
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทแห่งแรกของกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะในประเทศไทยที่เป็น “ต้นแบบธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม” ในการจัดการผลิตภัณฑ์ร่วม หรือผลพลอยได้ (By Product) ที่ได้จากกระบวนการผลิตต่าง ๆ ผ่านแนวคิดวัฏจักรชีวภาพ Ajinomoto Biocycle เพื่อสร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเดินตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนปี 2573 ของกลุ่มบริษัทในระดับโลก
“ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ชื่อเดิมของบริษัทคือ บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2544 โดยพัฒนามาจากฝ่ายพัฒนาการเกษตรของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อที่จะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการผลิตของกลุ่มบริษัท รวมไปถึงสนับสนุนภาคการเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างจริงจัง

จากนั้นปี พ.ศ. 2567 ได้มีการเปิดตัวเป็น “อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน” อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมีสินค้า 11 รายการ ใน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย หนึ่ง ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เช่น กระเทียม เมล็ดกาแฟ สอง ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สำหรับพืชและอาหารสำหรับสัตว์
ผลิตภัณฑ์ร่วมเหล่านี้ประกอบด้วยแร่ธาตุและสารอาหารมากมายหลายชนิด เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งอาหารเสริมโปรตีนสำหรับสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบจากกระบวนการผลิตผงชูรสและกาแฟของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด
อายิโนะโมะโต๊ะถือเป็นกลุ่มบริษัทที่ใช้วัตถุดิบมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ปัญหาโลกร้อนและความท้าทายต่าง ๆ ด้านเกษตรกรรม เช่น การแพร่ระบาดของโรคพืช ปัญหาทางดินและน้ำ การขาดความรู้ ขาดแคลนแรงงาน ขาดแหล่งรายได้อื่นจากการเกษตร เป็นต้น
ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยในปี 2567 ลดเหลือรวม 24.7 ล้านตัน จากปี 2558 ที่มีผลผลิตรวม 33.5 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตรวมกาแฟของไทยปี 2566 คือ 16,575 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผลผลิตรวม 37,992 ตัน
“มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก ประเทศไทยปลูกมันสำปะหลังรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าตลาด 69,839 ล้านบาท โดยความต้องการมันสำปะหลังของตลาดในไทยเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี
ขณะที่กาแฟโรบัสต้ามีมูลค่าตลาด 1,051.59 ล้านบาท ซึ่งตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี ความต้องการของตลาดมีสูงขึ้น แต่ประเทศไทยกลับเผชิญกับปัญหาผลผลิตมันสำปะหลังและกาแฟลดลง”
โดย 6 ปัญหาหลักที่เกษตรกรมันสำปะหลังพบเจอคือ 1) การจัดการดิน 2) การเลือกท่อนพันธุ์ 3) การจัดการน้ำ 4) การเลือกใช้ปุ๋ย 5) การจัดการแปลง 6) การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตรต้นทาง และสนับสนุนเกษตรกรไทยที่ทำไร่มันสำปะหลังและกาแฟ บริษัทจึงจัดทำโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และสานต่อมาถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อสร้างวงจรเชิงบวก (Ecosystem) ให้กับชุมชนเกษตรไทยอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ปีนี้โครงการตั้งเป้าให้มีเกษตรกรมันสำปะหลังและกาแฟใน 5 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ตาก เลย เชียงราย เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 1,570 ครัวเรือน ผ่านโมเดล “Farm School” มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและกาแฟ เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
“การจัดการท่อนพันธุ์มันสำปะหลังถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากต้องเลือกท่อนพันธุ์มันสะอาด ปราศจากโรค มีคุณภาพ และเหมาะสมกับดิน หากกระบวนการจัดการต่าง ๆ ไม่เหมาะสม จะส่งผลให้ผลผลิตต่ำลงและไม่มีคุณภาพเพียงพอ สำหรับไร่กาแฟเผชิญปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ปุ๋ย ดิน และการจัดการมอด ส่งผลต่อรสชาติและผลผลิตลดลง”
“ดร.โคะเฮ อิชิกะวะ” กล่าวต่อว่า โมเดล Farm School มุ่งเน้นการให้ความรู้และเทคนิคการเพาะปลูกที่ทันสมัยแก่เกษตรในเชิงลึก แบบ O2O (Online-to-Offline) ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้จริงในรูปแบบแปลงทดลองที่จัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
โดยมีการแบ่งแปลงทดลองมันสำปะหลังออกเป็น 10 แปลงที่แตกต่างกัน เช่น แปลงสาธิตการใช้ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดิน เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเกษตร วิธีแก้ไขปัญหาหลักที่เกษตรกรพบเจอ โดยเปิดให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป พร้อมร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการลงพื้นที่อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์วัดผลความรู้เกษตรกร เพื่อพัฒนาทักษะแก่เกษตรกรไทย สำหรับการสื่อสารทางออนไลน์ มีการใช้โซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, TikTok, และ LINE เป็นเครื่องมือสำคัญในการครีเอตคอนเทนต์ เทคนิค และองค์ความรู้ให้เข้ากับอินไซต์เกษตรยุคใหม่มากขึ้น พร้อมเตรียมต่อยอดโมเดล Farm School ไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยเน้นย้ำเรื่องกระบวนการหมุนเวียนกาแฟแบบยั่งยืน
โครงการ Thai Farmer Better Life Partner สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่มีหน้าที่หลัก 3 ข้อคือ การรักษาและเอาใจใส่ต่อคุณภาพสินค้า ความปลอดภัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทุกกิจกรรมของบริษัทดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ให้สำเร็จภายในปี 2573 ของกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ
นอกจากนั้น บริษัทยังมุ่งลดมลพิษเป็นศูนย์ และมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านแนวคิดวัฏจักรชีวภาพ (Ajinomoto Biocycle) สร้างระบบนิเวศเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จัดการกับผลิตภัณฑ์ร่วมจากกระบวนการผลิตของบริษัทในเครืออายิโนะโมะโต๊ะในประเทศไทยทั้งหมด ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้
โดยการผ่านกระบวนการวิจัย พัฒนาคุณภาพ ตลอดจนการศึกษาผลการใช้และผลกระทบในระยะยาว จนมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอแก่เกษตรกรหรือผู้ใช้ในรูปผลิตภัณฑ์ร่วม หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่พัฒนาแล้ว ล้วนเป็นประโยชน์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงแต่โครงการ Thai Farmer Better Life Partner บริษัทยังมีโครงการ Green Coffee Bean (GCB) Farmer Sustainability ด้วย เพื่อสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่พัฒนามาจากศาสตร์แห่งกรดอะมิโนให้แก่เกษตรกร จะได้ลดปริมาณการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก รวมทั้งช่วยพัฒนาความรู้ ตั้งแต่การปลูกต้นกาแฟ การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
“อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน มีจุดยืนช่วยคนไทยกินดีมีสุข ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นี่คือเหตุผลที่บริษัทเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้ชาวไร่มันสำปะหลังทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ต่อยอดสู่ชาวไร่กาแฟให้พร้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง
สนับสนุนเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ‘อามิเมท’ ที่ผลิตจากน้ำหมักที่เหลือจากกระบวนการผลิตผงชูรส เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการใช้สารเคมี และยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตามระบบการประกันคุณภาพ ASQUA ของอายิโนะโมะโต๊ะ ในราคาที่เป็นธรรมด้วย”
อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน ตระหนักในความสำคัญของสังคมและการดำรงอยู่ของผู้คนในสังคมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตของประเทศ