
ตลาดหัตถการบูมต่อเนื่อง หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ สังคมสูงวัย และเทคโนโลยีแบบ Non-Invasive Procedure ก้าวหน้า โดยมูลค่าตลาดความงามทางการแพทย์ในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะถึง 5.6 แสนล้านบาทในปี 2028 เมื่อตลาดโตขึ้น ขยะก็มากขึ้นด้วย โดยสถิติระบุว่าทั่วโลกมีขยะเกี่ยวกับอุตสาหกรรมความงามกว่า 120,000 ล้านชิ้นต่อปี Merz Aesthetics จึงผุดโครงการลดขยะ เฟสแรกอัพไซคลิ่งหัวส่งพลังงานอัลเทอร่า ที่เรียงกันสูงกว่าหอไอเฟล 12 หอ
ตลาดหัตถการเอเชีย ไทยโตอันดับ 2
ตลาดความงามในเอเชียแปซิฟิกกำลังเติบโตอย่างมาก โดยตลาดความงามทางการแพทย์ (Medical Aesthetic) มีมูลค่าประมาณ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 (ประมาณ 253,257 ล้านบาท) และคาดว่าจะถึง 15.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2028 (ประมาณ 560,019 ล้านบาท) (ข้อมูลจาก The Insight Partners และ Business Market Insights)
ขณะที่ตลาดอุปกรณ์ความงามในเอเชียแปซิฟิก กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตจาก 3.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 112,392 ล้านบาท) ในปี 2022 เป็น 8.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 313,896 ล้านบาท) ข้อมูลจาก Data Bridge Market Research
ทั้งนี้ ในเอเชียแปซิฟิก ประเทศที่ตลาดความงามทางการแพทย์โตเป็นอันดับ 1 คือ เกาหลีใต้ และประเทศไทยเป็นอันดับ 2
60% มาไทยเพื่อรักษาความงาม
ขณะที่ตลาดเวชศาสตร์ความงามของประเทศไทยเติบโตขึ้นเรือย ๆ โดยในปี 2023 มีมูลค่า 1.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาทไทย) ทั้งนี้ ภายในปี 2030 ตลาดคาดว่าจะเติบโตถึง 3.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท) ข้อมูลจาก Grand View Research
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ประมาณ 60% เดินทางมาเพื่อเข้ารับการรักษาความงาม และประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ความต้องการการรักษาความงามก็เพิ่มขึ้น
เมื่อตลาดโตขึ้น ขยะก็มากขึ้น
ปัจจัยที่ผลักดันเวชปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสวยเติบโตทั่วโลก ได้แก่ เทคโนโลยีล้ำหน้ามากขึ้น มีการยอมรับการดูแลรักษาแบบ Non-Invasive Procedure (การไม่ผ่าตัด แต่ใช้ยากิน คลื่นพลังงานอัลตราซาวด์ หรือยาฉีด) มากขึ้น
รวมถึงผู้คนมีความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความงาม และให้ความสำคัญกับความงามแม้จะสูงวัย ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลถึงความต้องการการรักษาและอุปกรณ์ความงามที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค
เมื่อตลาดโตขึ้นและการที่ผู้บริโภคเลือกใช้หัตถการความงามในตลาดพรีเมียม ขยะจากอุตสาหกรรมนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยสถิติจาก TRVST ระบุว่า มากกว่า 120,000 ล้านหน่วยต่อปี
ผนึกกำลังลดการฝังกลบขยะ
เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย (Merz Aesthetics Thailand) บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงามระดับโลก มีเป้าหมายลดการฝังกลบขยะสู่พื้นผิวโลกให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) และสร้างความมั่นใจให้แก่สังคมในการร่วมผลักดันสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของประเทศไทยในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการจัดการขยะที่เกิดจากหัตถการความงาม (Aesthetics Waste)
จึงได้เปิดตัวโครงการ “Merz Aesthetics Set Zero Aesthetics Waste” ครั้งแรก ชูจุดยืนขององค์กรด้วยแนวคิด Merz Aesthetics WORK for Sustainability โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์คลินิก และพันธมิตรที่ช่วยผลักดันความยั่งยืน ได้แก่ บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด, แบรนด์ควอลี่ (Qualy) ของบริษัท นิว อาไรวา จำกัด, และ บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด

“เภสัชกรหญิง กิตติวรรณ รัตนจันทร์” ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย และสิงคโปร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปี เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ได้จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์เสริมความงามที่ผลิตและนำเข้าจากทวีปยุโรป
การดําเนินธุรกิจในประเทศไทยมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ และพนักงาน บริษัทมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้คนดูดี รู้สึกดี และได้ใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุด
ที่ผ่านมาธุรกิจของเมิร์ซ เอสเธติกส์โตต่อเนื่อง และเวชภัณฑ์ได้รับความต้องการสูงขึ้นจากคลีนิคทั่วประเทศ ทำรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี มีลูกค้ากว่า 400 คลินิค ขณะที่หัว Ultherapy Transducer มียอดขายประมาณ 1,000 หัวต่อเดือนในตอนนี้
“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกอุตสาหกรรมเป็นมีส่วนในการสร้างขยะจำนวนมาก ซึ่งเมิร์ซฯก็ตระหนักถึงการทําให้เกิดขยะจากหัตถการความงาม จึงริเริ่มที่จะจัดการกับขยะเหล่านี้ตั้งแต่ปีนี้ หากนำจำนวนของหัว Ultherapy Transducer ที่ใช้แล้วของเมิร์ซฯจากการจำหน่ายในไทย 9 ปีที่ผ่านมาเรียงต่อกันในแนวตั้ง ก็จะสูงเท่ากับหอไอเฟล 12 หอต่อกัน (สูง 3,900 เมตร) ขณะที่กล่องผลิตภัณฑ์กระดาษ มีน้ำหนักรวม 17.45 ตัน หรือเท่ากับช้างแอฟริกันโตเต็มวัย 3 ตัว”
แยกขยะ-เก็บกลับ-ส่งอัพไซคลิ่ง
เมิร์ซ เอสเธติกส์เล็งเห็นถึงปัญหาขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมหัตถการความงาม และมุ่งหมายที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเวชศาสตร์ความงามและประเทศไทย จึงทำโครงการ Merz Aesthetics Set Zero Aesthetics Waste โดยมีขึ้นตอน ดังนี้
- คลินิกสีเขียวที่เข้าร่วมโครงการทำการแยกขยะ
- เก็บกลับโดย เคอรี่ โลจิสติคส์
- ส่งเข้าพาร์ทเนอร์ แบรนด์ควอลี่ และรีไซเคิลเดย์ เพื่อทำกระบวนการ Upcycling สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ และ Recycle อย่างถูกวิธี เพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบให้มากที่สุด ตามหลักการสากล Zero Waste to Landfill
“โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ที่ไม่เพียงแต่เป็นการลดปริมาณขยะที่เกิดจากหัตถการความงาม แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เราเชื่อว่าความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์คลินิกและพันธมิตรของโครงการ จะเป็นก้าวสำคัญในการนำพาธุรกิจของเราและประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว” ภกญ. กิตติวรรณ กล่าว
สำหรับโครงการระดับโลกที่ Merz ทำมานานต่อเนื่องคือ การลดกระดาษจากแผ่นพับในกล่อง โดยเมิร์ซฯเลือกใช้ QR Code แทน นอกจากนั้น เทคโนโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ของเราก็ก้าวหน้า มีความคงตัวสูง จึงไม่จำเป็นต้องแช่เย็นในประเทศที่อากาศไม่ร้อนมาก ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 58%
“มานะ” ช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์
ในเฟสแรกมีคลินิกสีเขียวที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 12 คลินิก โดยเป็นคลินิกระดับแนวหน้าที่มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมิร์ซฯได้จัดทำเว็บไซต์ติดตามผลการดำเนินงานของโครงการนี้ที่ www.merzaestheticssetzerowaste.com
จากสถิติ ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2024 มีจำนวนหัว Ultherapy TD ที่เก็บกลับได้ 1,936 หัว ผลิตเป็นถังอเนกประสงค์ “มานะ” โดยแบรนด์ควอลี่ ได้ 193 ใบ ขณะที่บรรจุภัณฑ์กระดาษต่าง ๆ ที่ถูกนำไปรีไซเคิลโดยรีไซเคิลเดย์ มีมากกว่า 131 กิโลกรัมสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์เทียบเคียงไปแล้วถึง 787 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ค่าเทียบเคียงการปลูกต้นไม้ 82 ต้น
ทั้งนี้ ภายในปี 2027 เมิร์ซฯตั้งเป้าที่จะขยายความร่วมมือกับคลินิกคู่ค้าสีเขียวเพิ่มขึ้นถึง 180 แห่ง ซึ่งจะสามารถช่วยกันลดคาร์บอนฟุตพรินต์จากขยะที่เกิดจากหัตถการความงามเท่ากับ 9,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์
ภาคธุรกิจสนใจเพิ่มคุณค่าให้ขยะมากขึ้น
“ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์” นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ควอลี่ กล่าวว่า Qualy ออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม/ความยั่งยืน (Creative Design for Sustainability) มุ่งเป้าในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ คู่ค้าธุรกิจโดยตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้ง ผู้บริโภค โดยใช้ศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การผลิต ช่องทางสื่อสาร และช่องทางการค้า ในการผลักดันสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs: Sustainable Development Goals)
แนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญของควอลี่ในการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อมกับการรักษ์โลก จึงเป็นที่มาของถังอเนกประสงค์ “มานะ” ซึ่งผลิตมาจากหัว Ultherapy Transducer ที่ใช้แล้วจากพาร์ทเนอร์คลินิกต่าง ๆ ของเมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย นำมาผ่านกระบวนการ upcycle ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งและยังสามารถนำไปใช้ได้ประโยชน์จริงในชีวิตประจำวัน
“ปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสนใจการนำขยะจากธุรกิจส่งมา Upcycling ทุกปี เติบโตแบบดับเบิ้ล และผมมองว่าเทรนด์ของการลดขยะจะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากแบบแยกชิ้น”
ผสานเทคโนโลยีให้การรีไซเคิลง่าย
“ชนัมภ์ ชวนิชย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด กล่าวว่า รีไซเคิลเดย์ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการลดและจัดการขยะจากหัตถการความงามอย่างยั่งยืนของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย โดยเราจะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในด้านการจัดการและรีไซเคิลขยะมาตรฐานสากล มาช่วยผลักดันให้ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนได้ในอนาคต
“Recycle Day ก่อตั้งขึ้นจากความมุ่งมั่นของกลุ่มนักคิดด้านการจัดการขยะ เราผสานรวมเทคโนโลยีเพื่อให้การรีไซเคิลง่าย สำหรับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม โดยมีแอปพลิเคชัน Recycle Day จะบันทึกกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดตั้งแต่การส่งไปรับ การกำจัด และการรีไซเคิลในขั้นตอนสุดท้าย เราตั้งเป้าที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในแง่ของการแยกขยะและการขายขยะต่อ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”