ล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ชูกรอบ SDGs แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 16 ว่าด้วยเรื่องส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม

และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ อันเป็น 2 เป้าหมาย ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กำหนดโดยสหประชาชาติ เมื่อปี 2558 นับเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม

ทั้งนั้น เพราะเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ปัจจุบัน นับวันสถิติยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผลเช่นนี้จึงทำให้ยูนิเซฟจับมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย

รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก กฎหมาย และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนเด็ก เยาวชนร่วมกันหาแนวทางพัฒนากลยุทธ์ด้านนโยบาย แนวปฏิบัติ เพื่อการคุ้มครองเด็ก และการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็กไทย

ด้วยการจัดประชุมระดับชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “สู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย และครอบคลุมยิ่งขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชน” โดยมี “คยองซอน คิม” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย” ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ “อนุกูล ปีดแก้ว” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแสดงความคิดเห็น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จากรายงานเรื่อง “หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย” (Disrupting Harm in Thailand) จัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบข้อมูลว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี ราว 400,000 คนในประเทศไทย หรือร้อยละ 9 ตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิด และแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบ โดยคนแปลกหน้า หรือบุคคลที่เด็กรู้จัก เช่น การส่งต่อภาพทางเพศของพวกเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการแบล็กเมล์ ข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงิน หรือสิ่งของเป็นการตอบแทน

นอกจากนั้น รายงานฉบับดังกล่าวยังพบข้อมูลอีกว่า เด็ก ๆ มักไม่บอกใคร และไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากที่ไหน โดยมีเพียงร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่แจ้งตำรวจ ทั้งยังพบข้อมูลอีกว่า เด็ก ๆ มักโทษตัวเอง และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคนทั่วไปก็คิดแบบนั้นเช่นกัน

“คยองซอน คิม” กล่าวในเบื้องต้นว่า ความเสี่ยงและภัยทางออนไลน์เป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียว และเป็นผู้นำเกม โดยเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่เด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงการพัฒนาบริการคุ้มครองเด็กที่ครอบคลุมให้สามารถรับมือกับภัยออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราจึงต้องส่งเสริมเด็กและผู้ดูแลตระหนักถึงภัยออนไลน์ ด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องมีการออกมาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้ที่เข้มงวด พร้อมกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง

ทั้งยังต้องเน้นการปรับปรุงบริการคุ้มครองเด็ก การเยียวยาจิตใจ และการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และเด็กที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ยูนิเซฟขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพิเศษ เพื่อให้การละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศเด็กทางออนไลน์ในทุกรูปแบบเป็นความผิดอาญา”

“รวมถึงการล่อลวงหรือกรูมมิ่ง การขู่กรรโชกทางเพศทางออนไลน์ และการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือไซเบอร์บูลลี่ ทราบข่าวว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการขับเคลื่อน และผลักดันประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยูนิเซฟก็จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครอบคลุมทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและคุ้มครองเด็กในประเทศไทย รวมถึงภัยออนไลน์ แต่กระนั้น จะต้องมีการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอในการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติด้วย ถึงจะสัมฤทธิ์ผล”

“ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์” กล่าวเสริมว่า งานประชุมระดับชาติครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากการประชุม ASEAN ICT Forum on Child Online Protection ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนผ่านมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจ และยกระดับแนวปฏิบัติของประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติล่าสุดของอาเซียนและสากล

โดยมุ่งเน้นไปที่การออกกฎหมายที่ครอบคลุมและการยกระดับการบริการเพื่อคุ้มครองและสนับสนุนเด็กที่เกี่ยวข้องกับการแสวงประโยชน์ และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความมุ่งมั่นร่วมกันในการสร้างสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับเด็ก และเพื่อปกป้องเด็กจากอาชญากรรมไซเบอร์ และอันตรายทางออนไลน์ในยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ในการร่วมกันเพื่อปกป้องและสนับสนุนการดำเนินการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติดังกล่าวของอาเซียน”

“อนุกูล” กล่าวปิดท้ายว่า แนวปฏิบัติของอาเซียนจะเป็นกรอบให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือ บำบัด ฟื้นฟู แก้ไข เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ และเด็กที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจากการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์ โดยต้องนำไปประยุกต์ใช้ ทบทวน และพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับภูมิภาค

“ตรงนี้ไม่เพียงทำให้การประสานส่งต่อการช่วยเหลือ ระหว่างหน่วยงาน ระหว่างพื้นที่ และระหว่างประเทศ ยังเป็นไปโดยยึดตามหลักการและเป้าหมายของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคนในยุคดิจิทัล หากยังเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่ 5 และข้อที่ 16 ของ SDGs อีกด้วย”

นับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรร่วมมือกันแก้ไขอย่างยิ่ง


  • หัวข้อข่าว:
  • SDGs