
กระทรวงแรงงานเปิดเป้าหมายปี 2567 จัดส่งแรงงานไทยทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา ทั้งในเอเชีย อเมริกา ไปจนถึงยุโรป ในตำแหน่งที่ต่างประเทศขาดแคลน หรือต้องการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยรายชื่อประเทศกลุ่มเป้าหมายในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน 100,000 คน ในปีงบประมาณ 2567 พบส่งไปทำงานแถบเอเชียมากที่สุด รวมทั้งสิ้น 72,000 คน
อันดับหนึ่งคือไต้หวัน เป้าหมาย 20,300 คน ขณะที่อิสราเอลยังคงเป็นประเทศเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอันดับที่สอง 7,700 คน ตามด้วยสาธารณรัฐเกาหลี 7,500 คน
“ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายสำคัญให้กับกระทรวงแรงงานไว้ว่า ให้ส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งผมได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเตรียมแผนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยเน้นส่งเสริมรักษาการจ้างงานในตลาดแรงงานเดิม ควบคู่ไปกับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีความต้องการจ้างแรงงานในตำแหน่งที่กำลังขาดแคลน หรือประเทศที่มีแนวโน้มการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น”
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ กระทรวงแรงงานตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานกระจายในทวีปต่าง ๆ ดังนี้
- ทวีปเอเชียมากที่สุด รวมจำนวน 72,000 คน
- ทวีปยุโรป จำนวน 14,000 คน
- ทวีปตะวันออกกลาง จำนวน 10,500 คน
- ทวีปอเมริกาเหนือ จำนวน 1,800 คน
- ทวีปแอฟริกา จำนวน 1,100 คน
- ทวีปอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และโอเชียเนีย จำนวน 600 คน
ประเทศที่ส่งแรงงานไทยไปมากที่สุด
- ไต้หวัน จำนวน 20,300 คน
- อิสราเอล จำนวน 7,700 คน
- สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 7,500 คน
- ญี่ปุ่น 6,000 คน
- สวีเดน 6,000 คน
- มาเลเซีย 4,000 คน
“ซึ่งหากดูจากตัวเลขประมาณการ คาดว่าจะสามารถจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งในตลาดแรงงานเดิมและตลาดแรงงานใหม่ได้รวมจำนวน 100,000 อัตราแน่นอน” นายไพโรจน์กล่าว