฐมภูมิ 67% ทำให้ถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญล่าช้า 71%

สอง diagnosis and risk assessment (การวินิจฉัยและการประเมินความเสี่ยง) การเข้าถึงอุปกรณ์และเครื่องมือวินิจฉัยเฉพาะทางมีจำกัด ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัย ทั้งนี้ การทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อการวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญ

เพราะเป็นการประเมินที่ครอบคลุมภาวะหัวใจล้มเหลว โดยตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหัวใจ เช่น NT-proBNP สามารถช่วยให้เห็นภาพทางคลินิกที่สมบูรณ์ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในระดับสูงมักจะบ่งชี้ว่าหัวใจไม่ได้สูบฉีดเลือดมากเท่าที่ร่างกายของคุณต้องการ

สาม availability of treatment (ความพร้อมในการรักษา) ขาดแนวทางการรักษาทางการแพทย์สามารถทำให้อาการโรคหัวใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น

สี่ discharge & follow-up care (การปล่อยกลับบ้านและติดตามดูแล) ขาดโปรโตคอล และการขาดการรักษาที่เหมาะสม จึงนำไปสู่การรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ ๆ และได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดี

โดยพบว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขาดโครงสร้างพื้นฐานในการติดตามผู้ป่วยระยะยาว 53% และมีผู้ป่วยมากถึง 15% เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกครั้งภายใน 30 วัน หลังจากระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 5 ถึง 12.5 วัน

ศ.อเล็กซานเดร เมบาซ่า
ศ.อเล็กซานเดร เมบาซ่า

“ศ.อเล็กซานเดร เมบาซ่า” หัวหน้าภาควิชาวิสัญญีและการดูแลผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาล Lariboisiere กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า มีการคิดค้นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภาวะหัวใจล้มเหลวที่เรียกว่า STRONG-HF เพราะเล็งเห็นว่าผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

โดย STRONG-HF ได้รับการออกแบบมาเพื่อประเมินความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอย่างรวดเร็ว และการติดตามผลอย่างใกล้ชิดมากขึ้นจากการดูแลตามปกติ สูตรการรักษาแบบ STRONG-HF ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุใน 180 วัน หรือการกลับมารักษาซ้ำของภาวะหัวใจล้มเหลว

เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ โดยมีการตรวจติดตามระดับ biomarker NT-proBNP อย่างสม่ำเสมอ

เพราะภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นปัญหาสุขภาพที่เป็นภัยเงียบ และต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน มีค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ไปจนถึงการดำเนินการที่สร้างแรงบันดาลใจ เราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ปรับปรุงการตรวจพบในระยะเริ่มต้น และการจัดการโรคหัวใจล้มเหลวเพื่อยืดอายุผู้ป่วยและสนับสนุนระบบสุขภาพ

ดังนั้น การมีเครื่องมือวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเชื่อมช่องว่างการจัดการกับภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงการใช้ไบโอมาร์กเกอร์ NT-proBNP ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อสถานการณ์