กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ชู “ลิ่มทองโมเดล” บ้านลิ่มทอง – บ้านโคกพลวง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ใช้ในแก้ปัญหาน้ำทั่วประเทศร่วมกับ 800 กองทุนหมู่บ้า ซึ่งถ้าประเทศมีระบบการบริหารจัดการน้ำดี เกษตรกรไม่ยากจน
“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 – 8 พ.ค.นี้ ตนจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.บุรีรัมย์ และก่อนที่ประชุมจะเดินทางลงพื้นที่ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง – บ้านโคกพลวง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำและปัญหาความยากจน
ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อดูปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยมีการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน จนสามารถทำให้บ้านลิ่มทอง – บ้านโคกพลวง ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำและปัญหาความยากจน ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแห่งหนึ่งของประเทศ
สามารถเปลี่ยนสภาพชุมชนลิ่มทอง ที่เดิมเคยประสบปัญหาภัยแล้ง และ ขาดแคลนน้ำ ฝนตกน้ำท่วม ท่วมเลย เก็บน้ำไม่ได้ แล้งก็แล้งสนิท จนส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้าน ขณะที่ความพยายามในการแก้ปัญหา มีการใช้ระบบไอที เข้ามาจัดการแก้ปัญหาความยากจน เช่น ทำระบบบัญชีครัวเรือน เป็นต้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนได้ข้อสรุปว่า ต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ชาวบ้านจึงจะไม่ยากจน
ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มเข้าไปสำรวจพื้นที่ พร้อมกับจัดทำแผนที่ ผังน้ำ และพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจในการแก้ปัญหาตรงกันและร่วมกันทำงาน เพราะมีพื้นที่บางส่วนชาวบ้านต้องเสียสละ เพื่อใช้เก็บกักน้ำหรือให้ทางน้ำผ่านได้ ไม่ใช้วิธีการเวนคืนที่ดิน แต่ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
สสนก.ใช้เวลาแก้ปัญหา 2 ปี จบเกิดระบบบริหารจัดการน้ำ จากระยะแรก 3,700 ไร่ 15 ครัวเรือน ในปี 2550 ขยายไปเป็น 7,000 ไร่ 105 ครัวเรือนในปี 2552 ขยายไปเป็น 20,000 ไร่ 1,103 ครัวเรือนในปี 2553 จนถึงปัจจุบันขยายผลไปถึง 173,904 ไร่ มี 2,221 ครัวเรือนได้ประโยชน์จากระบบการบริหารจัดการน้ำ และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จนมีรายได้ต่อวันระหว่าง 300 – 500 บาท หรือเดือนละมากว่า 10,000 – 20,000 บาทโดยเฉลี่ย ทำให้การแก้ปัญหาน้ำของชุมชนลิ่มทองได้รับรางวัลจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีการนำไปขยายผลพูดในเวทีโลกและกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปใช้กว่าหนึ่งพันชุมชน
ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ จะนำความสำเร็จของชุมชนลิ่มทอง หรือลิ่มทองโมเดล ไปดำเนินการร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ใน 800 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน สสนก.ได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้ว และสามารถทำได้เลย โดยใช้เงินของกองทุนหมู่บ้าน โดยคำว่า สามารถทำได้เลย เพราะ 1.กองทุนหมู่บ้าน มีการแบ่งเกรด 800 หมู่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าหมู่บ้านไหนเข้มแข็งตามเกรด A,B,C,D
2.คัดเลือกความพร้อมของหมู่บ้านในการต้องการแก้ปัญหาน้ำ 3.ใช้เครือข่ายชุมชนน้ำของ สสนก.ที่เข้มแข็งกว่า 60 แห่งชุมชนทั่วประเทศเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่เดียวกัน ทำงานร่วมกับชาวบ้าน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ตามนโยบายวิทย์แก้จนของรัฐบาลเพราะเรื่องน้ำ คือ เรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน ถ้าเกษตรกร มีน้ำดีจะทำให้พืชผลทางการเกษตรดีตามไปด้วย