วิเคราะห์ตลาดคาร์บอนไทย คาร์บอนเครดิตยังไม่เพียงพอ

Photo: Andreas Gucklhorn/unsplash

การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) กลายเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงแค่ฝ่ายกำหนดนโยบายของประเทศจะเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่ภาคเอกชนก็เป็นผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนได้ ภายใต้การกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในรูปแบบธุรกิจ Net Zero

ปัจจุบันกลไกการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของประเทศไทยจะมีการดำเนินการผ่านการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือโครงการ T-VER ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) หรือ TGO

ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรนั้น ๆ (Carbon Offsetting) หรือขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เองด้วยเหตุผลต่าง ๆ ได้ เช่น ต้นทุนการดำเนินการ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ระยะเวลาลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจเป็นแรงส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2608 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) จึงจับมือกับธนาคารกสิกรไทย (KBank) และศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) อัพเดตสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ งานวิจัย “The 2024 Thailand’s Voluntary Carbon Market” ช่วยให้ข้อมูลสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต และการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เทียบเท่าระดับสากล ส่วนกลุ่ม SMEs ที่ต้องการทั้งความรู้และเงินทุน สามารถใช้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้จะนำไปประกอบการพิจารณา เสนอแนะนโยบายส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย

ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน
ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน

“ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน” รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557

Advertisment

ปัจจุบันมีขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ

ในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 MtCO2eq ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน

Advertisment

ล่าสุด (มิถุนายน 2567) มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 MtCO2eq มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท

ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. … ที่จะปรับใช้ในอนาคตอีกด้วย

พิพิธ เอนกนิธิ
พิพิธ เอนกนิธิ

“พิพิธ เอนกนิธิ” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในประเทศไทย ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด อุปสรรคสำคัญหนึ่งก็คือต้นทุนในการดำเนินการ ทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนา โครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

ผลการสำรวจสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ที่จัดทำโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการลดก๊าซเรือนกระจก โดยผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต มีแผนจะนำคาร์บอนเครดิตประเภทพลังงานทดแทนออกขายในตลาด

ขณะเดียวกันคาร์บอนเครดิตประเภทป่าไม้ที่มีราคาสูงจะมีออกขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามีแนวโน้มจะนำเครดิตไปใช้สำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองมากกว่า และมิติด้านราคา พบว่า ผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขายคาร์บอนเครดิตยินดีที่จะขาย มีแนวโน้มสูงกว่าราคาที่ผู้ซื้อยินดีที่จะซื้อในทุกกลุ่มประเภทโครงการ

ขณะที่ด้านมาตรการสนับสนุน พบว่า ควรมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วน ผ่านการสนับสนุนผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ซึ่งต้องการความรู้เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขาย และส่วนที่ 2 การพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เทียบเท่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดที่เป็นกลุ่ม SMEs ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือทางการเงิน และสร้างแรงจูงใจโดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้พัฒนาโครงการและมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจมากขึ้น