ภาวะโลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัว และภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่” เป็นแนวคิดที่ “แสนสิริ” ใช้กำหนดเส้นทางองค์กรสู่อนาคตที่ยั่งยืน ไม่เพียงเท่านั้น ยังชวนคู่ค้าและพันธมิตรผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และร่วมเดินบนเป้าหมายเดียวกัน
ล่าสุดแสนสิริจัดงาน SANSIRI ECOLEADERSHIP FORUM : Change Today, Chance Tomorrow ผนึก Green Supply Chain พันธมิตรในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งภาครัฐ ร่วมถกวาระสำคัญเพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด รับฟังและแบ่งปันข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อน Green Ecosystem ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตและเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงร่วมรับฟังพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
Green Supply Chain
“อุทัย อุทัยแสงสุข” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย กล่าวว่า ปี 2567 นับเป็นก้าวสำคัญของแสนสิริในโอกาสดำเนินธุรกิจสู่ปีที่ 40 กับการก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของผู้นำอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเชื่อมั่นทั้งในด้านการออกแบบ การบริการ คุณภาพ และความยั่งยืน ปีนี้บริษัทวางแผนเปิดตัว 46 โครงการใหม่ มูลค่า 61,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
แสนสิริตั้งเป้าหมายสู่การเป็น “องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” (Net-Zero) ในปี 2593 และวางแผนดำเนินงาน 3 ระดับ ได้แก่ แผนระยะสั้นในปี 2568 เพื่อลดคาร์บอนลง 20% (ล่าสุดปี 2566 ทำได้ 15%) แผนระยะกลางปี 2576 ตั้งเป้าที่ 50% พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในแผนระยะยาวปี 2593
รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบ้านและคอนโดฯที่นำส่งแก่ผู้บริโภค เพื่อสอดรับไปกับแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
“ในเส้นทางนี้ แสนสิริเราเดินไปคนเดียวไม่ได้ คู่ค้าที่ให้ความใส่ใจในเรื่องเดียวกันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้นำร่องในการนำโมเดล Green Supply Chain มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยเรามีผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งสามด้าน
คือ Green Architecture and Design, Green Construction, Green Procurement ราว 4,000 ราย ทั้งหมดนี้คือฟันเฟืองสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับภาคธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 5.8% ต่อจีดีพี”
โมเดล Green Supply Chain เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าที่มี DNA ในเรื่อง ESG และให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนเช่นเดียวกับแสนสิริ ให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้น แม้รู้ว่าอาจต้องมีการเพิ่มเติมขึ้นมาของต้นทุน แต่เรามองภาพในระยะยาว เพราะเมื่อเกิด Economy of Scale แล้ว การดำเนินธุรกิจของทุกส่วน ทั้งเราและคู่ค้าจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
รวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนไปของโลก การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้น
คุณภาพชีวิตแรงงาน
“อุทัย” กล่าวต่อว่า ความยั่งยืนเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงของธุรกิจ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลน อาจหมายถึงราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น วัสดุทางเลือกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและย่อยสลายได้ง่าย รวมถึงนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่
นอกจากนั้นธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตของแรงงาน และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนและการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เพราะหากแรงงานไม่มีความสุข Productivity ก็อาจจะลดลง และส่งผลการดำเนินงานหยุดชะงัก
จึงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องเข้าใจ ต้องผนวกแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ขององค์กร ต้องบูรณาการให้ครอบคลุมมิติด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กันอย่างสมดุล
“พ.ร.บ.โลกร้อน”
“ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช” อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในส่วนของภาคธุรกิจ การปรับตัวเป็นเรื่องสำคัญ
เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้จากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เท่าทันกระแสการบริโภคและการค้ายั่งยืน
SMEs เชื่อมเศรษฐกิจ
“แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนที่มีพื้นฐานการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักคิดให้ความสำคัญกับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่มีการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ในทุกระดับขององค์กร มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นคุณธรรมในการบรรลุยุทธศาสตร์และกลยุทธ์องค์กรที่รองรับการเปลี่ยนแปลง
มีเหตุมีผลคำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนพอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่ให้เสียโอกาส ไม่เป็นภาระ แต่กลับเสริมศักยภาพองค์กร สร้างภูมิคุ้มกันองค์กรที่ดีในการพึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งพิงให้ผู้อื่นได้ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง มีการบริหารความเสี่ยงรอบด้าน
“สอดคล้องกับ ESG ที่ต้องขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยภาวะความเป็นผู้นำที่ดี (Leadership) และใช้ประโยชน์นวัตกรรม (Innovation) นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับขององค์กร มุ่งยกระดับขีดความสามารถเพื่อเพิ่มคุณค่าและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับระบบนิเวศธุรกิจที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมพอเพียงเพื่อความยั่งยืน (Sufficiency for Sustainability)”
ที่อยู่อาศัยยั่งยืน
“ประเสริฐ ตระการวชิรหัตถ์” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อส่วนโครงการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิรินำโมเดล Green Supply Chain มาประยุกต์ใช้ร่วมทำงานกับคู่ค้า และเน้นการพัฒนาต่อยอดเพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และผลักดันให้คู่ค้าพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อต่อยอดการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
“แสนสิริยังสนับสนุนการใช้วัสดุที่มีการรับรองจากองค์กรอื่น ๆ หรือการรับรองด้วยตัวเอง (Self-Certified) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกกระบวนการในการพัฒนาโครงการจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในปี 2566 ที่ผ่านมาเรามีการตั้งเป้าหมายการจัดซื้อวัสดุที่มีการรับรอง Self-Certified 30%
ซึ่งเราบรรลุเกินกว่าเป้าหมายที่มีการจัดซื้อวัสดุดังกล่าวที่ 53% เรามีการวัดผลและติดตามผลที่จริงจัง และนำมาคำนวณในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อีกทั้งในแง่ของการผลิตวัสดุ คู่ค้าของเราเองก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อเรานำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ บ้านที่เราส่งมอบให้กับลูกค้า”
ดีไซน์เพื่อความยั่งยืน
“ศรีอำไพ รัตนมยูร” ประธานผู้บริหารสายงานการตลาด บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในโอกาสปีที่ 40 แสนสิริเราได้ Challenge ตัวเอง ภายใต้แนวคิด Design for Future และหนึ่งในแกนการออกแบบที่สำคัญคือ Design for Sustainability
“การออกแบบถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนความยั่งยืน เพราะถือเป็นต้นน้ำในการพัฒนาโครงการ แสนสิริจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ผสานแนวคิดความเข้าใจธรรมชาติ ต่อยอดอย่างสร้างสรรค์กับงานออกแบบ มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้งานได้จริง”
โรงงานพรีคาสต์สีเขียว
“องอาจ สุวรรณกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาโครงการแนวสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะไม่ใช่กลุ่มที่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจนี้ต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง แสนสิริและคู่ค้าเราคำนึงถึงสิ่งนี้และได้หาแนวทางและปรับกลไกการทำงานเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงทางธุรกิจในอนาคต
“แสนสิริมีโรงงานพรีคาสต์สีเขียว เป็นรายแรกของอสังหาฯไทย ที่ได้ ISO9001 & ISO14001 ทั้งระบบบริหารงานคุณภาพและระบบจัดการสิ่งแวดล้อม ได้รับการรับรองฉลากเขียวจากกระทรวง สามารถลดขยะภายในโรงงานได้มากถึง 98% (ไม่มีมลพิษทางเสียงและอากาศ) มีกำลังการผลิต 1,500,000 ตร.ม./ปี และสามารถผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย 3,700 ยูนิต/ปี
รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยวางรากฐานให้การก่อสร้างยั่งยืน เช่น นำระบบ BIM สำหรับการทำแบบก่อสร้างและการวางแผนก่อสร้าง ลดการใช้ทรัพยากรมากที่สุด นอกจากนี้ มีการตั้งเป้าหมายในการลดผลกระทบจากงานก่อสร้าง เช่น การลดขยะก่อสร้างภายในไซต์งานลง 15% รวมถึงมีการกำหนดใช้วัสดุ Low Carbon 30% ใน TOR และมีการทำ Dashboard ในการเก็บข้อมูลและการจัดการขยะ”
นับเป็นบทพิสูจน์สำคัญของ “แสนสิริ” และ Green Supply Chain ที่จะร่วมกันเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืน และเติบโตไปด้วยกัน ดำเนินธุรกิจบนแนวทาง ESG สร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อม