ภารกิจขับเคลื่อนผลิตภาพ สร้างองค์กรสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล-ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช-ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา-สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล
ดร.ณัฐพล รังสิตพล-ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช-ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา-สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ครบรอบ 30 ปีแห่งภารกิจขับเคลื่อนผลิตภาพ พร้อมวางเป้าหมายสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเดิมปี 2567 ด้วยการจัดงาน “Thailand Productivity Forum 2024 : The Path to Sustainable Success” โดยได้รับเกียรติจาก “ดร.ณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ

พร้อมเหล่าผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิมาแชร์องค์ความรู้ และแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนภายใต้หลักการ Sustainable Productivity ได้แก่ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากฯและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน),

ดร.ศิริพงศ์ โพธลักษณ์ รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, ดร.อินทร ปราณา สิงควินาต เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น, ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา ประธาน People Management Group, ทัส จันทรี TAS Consulting Partner และ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
ดร.ณัฐพล รังสิตพล

ปั้นอุตสาหกรรมเคียงคู่ชุมชน

“ดร.ณัฐพล” เน้นย้ำถึงแนวทางการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย สู่การแข่งขันในระดับสากลว่านับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ในวันนี้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเติบโต จนก้าวสู่ปีที่ 30 แน่นอนว่าบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามเร่งแก้ไขผ่านนโยบาย MIND ที่ยึดถือในหลักการใช้หัว และใจปั้นอุตสาหกรรมเคียงคู่ชุมชน ควบคู่กับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยั่งยืนในอนาคต

ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการส่งออก การค้า และการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต (Manufacturing Productivity) เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนมีการตั้งเป้าหมายเรื่อง Net Zero

ADVERTISMENT

รวมถึงภารกิจ “End of Waste” ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง การเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านผลิตภาพ ที่จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุน แก้ไข และป้องกันปัญหาอย่างครอบคลุม ซึ่งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และเป็นกำลังสำคัญหลักที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้ แนวคิด และแนวทางการเพิ่มผลิตภาพในส่วนนี้

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช

บางจากฯชูผลิตภาพคือคำตอบ

“ชัยวัฒน์” กล่าวว่า การจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น 5-10 ปีข้างหน้า “ผลิตภาพ” คือคำตอบ ซึ่งการปรับเปลี่ยนของบางจากฯจากธุรกิจโรงกลั่นและการตลาดสู่กลุ่มบริษัทผู้นำด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลายขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพและผลิตผลอย่างต่อเนื่อง สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ช่วยกันพัฒนาประสิทธิภาพและการบริหารด้านความปลอดภัย

ADVERTISMENT

“บางจากฯมีหลักการ BCP316net เพื่อดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดย B ย่อมาจาก Breakthrough Performance ด้วยการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ในเครื่องจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลง 30% ภายใน 5-7 ปีข้างหน้า

ต่อมา C ย่อมาจาก Conserving Nature and Society คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งบางจากฯมีโครงการปลูกป่า หรือปลูกไม้โกงกางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 10%

และ P ย่อมาจาก Proactive Business Growth and Transition ซึ่งเป็นการลงทุนแห่งอนาคต อาทิ SAF Sustainable Aviation Fuel (SAF) เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน และวางแผนว่าจะลงทุนในเรื่องไฮโดรเจน และการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (CCS)

ส่วน Net ย่อมาจาก Net Zero Ecosystem ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ อาทิ Winnonie แพลตฟอร์มเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ 24 ชม.”

“ชัยวัฒน์” กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จไม่มีทางลัด หรือเวทมนตร์ แต่มาจากการใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาบางจากฯใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) เป็นกลไกในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปี 2565 ได้รับรางวัล TQA เป็นองค์กรเดียวที่ได้รับรางวัลสุดยอดองค์กรคุณภาพ ประจำปี 2565 จากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน พร้อมอีก 1 รางวัล TQC จากกลุ่มธุรกิจการตลาด

ต่อจากนั้นทางสถาบันเพิ่มฯส่งบางจากฯไปประกวดระดับโลกกับเวทีของ Asia Pacific Quality Organization (APQO) และบางจากฯได้รับรางวัล Global Performance Excellence Award (GPEA) 2023 ในระดับ World Class ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของรางวัลในด้านการบริหารจัดการ โดยเป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกและเพียงแห่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลในระดับสูงสุดนี้

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา
ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา

เทคโนโลยียังแทน “คน” ไม่ได้

“ดร.บวรนันท์” กล่าวว่า หลายองค์กรพยายามทำ Digital Transformation กระบวนการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่าให้เกิดสิ่งใหม่ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่ละองค์กรให้คำจำกัดความในเรื่องนี้ต่างกันออกไป แต่ประเด็นสำคัญคือเรื่องของ “คน” องค์กรต้องสามารถกำหนดงานที่เหมาะสมให้พนักงานได้

เพราะโลก VUCA World มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน ไม่แน่นอน มีความสลับซับซ้อน และเร็วจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับมีเทคโนโลยีมากมายที่มาทำงานแทนมนุษย์ อย่าง Chat GPT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มาทำลายล้างงานของคน White Collar (พนักงานออฟฟิศ) ดังนั้น องค์กรต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรคืองานที่หมดอายุแล้ว และอะไรคืองานใหม่สำหรับอนาคต

“ผมเชื่อว่า Chat GPT ยังไม่สามารถทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะเหล่านี้ ได้แก่ หนึ่ง ความรับผิดชอบทางจริยธรรม และความเป็นอยู่ทางสังคม สอง ความสามารถในการสร้างความรู้สึก และความเข้าใจทางอารมณ์ สาม การทำงานที่ต้องใช้ทักษะทางกายภาพ สี่ การมีความรู้ทางปฏิบัติ และทักษะด้านการสร้างความสำเร็จ”

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล

สถาบันเพิ่มฯมุ่งสู่ความยั่งยืน

“สุวรรณชัย” กล่าวว่า ภายใต้วาระครบรอบ 30 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติมีเป้าหมายวางรากฐานสู่ก้าวแห่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน หรือ The Path to Sustainable Success และสำหรับงาน Thailand Productivity Forum 2024 : The Path to Sustainable Success ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย ภายใต้ความตั้งใจที่จะส่งมอบคุณค่า และองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี สถาบันยังกำหนดให้มีกิจกรรมสำคัญตลอดทั้งปี เพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการผลักดันผลิตภาพให้เป็นปัจจัยสำคัญที่นำพาองค์กรและประเทศไทยก้าวสู่ความสำเร็จ อาทิ GSPN FORUM 2024 เวทีเผยแพร่แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจสู่อนาคต กิจกรรม Productivity Roadshow และ Best Practices Sharing เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบด้วยวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ

รวมถึงแนวคิดและเครื่องมือผลิตภาพที่เหมาะสม การจัดมอบรางวัล Excellent Leadership Award การพัฒนาเครื่องมือชี้วัดการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกของการเพิ่มผลิตภาพในกลุ่มเยาวชน ผู้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต

นับว่า Productivity เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรยั่งยืน ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันเดียว แต่ต้องผ่านการเดินทางที่ค่อย ๆ ปรับปรุง หาแนวทาง ปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มาช่วยเร่งความสำเร็จได้เร็วขึ้น