ไทยมุ่งคุ้มครองเด็กลี้ภัย ถอนข้อสงวน 22 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยการภาคยานุวัติเมื่อปี พ.ศ. 2535 และได้ตั้งข้อสงวนไว้ 3 ข้อ เพื่อยกเว้นการดำเนินการตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯในข้อนั้น ได้แก่ ข้อ 7 ว่าด้วยสถานะบุคคล ข้อ 22 ว่าด้วยสถานะของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง และข้อ 29 ว่าด้วยการจัดการศึกษา

ต่อมาประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 29 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2540 และข้อ 7 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2553 และล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งจะเป็นการขยายความคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมถึงเด็กผู้ลี้ภัย

สาเหตุของการตั้งข้อสงวน ข้อ 22 ในช่วงปี 2531-2535 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป พยายามชักนำรัฐภาคีของอนุสัญญาฯให้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 ทำให้เกิดความเข้าใจว่า

หากไม่มีข้อสงวนข้อ 22 จะทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการจัดหาที่พักพิงและการดูแลผู้ลี้ภัยในการตั้งถิ่นฐานถาวรที่ไม่เป็นไปตามการดำเนินการตามกรอบกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ จึงเป็นเหตุผลให้ประเทศไทยยังคงตั้งข้อสงวนข้อ 22 ของอนุสัญญาฯไว้ และถือเป็นรัฐภาคีประเทศสุดท้ายที่คงข้อสงวนข้อนี้

องค์การยูนิเซฟ คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทย ที่เห็นชอบการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังแสดงความยินดีกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการร่วมผลักดันให้เกิดการถอนข้อสงวนครั้งนี้ โดยหลังจากนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการถอนข้อสงวนอย่างเป็นทางการผ่านองค์การสหประชาชาติต่อไป

“คยอนซอน คิม” ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การพัฒนาความเป็นอยู่และการส่งเสริมสิทธิเด็กมีความก้าวหน้าอย่างมากในประเทศไทย และการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 นี้ถือเป็นการก้าวข้ามอุปสรรคครั้งสำคัญ

ADVERTISMENT

เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างเต็มที่ และความเท่าเทียม และยังเป็นการช่วยให้ยูนิเซฟสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคีเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ๆ รวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมไทยที่เข้มแข็งและเท่าเทียมยิ่งขึ้นต่อไป

“การถอนข้อสงวนครั้งนี้ยังแสดงถึงเจตจำนงของประเทศไทยต่อหลักสิทธิเด็กและพันธกรณีของรัฐบาลที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ซึ่งเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประเทศสมาชิกเข้าร่วมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศของตน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 อีกด้วย”

“นาจาต มาลา มะจิด” ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็ก กล่าวว่า เด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานเป็นกลุ่มหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด พวกเขามีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ การถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามที่ได้หารือกับตัวแทนระดับสูงของรัฐบาลระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว

ถือเป็นก้าวสำคัญด้านความคุ้มครองเด็กและการส่งเสริมความเป็นอยู่ของเด็ก โดยไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายและวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กทุกคน

“ความสำเร็จในครั้งนี้มีรัฐบาลไทยเป็นผู้นำ ร่วมกับการผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากยูนิเซฟ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความรุนแรงต่อเด็ก คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ และภาคีเครือข่าย รวมถึงหน่วยงานสหประชาชาติ ภาคประชาสังคม และผู้สนับสนุนระหว่างประเทศ

ในปี 2562 ยูนิเซฟและสหภาพยุโรปได้จัดทำรายงาน ‘ปิดช่องว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในมิติของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กแสวงหาที่พักพิง’ และจากนั้นได้ดำเนินงานร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดการถอนข้อสงวนครั้งนี้ต่อเนื่อง”

“แอน สเกลตัน” ประธานคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ยินดีกับรัฐบาลไทยสำหรับความก้าวหน้าครั้งสำคัญนี้ที่จะนำไปสู่สิทธิเต็มรูปแบบของเด็กทุกคน คณะกรรมการได้สนับสนุนการทำงานขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยมาโดยตลอด

ในการแสดงให้เห็นว่าการถอนข้อสงวนมาตราที่ 22 เป็นสิ่งที่ทำได้และสมควรทำ และเป็นที่น่ายินดีที่การดำเนินงานนั้นได้เกิดผลสำเร็จแล้ว เราหวังว่าการถอนข้อสงวนครั้งนี้จะทำให้เด็กทุกคนในประเทศไทยมีชีวิตและอนาคตที่สดใสขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

ยูนิเซฟยังตระหนักถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเดินหน้าคุ้มครองสิทธิของเด็กไร้สัญชาติและเด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยในการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ณ เดือนตุลาคม 2566 ประเทศไทยมีเด็กไร้สัญชาติที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 171,635 คน ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กกลุ่มนี้