สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ 2nd NIC-NIDA Conference, 2023 ภายใต้ธีม “New Frontiers of Sustainable Development through Designing and Implementing Re-globalization”
สำหรับไฮไลต์สำคัญของงานคือองค์ปาฐก 4 ท่าน ได้แก่ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD), ศ.เจีย หยู มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน, ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 และ ศ.เบนจามิน วิลเลียม แคชอร์ สถาบันสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์
ทวนกระแสโลกาภิวัตน์
“ดร.ศุภชัย” กล่าวว่า ตอนทำงานที่ WTO และ UNCTAD มักจะมี 2 คำที่คนพูดถึงซ้ำ ๆ อยู่เสมอคือ globalization และ sustainability และยังจำคำกล่าวของ “นายโคฟี อันนัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่มักเตือนเสมอว่า “globalization should lift all boats not only expensive yachts” โลกาภิวัตน์ควรช่วยยกเรือทุกลำ
ไม่เพียงแต่เรือของประเทศที่ร่ำรวย และต้องไม่ทำให้เรือลำเล็ก ๆ ล่ม ซึ่งเป็นคำพังเพยที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมทุกประเทศ
“และในการที่สหประชาชาติ (UN) จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างการพัฒนาแบบโลกาภิวัตน์ UN ต้องเป็นเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง (voice for the voiceless) ไม่ใช่ทำงานเพื่อ Wall Street ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางภูมิศาสตร์ทุนนิยม แต่ต้องทำงานเพื่อคนที่ไม่มีถนนที่จะเดิน”
อย่างไรก็ตาม โลกาภิวัตน์มีทั้งด้านดีและเสีย ข้อดีคือเกิดการไหลเวียนของความคิด ผู้คน สินค้า บริการ และทุนอย่างเสรีข้ามพรมแดนของประเทศนำไปสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่ผลกระทบด้านลบคือการสร้างการแข่งขันเพื่ออำนวยประโยชน์ให้ประเทศร่ำรวยที่มีความได้เปรียบ จึงทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ลดลง
ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีน ที่พูดในเวทีประชุม World Economic Forum เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และส่งสารเกี่ยวกับปัญหาสำคัญ 3 ประการบนโลกคือ หนึ่ง การขาดการเติบโตด้านเศรษฐกิจในระดับโลกาภิวัตน์ หลังจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอง ขาดธรรมาภิบาลระดับโลก (global governance) และสาม ความไม่เท่าเทียมและความไม่เสมอภาค
“ดร.ศุภชัย” กล่าวอีกว่า ผู้คนเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับโลกาภิวัตน์ และเกิดกระบวนการขับเคลื่อนในทางตรงกันข้าม (deglobalization) ที่เป็นการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ในหลาย ๆ ประเทศ หรือการชะลอตัว (slowbalisation) การชะลอตัวเป็นกระแสที่ตามมาหลังวิกฤตการเงินโลก อันส่งผลให้ส่วนแบ่งการค้าใน GDP โลกลดลง
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับตัวอย่างจริงจัง เจเนอเรชั่นใหม่ของโลกาภิวัตน์ต้องประกอบด้วย การรวมความหลากหลาย (inclusiveness), ความยั่งยืน (sustainability) และความยืดหยุ่น (resilience) ซึ่งการที่จะยืดหยุ่นได้ต้องเข้าใจหลักของเศรษฐกิจพอเพียง สงบและมีสติอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญโลกาภิวัตน์ต้องเกี่ยวกับความยั่งยืน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
เวลาที่พูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอย่างเดียวที่จะต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจสังคมของตนเอง แต่โลกต้องผลักดันประเทศที่พัฒนาแล้วด้วย ที่สำคัญ ประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนาต้องเป็นเจ้าของกระบวนการ และนโยบายการพัฒนาของตนเอง ไม่ใช่การจับมือกับประเทศอื่นแล้วถูกชี้นำโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว
“ดร.ศุภชัย” กล่าวต่อว่า สำหรับความพยายามของนิด้าที่จะเสนอปัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมกับหลาย ๆ มหาวิทยาลัยทั่วโลก นับเป็นพันธกิจที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ UN ต้องการให้สถาบันการศึกษาระดับสูงช่วยโปรโมตวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) เพื่อสร้างความเข้าใจ และความร่วมมืออย่างจริงจัง
ยกระดับขีดความสามารถ
“ศ.เจีย หยู” แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งกล่าวเน้นย้ำถึงบทบาทการสนับสนุนที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกล่าวถึงกรณีการเติบโตและการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของจีน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสำคัญของโลกาภิวัตน์เสียใหม่
เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้มีค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นเกือบ 40% ของ GDP โลก ทั้งยังมีปัจจัยแห่งความสำเร็จหลายประการ ดังตัวอย่าง ไต้หวัน จีน และเกาหลีใต้ ที่พัฒนาตนเอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากประเทศที่มีรายได้น้อย สู่ประเทศที่รายได้สูง
“ตัวอย่างการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ของไต้หวัน จีน และเกาหลีใต้ สามารถใช้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้ ที่เห็นชัด ๆ คือรัฐบาลต้องมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกเพื่อลดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และเพื่อยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ร่วมมือกับภาคเอกชน”
กลไกเศรษฐกิจที่โหดร้าย
ขณะที่ “ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” กล่าวว่า ปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันคือกลไกทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของความเติบโต และความมั่งคั่งในคนเพียงไม่กี่คน คิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับประชากรที่ต้องแบกรับความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาและสร้างความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
นอกจากนั้นปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะส่งผลต่อการจ้างงานของมนุษย์ เมื่อ AI ถูกสร้างให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องจนมีความคิดเป็นของตัวเอง และฉลาดกว่ามนุษย์ ดังนั้น ควรทำให้ AI เป็นเพียงเครื่องมือที่มีความฉลาด ลดการทำงานที่ไม่จำเป็นลง แต่หากสร้างให้ AI ฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์ ต่อไป AI จะเริ่มเป็นสิ่งที่ควบคุมมนุษย์
“ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส” กล่าวถึง บทบาทของสถาบันการศึกษาอย่าง “นิด้า” ว่าสำคัญมาก ๆ ที่จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างถูกต้องเหมาะสม พูดได้ว่าสถาบันการศึกษาเป็นต้นกำเนิดของความคิด
และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้อาจจะมีต้นกำเนิดมาจากสถาบันการศึกษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การใช้งาน AI ที่ไม่เหมาะสม เราจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นไหม และบทบาทของเราจะเป็นอย่างไร
“ความยากจน เกิดจากรากฐานเศรษฐกิจที่ผิดพลาด โลกมุ่งเน้นแต่กำไร โลกที่เต็มไปด้วยขยะ และภาวะโลกร้อน รวมถึงโลกที่มนุษย์ตกงานเพราะปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องร่วมกันออกแบบโลกใบใหม่ สร้างธุรกิจเพื่อสังคม (social business) เพื่อไม่สร้างปัญหาให้คนรุ่นต่อไป
ในอนาคตเราควรสร้าง 3-zero club หรือโลกที่เป็นสามศูนย์ ได้แก่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์, การกระจุกตัวของความมั่งคั่งเป็นศูนย์เพื่อยุติความยากจน และการว่างงานเป็นศูนย์ด้วยการปลดปล่อยความเป็นผู้ประกอบการในทุกด้าน”
ลดอุณหภูมิ 2-5 องศา
“ศ.เบนจามิน วิลเลียม แคชอร์” กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังพยายามแก้ไขสถานการณ์โลกร้อนในการลดอุณหภูมิ 2-5 องศา ซึ่งข้อตกลงในหลายประเทศเห็นด้วยคือการที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
แต่จะหาทางแก้ไขอย่างไร เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่เห็นว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องซับซ้อน เราจึงควรปิดช่องว่างนี้ผ่านแนวทาง 4 ขั้นตอนคือ หนึ่ง แยกแยะเป้าหมายให้ชัดเจน สอง ต้องมองว่าประเด็นสภาวะอากาศและการตัดไม้ทำลายป่า เป็นปัญหาที่เลวร้ายที่สุด สาม สร้างนโยบายจากด้านล่างสู่ด้านบน และสี่ มีนโยบายจากบนสู่ล่าง เพื่อมาช่วยสนับสนุนขั้นตอนทั้ง 3 ข้อข้างต้น
“เราจะทำอย่างไรที่จะออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่สำคัญคือเยอรมนี เมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรารู้จัก global crisis มีนโยบายพลังงานสะอาด โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการติด solar cell และมีการคืนทุนภายใน 20 ปี รัฐบาลจะซื้อพลังงานที่ผลิตจาก solar cell จากแต่ละบ้าน
ดังนั้น หลายบ้านอยากจะเข้าร่วม และทำให้เกิดธุรกิจพลังงานสีเขียว จึงทำให้ประเทศเยอรมนีขยับตัวไปเป็นกลุ่มพลังงานสีเขียว และทุกวันนี้ หากบ้านไหนไม่ติด solar cell ถือว่าเป็นคนไม่น่ารักสำหรับประเทศ และรัฐบาลหลายประเทศพยายามนำนโยบายนี้ไปใช้กับ 160 ประเทศทั่วโลก และสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นได้ว่าควรจะต้องเริ่มต้นแก้ปัญหา เพื่อสร้างอนาคตที่ดีของเราได้”
นับว่า ความเสื่อมสลายของโลกยุคใหม่เป็นผลพวงจากการทำธุรกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง