SMEs ปรับตัว-เติบโต เน้นกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ โดย World Bank ระบุว่า SMEs มีส่วนสนับสนุนรายได้ประเทศชาติ (GDP) มากถึง 40% ในเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) ในปี 2565 ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 3.2 ล้านราย ซึ่ง SMEs เหล่านี้ยังช่วยลดอัตราการว่างงานในท้องถิ่น หนุนการจ้างงานกว่า 70% จากจำนวนการจ้างงานภาคธุรกิจทั้งหมด 18.07 ล้านคน

“ชมรมบัวหลวง SME” ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ด้วยวัตถุประสงค์สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกกว่า 2,000 ราย หนึ่งในกิจกรรมของชมรมคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ และฝ่ายเศรษฐกิจของธนาคารกรุงเทพ

ล่าสุดชมรมจัดกิจกรรมเยี่ยมชมธุรกิจของ 2 สมาชิก คือ บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด บริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ จ.สมุทรปราการ และบริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด ฟาร์มไก่ไข่ชื่อดัง จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้ธีม “SME Transformation” ปรับตัว-เปลี่ยนความท้าทายกลายเป็นโอกาสเติบโต และกลยุทธ์ธุรกิจใหม่สู่ความยั่งยืน ESG

กำพล กุลวรานนท์
กำพล กุลวรานนท์

ความท้าทาย SMEs ไทย

“กำพล กุลวรานนท์” ประธานชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี กล่าวว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อการเริ่มต้นหรือการขยายธุรกิจ นอกจากนั้น ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกลุ่มอาชีวะเป็นภาคส่วนสำคัญสำหรับ SMEs ภาครัฐต้องช่วยสนับสนุนด้านการศึกษา ให้คนมีทักษะที่จำเป็น เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

“หากเอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการขาดนวัตกรรมก็จะเติบโตยาก ผู้ประกอบการต้องตามทันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและบูรณาการเทคโนโลยีใหม่เข้ากับการดำเนินงาน ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับ SMEs ในไทยจำนวนมาก ความท้าทายเหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนและนโยบายที่ตรงเป้าหมายเพื่อช่วยให้ SMEs เอาชนะอุปสรรค และมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สำหรับธนาคารกรุงเทพไม่เพียงสนับสนุนเอสเอ็มอีในด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป็น Facilitator ที่ช่วยประสานความร่วมมือกับภาคราชการและสถาบันการศึกษา ให้มาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เทคโนโลยีการผลิต การเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านเครือข่าย Supply Chain

ADVERTISMENT

อีกทั้งธนาคารยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ของธนาคาร รวมถึงเปิดพื้นที่ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาร่วมออกร้านและนำเสนอสินค้าคุณภาพดี ราคาพิเศษให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ในงาน “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์” เป็นประจำทุกปี

สินเชื่อยึดหลัก ESG

ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนเพียงพอสำหรับปรับปรุงธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความท้าทายจากเทรนด์ต่าง ๆ ของโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Credit)

ADVERTISMENT

ได้แก่ สินเชื่อ “Bualuang Green และ Bualuang Green Solar Energy” ที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ยึดหลัก ESG

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอี 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ประสบปัญหาต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องการการดูแลช่วยเหลือให้ฟื้นตัวและประกอบกิจการต่อไปได้

และ 2.กลุ่มที่ต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนปรับกิจการให้ทันโลกในยุคดิจิทัลและภาวะปกติใหม่ (Next Normal) ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (Disruption)

สมพงษ์ วาทินชัย
สมพงษ์ วาทินชัย

Transformation

“สมพงษ์ วาทินชัย” รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ดีไซน์ ออลเทอร์เนทีฟ จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เริ่มจากอุตสาหกรรมจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ห้องปฏิบัติการ เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ห้องครัวและที่อยู่อาศัย

โดยการดำเนินธุรกิจแบบ Total Turnkey Solution บริการให้คำปรึกษา ออกแบบ ผลิต ติดตั้ง และงานบริการหลังการขายแบบครบวงจร ซึ่งได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า 11 ประเทศทั่วโลก

“เราให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในโรงงาน เพื่อ Transform ธุรกิจของเราให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยได้ลงทุนไปกว่า 200 ล้านบาท ทั้งโปรแกรมและเครื่องจักร และหลังจากที่เรานำเอไอมาใช้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทุ่นแรงพนักงาน และเกิดความผิดพลาดน้อยลง จึงทำให้ลดขยะจากกระบวนการผลิต

นอกจากนั้น เรามีการนำเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น หนังเทียม มาผลิตเป็นของตกแต่ง หรือของใช้ที่มีประโยชน์ หรือนำเศษไม้มาขายเป็นเชื้อเพลิงแก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือผลิตเป็นเก้าอี้ ทำให้จากที่เคยมีขยะ 30% ตอนนี้ก็เหลือ 5-8% ส่วนเรื่องของสภาพอากาศ เราใช้ระบบเครื่องจักรดูดฝุ่นไม้ SILO (Dust Collector System) ช่วยลดฝุ่นละออง PM 2.5”

การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2570 และมีการลงทุนในสหภาพยุโรปและอเมริกา จึงต้องมีมาตรฐานตามที่ประเทศเหล่านั้นกำหนด ดังนั้น ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) กลายเป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น นอกจากนั้น ชื่อเสียงและมูลค่าแบรนด์จะดีกว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับ ESG

(ซ้าย) สุทธิพร ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการผู้จัดการ และ (ขวา) ธีรพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด 

ฟาร์มไก่ Zero Waste

“ธีรพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์” กรรมการ บริษัท ฟาร์มระพีพัฒน์ (1999) จำกัด กล่าวว่า ได้ปรับเปลี่ยนการเลี้ยงไก่แบบเดิม ให้สามารถก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะราคาที่ผันผวนตลอดเวลา จึงได้พัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่ในรูปแบบโรงเรือนแบบระบบปิด มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเลี้ยงไก่-เก็บไข่ไก่ ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่เปลี่ยนแปลง ไก่อยู่สบายขึ้น ไม่เป็นโรค ผลผลิตดี

ปัจจุบันสามารถผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 300,000 แสนฟองต่อวัน โดยพื้นที่ในฟาร์มทั้งหมดจะถูกแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงไก่ 20% และอีก 80% สำหรับปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขณะที่ของเสียหรือมูลไก่ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเลี้ยงไก่ จะถูกนำไปผลิต Biogas สำหรับปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม

และมูลไก่บางส่วนจะผ่านกระบวนการหมักเพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ย ส่วนซากไก่ที่ตายแล้วจะถูกนำไปเป็นอาหารในฟาร์มจระเข้ โดยฟาร์มระพีพัฒน์ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Zero Waste หรือการลดขยะหรือของเสียให้เป็นศูนย์

ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับฟาร์มให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุขแล้ว ยังตอบโจทย์กระแสโลกอย่าง Sustainability ส่งผลดีต่อการค้าขาย การขยายตลาด รวมทั้งการขอสินเชื่อเพื่อนำมายกระดับและพัฒนาฟาร์มให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย