ช่วงปี 2562 ธุรกิจสิ่งทอทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องมองหาทางเลือก แต่ก็ไม่อยากทิ้งโรงงาน คุณยายพูดเสมอว่า ‘บ้านเราทำขยะให้เป็นทอง บวกกับผมเห็นโอกาสภายใต้เป้าหมาย SDGs และ Paris Agreement จึงใช้ขยะสิ่งทอ มาสร้างแบรนด์ผ้ารีไซเคิล
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 “จิรโรจน์ พจนาวราพันธ์ุ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC Grand กล่าวในงานสัมมนา Prachachat ESG Forum 2024 หัวข้อ “Time for Action #พลิกวิกฤต โลกเดือด” ว่า กิจการของบริษัทสืบทอดกันมาสู่รุ่นที่ 3 โดยรวบรวมขยะสิ่งทอจากหลากหลายอุตสาหกรรม นำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อให้เกิดเป็นสินค้าประเภทผ้า
“จิรโรจน์” เล่าว่า รุ่นที่ 1 เป็นการซื้อมาขายไปในอุตสากรรมสิ่งทอที่มี Textile Waste ถัดมารุ่นที่ 2 อากงเปิดโรงงานปั่นด้าย เอาเศษด้ายมาทำแมสโปรดักต์ เช่น ผ้าม็อบถูพื้น และตอนนี้นี้รุ่นที่ 3 เราเห็นโอกาสเกี่ยวกับคุณค่าที่องค์กรมีอยู่ เลยต่อยอดทำเกี่ยวกับผ้ารีไซเคิล นอกจากนั้น เรามองถึงเรื่องความสำคัญของการเป็นตักศิลาด้านแฟชั่น และเรากำลังเบนเข็มเข้าสู่ ESG อย่างชัดเจน เพราะจุดมุ่งหมายของเราคือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
“หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเบนเข็ม มา Recycle และ Upcycle คือ ช่วงปี 2562 เราเห็นเพื่อน ๆ ที่ทำธุรกิจสิ่งทอทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องมองหาทางเลือกใหม่ แต่ก็ไม่อยากทิ้งโรงงาน เพราะคุณยายรักโรงงานนี้มาก คุณยายพูดเสมอว่า ‘บ้านเราทำขยะให้เป็นทอง หมายความว่า เราทำของที่ไม่มูลค่าให้มีมูลค่าสูงขึ้น’
บวกกับผมเห็นโอกาสภายใต้เป้าหมาย SDGs และ Paris Agreement จึงเลือกทำธุรกิจรีไซเคิลผ้าเก่าให้เป็นผ้าใหม่ โดยใช้ขยะสิ่งทอในอุตสาหกรรมแฟชั่น และขยายไลน์สร้างแบรนด์ผ้ารีไซเคิล ยกตัวอย่างเช่น เราช่วยรีไซเคิลเสื้อผ้ายูนิฟอร์มเก่าของการบินไทย ให้เป็นเสื้อโปโลกว่าหมื่น และยังมีความร่วมมือกับอีกหลายแบรนด์ ๆ”
“จิรโรจน์” กล่าวด้วยว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังโควิด คือ ทุกประเทศทั่วโลกมีประเด็นที่พูดถึงซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่เรื่อง โดยเรื่อง ESG คือหนึ่งในนั้น ซึ่งในประเทศไทยก็มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ องค์กรเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากในช่วย 3-4 ปีที่ผ่านมา
“อนาคตเรื่อง ESG มันชัดเจน เราแค่ต้องสร้างกลยุทธ์ให้แข็งแรงในวันที่กระแสน้ำมันพัดมา สำหรับตัวผมมองว่า ESG คือโอกาส แล้วอนาคตมันก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ รวมถึงเรื่อง Circular Econpmy ด้วย เพราะเป็นปัจจัยทำให้ภาคธุรกิจสามารถตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้”