
ความยากจนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดปัญหาหนึ่ง ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยจากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คนประมาณ 700 ล้านคน มีรายได้น้อยกว่า 2.15 ดอลลาร์ (79 บาท) ต่อวัน ซึ่งถือเป็นเส้นความยากจนขั้นรุนแรง โดยในปี 2565 คนที่อยู่ในเส้นความยากจนขั้นรุนแรง มีจำนวนเพิ่มขึ้น 23 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 เด็กและเยาวชนเป็นสองในสามของกลุ่มคนยากจนในโลก และเพศหญิงก็เป็นคนส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย (World Vision Foundation of Thailand) มุ่งมั่นที่จะยุติความยากจนขั้นรุนแรง โดยกำหนดเป้าหมายแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ผ่านโครงการริเริ่มที่ยั่งยืน และวางรากฐานที่แข็งแรงให้เด็กทุกคน แม้จะมีความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ไม่มั่นคง แต่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ก็สามารถสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริงมาถึงวันนี้ ที่ครบรอบ 50 ปี

“ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง” ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ World Vision (ศุภนิมิตสากล) มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 36,000 ชีวิต ทำงานในเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก สำหรับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยปัจจุบันมีพื้นที่ดำเนินงานใน 36 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ มีเด็กในความอุปการะประมาณ 4 หมื่นคน
โดยเป็นองค์กรสาธารณกุศลเพื่อการพัฒนาและการรณรงค์เพื่อสร้างความยุติธรรมในสังคม ดำเนินพันธกิจเพื่อช่วยเหลือเด็ก ผ่านการทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชน เพื่อเอาชนะปัญหาความยากจนและความไม่ยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเด็ก
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จดทะเบียนเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2517 ปีนี้ก็มีอายุครบ 50 ปี ที่ผ่านมาเรามีเป้าหมายที่จะตอบสนองและช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3 ล้านคน ภายในปี 2568
และในโอกาสครบรอบ 50 ปี เราประกาศหมุดหมายว่า เน้นไปที่เรื่อง ESG ผนวกเข้ากับความช่วยเหลือเด็ก โดยงานทุกอย่างจากนี้ไปต้องยั่งยืน และคำนึงถึงสภาพอากาศ เช่น ร่วมมือการทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม UNCRC ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (General Comment No.26)
สำหรับผลงานในปี 2566 ที่ผ่านมา เราสามารถสร้างผลกระทบกับชีวิตผู้ยากไร้กว่า 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็ก 1.7 ล้านคน ผ่านการดําเนินงานโครงการพัฒนาชุมชน และงานรณรงค์เพื่อความยุติธรรมในสังคม โดยสรุปได้ ดังนี้
– เด็กเปราะบางยากไร้ที่สุด 131,200 คน ได้รับการสนับสนุน ซึ่งรวมถึงเด็กในความอุปการะ และเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่
– เด็กนักเรียนและผู้ใหญ่ 31,200 คน สามารถเข้าถึงนํ้าสะอาดและ/หรือสิ่งอํานวยความสะดวกภายในโรงเรียนที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุง
– ผู้ดูแลเด็ก 15,000 คน ได้รับการอบรม ด้านการเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ เข้าใจเด็ก การเรียนรู้ที่บ้าน การเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน
– เด็กและผู้ใหญ่ 154,700 คน ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรม เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกผ่านโครงการเสริมสร้างคุณธรรมและส่งเสริมความผาสุกภายในชุมชน
– เยาวชน 56,800 คน ได้รับการสนับสนุน เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการร่วมแก้ปัญหาที่ส่งผลต่อตัวเด็ก ครอบครัวและชุมชนเอง
– เด็ก 30,200 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาเด็กต่าง ๆ เช่น โครงการสนับสนุนอาหารเช้า และสื่อการเรียนรู้ให้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน
– ประชากรข้ามชาติ 150,400 คน รวมถึงเด็กข้ามชาติ 16,700 คน ได้รับประโยชน์จากงานเสริมสร้างสุขภาวะผู้ย้ายถิ่น การส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และการต่อต้านการค้ามนุษย์
– เด็ก 1.5 ล้านคน ได้รับประโยชน์จากงานรณรงค์เพื่อความยุติธรรมในสังคม รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและดําเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาส
“ดร.สราวุธ” กล่าวด้วยว่า ทุกประเทศจะไม่สามารถลดความยากจนและความไม่เท่าเทียมได้ หากไม่จัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เกี่ยวพันกัน รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้า ความเปราะบางและความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งความต้องการบริการขององค์กรการกุศลหลายแห่งที่ช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอที่สุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะการบริจาคจะนำไปสู่โอกาสที่ยั่งยืนสำหรับผู้ที่อยู่ในความยากจน รวมถึงการเข้าถึงการศึกษาต่อเนื่อง การฝึกอบรมทักษะชีวิต และโอกาสทางธุรกิจที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
แต่ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและการคุกคามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นข้อกังวลหลักสำหรับภาคการกุศล เพราะมูลนิธิส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เงินทุนมาจากการบริจาคของผู้สนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยจัดการกับความท้าทายนี้ด้วยกลยุทธ์การบริจาคที่ยืดหยุ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ปีที่ผ่านมา World Vision International ถอนความช่วยเหลือด้านเงินสนับสนุนจากต่างประเทศมาให้ที่ไทย เพราะมองว่าไทยมีขีดความสามารถที่ดีขึ้นกว่าหลาย ๆ ประเทศ ทางองค์กรจะได้นำเงินทุนต่างประเทศไปบริจาคที่ประเทศอื่นที่ลำบากกว่า
“การรับบริจาคของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยนับจากนั้น จึงเป็นการระดมทุนภายในประเทศ 100% และแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง เงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป ห้างร้าน และกลุ่มคนที่มีรายได้สูง สอง องค์กรใหญ่ โดยมูลนิธิศุภนิมิตฯจะมีการเขียนโครงการไปขอทุนจากองค์กรใหญ่ต่าง ๆ เช่น EU, WHO, Global Fund, หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
ที่สำคัญ เราปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริจาคตามสภาพเศรษฐกิจ ถ้าช่วงไหนธุรกิจกลุ่มไหนโต เราก็จะโฟกัสไปที่ธุรกิจนั้น ๆ อย่างเช่น ช่วงโควิด-19 กลุ่มธุรกิจสื่อสารบูม เราก็ไปเสนอโครงการขอความช่วยเหลือและทำงานร่วมกันกับกลุ่มนี้”
“ดร.สราวุธ” กล่าวต่อว่า จุดเด่นของมูลนิธิศุภนิมิตฯมีหลัก ๆ 3 ประการ คือ หนึ่ง มุ่งเน้นชุมชน สอง มุ่งเน้นเด็ก สาม มุ่งเน้นความเชื่อ
“ที่สำคัญ เรามีความโปร่งใส ทุกโครงการจะมีการทำรายงานเป็นระยะ ๆ ส่งให้ผู้บริจาครับรู้การเคลื่อนไหวและผลลัพธ์ เช่น การอุปการะเด็กคนละ 700 บาทต่อเดือน เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล ดูผลการเรียน ทักษะชีวิต และรายงานระยะเริ่มต้น ระหว่างทาง และสิ้นปี ไปให้ผู้อุปการะ
นอกจากนั้น เราทำรายงานข้อมูลเชิงลึกไปยังภาครัฐ เช่น จำนวนของเด็กที่ขาดสารอาหารหรือมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีในแต่ละพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ เพื่อเป็นการชี้เป้าให้ภาครัฐมากขึ้น”
ส่วนการรายงานอีกฝั่งหนึ่งคือ การรายงานตามกฎหมาย ซึ่งเราทำรายงานตามทุกเงื่อนไข เช่น การใช้จ่ายเงินมีกฎหมายบังคับว่า ต้องใช้เงินทุนเพื่อการบริหารจัดการไม่เกิน 25% ของเงินบริจาค ซึ่งตอนนี้เราใช้แค่ 12-13% เท่านั้น เราเชื่อว่าความโปร่งใสนำมาซึ่งความไว้วางใจ และผลประโยชน์ก็จะไปอยู่ที่เด็ก ๆ
นอกจากนั้น เราเป็นองค์กรเดียวที่มีเจ้าหน้าที่ฝังตัวอยู่ในชุมชน เป็นเพื่อนคู่คิด ทำงานร่วมไปกับเขาเมื่อชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว พึ่งตัวเองและเกิดความยั่งยืน เราถึงจะถอนตัวออกมา รวมถึงประกาศชัดว่า เราเป็นเพื่อนกับภาครัฐ จะไม่ทำงานแข่งกับภาครัฐ ไม่ไปทำงานในพื้นที่ที่ภาครัฐทำได้ดีอยู่แล้ว แต่เราจะร่วมกับภาครัฐเสริมขีดความสามารถในพื้นที่ที่ต้องการใช้ทรัพยากรของเรา