
มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ หนุนห้องสมุดประชาชนใน 9 จังหวัด เป็นศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน พัฒนาหลักสูตร สร้างอาชีพที่สองให้กับชุมชน ผลิตสินค้าจำหน่ายทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เพิ่มรายได้รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 4 ล้านบาท
วันที่ 1 เมษายน 2567 นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สนับสนุนสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ใน “โครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน” มาตั้งแต่ปี 2563 และทำต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 แล้ว
โดยใช้พื้นที่ของห้องสมุดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ชุมชนที่ต้องการการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และเพื่อพัฒนาแนวคิดที่จะเสริมสร้าง “อาชีพที่สอง” ในการหารายได้เพิ่มเติมให้กับชุมชน อันจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนได้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้ครอบคลุม 4 ภูมิภาค
ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืนมีการดำเนินงานร่วมกับห้องสมุดประชาชนใน 9 จังหวัด ตั้งแต่พื้นที่ในภาคเหนือไปจนถึงภาคใต้ ได้แก่ ลำปาง, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, สุราษฎร์ธานี และยะลา
โดยศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืนทั้ง 9 แห่ง ได้พัฒนาหลักสูตรอาชีพเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ภายใต้โครงการ จนถึงปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว ทั้งนักเรียน นักศึกษา ผู้ทำงาน ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงวัย และประชาชนทั่วไปมากกว่า 70,000 คน สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าของศูนย์เรียนรู้ฯ ผ่านห้างสรรพสินค้า งานออกร้าน และตลาดออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 4 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีสินค้าซึ่งพัฒนาโดยชุมชนที่เข้าร่วมโครงการและได้จดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP แล้ว 4 ผลิตภัณฑ์ โดยได้รวบรวมผลงานที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการมาร่วมแสดงในงานมหกรรมอาชีพที่สอง ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติเรื่อง “การออกแบบเชิงสร้างสรรค์ห้องสมุดยุควิถีชีวิตใหม่” เมื่อวันที่ 28-29 มี.ค. ที่ผ่านมาที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานคร กรุงเทพมหานคร
ศูนย์เรียนรู้ฯ จ.สุราษฎร์ธานี ยังได้รับเชิญให้ร่วมจัดแสดง “Relearn ผ้าพิมพ์ใบไม้ สุราษฎร์ธานี” ในโซนหมู่บ้านภาคใต้ งานเที่ยวเมืองไทย 2567 ครั้งที่ 42 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติต์ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค.-1 เม.ย. พร้อม Workshop การทำผ้าพิมพ์ใบไม้ในงานดังกล่าวและในวันที่ 1-3 เม.ย. ได้รับเชิญร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก บริเวณรอบสระมรกต ชั้น 1 อาคารรัฐสภาอีกด้วย
นายรองรักษ์กล่าวต่อว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าการพัฒนาทักษะเรียนรู้ (reskill) และการยกระดับทักษะความรู้ (upskill) เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการดำเนินวิถีชีวิตในยุคใหม่ ขณะที่การช่วยสนับสนุนให้มีอาชีพที่สอง จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว
ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน”นายรองรักษ์กล่าวและว่าการเรียนรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น สร้างทั้งรายได้ ความสุข เกิดเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์และความผูกพันของประชาชนในชุมชนที่ได้มาร่วมเรียนรู้ ฝึกฝน แลกเปลี่ยน จนได้อาชีพเสริมเป็นอาชีพที่สอง
นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างห้องสมุดประชาชนในแต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความผูกพันที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังเป็นความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงาน ที่ล้วนมีผลต่อความสำเร็จของโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ในการบูรณาการบุคคลากรสามวัยเข้าร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และก่อให้เกิดความสุขจากโครงการฯ นี้เป็นอย่างดี