“ประชาชาติธุรกิจ” จัดเวทีสัมมนา “PRACHACHAT ESG FORUM 2024” ภายใต้ธีม “Time for Action #พลิกวิกฤตโลกเดือด” โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญ คือ เสวนาพิเศษ “Pain Point” สู่โอกาสใหม่ โดยมี “จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท SC GRAND จำกัด และ “ชลากร เอกชัยพัฒนกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาแบ่งปันแนวคิด จุดเปลี่ยน และการปรับตัว เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ โลก และสังคม
ทางรอด ธุรกิจสิ่งทอ
“จิรโรจน์” เล่าว่า SC GRAND มีบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งทอยั่งยืนให้เลือกหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจที่ให้ความสนใจในเรื่องความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอยั่งยืนประเภท ผ้า, โปรเจ็กต์รีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นเสื้อผ้าใหม่ (Closed Loop) และบริการผลิตสินค้าตามต้องการ (OEM) ทั้งที่เป็นผ้า และสินค้าสำเร็จรูป
“ตอนนี้ผมเป็นรุ่นที่ 3 ย้อนไปรุ่นที่ 1 เป็นการซื้อมาขายไปในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มี Textile Waste ถัดมารุ่นที่ 2 อากงเปิดโรงงานปั่นด้าย เอาเศษด้ายมาทำแมสโปรดักต์ เช่น ผ้าม็อบถูพื้น และรุ่นที่ 3 เราเห็นโอกาสเกี่ยวกับคุณค่าที่องค์กรมีอยู่ เลยต่อยอดทำเกี่ยวกับผ้ารีไซเคิล
นอกจากนั้น เรามองถึงเรื่องความสำคัญของการเป็นตักศิลาด้านแฟชั่นที่มีความยั่งยืน จึงเบนเข็มเข้าสู่ ESG อย่างชัดเจน เพราะจุดมุ่งหมายของเราคือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเบนเข็มมา Recycle และ Upcycle คือ ช่วงปี 2562-2563 เราเห็นเพื่อน ๆ ที่ทำธุรกิจสิ่งทอทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องมองหาทางเลือกใหม่ แต่ก็ไม่อยากทิ้งโรงงาน เพราะคุณยายรักโรงงานนี้มาก คุณยายพูดเสมอว่า ‘บ้านเราทำขยะให้เป็นทอง หมายความว่า เราทำของที่ไม่มีมูลค่าให้มีมูลค่าสูงขึ้น’
บวกกับผมเห็นโอกาสภายใต้เป้าหมาย SDGs และ Paris Agreement และเห็นว่าจุดแข็งขององค์กรเรา คุณค่าขององค์กรเราคืออะไร เลยอยากทำให้ธุรกิจรีไซเคิลผ้าเก่าให้เป็นผ้าใหม่เกิดขึ้น โดยใช้ขยะสิ่งทอในอุตสาหกรรมแฟชั่น และขยายไลน์สร้างแบรนด์ผ้ารีไซเคิล
ยกตัวอย่าง เช่น เราช่วยรีไซเคิลเสื้อผ้ายูนิฟอร์มเก่าของการบินไทย ให้เป็นเสื้อโปโลกว่าหมื่นตัว และยังมีความร่วมมือกับอีกหลายแบรนด์ ๆ”
“จิรโรจน์” กล่าวว่า “บิลล์ เกตส์ เคยเขียนไว้ในหนังสือ How to Avoid a Climate Disaster ว่า ปีหนึ่ง ๆ activity ของมนุษย์ปล่อย CO2 ประมาณ 51 พันล้านตัน และถ้าคุณไปเสิร์ชใน Google จะรู้ว่า วงการอุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยประมาณ 7-10% เลย เพราะฉะนั้น พวกนี้พอมันย้อนกลับมา ทุกคนจะรู้เลยว่าเสื้อผ้าที่เราใส่ มันมีผลกระทบต่อการทำให้โลกร้อนมาก แล้วเราจะทำอะไรกับมันได้”
SC GRAND จึงเลือกใช้ของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้ว รวมถึงของเสียจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อกลายเป็นผ้าใหม่นั้น ช่วยลดความต้องการในการใช้วัตถุดิบที่ต้องปลูกหรือผลิตขึ้นใหม่ ทำให้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตได้ในปริมาณมาก
“จิรโรจน์” กล่าวด้วยว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังโควิด คือ ทุกประเทศทั่วโลกมีประเด็นที่พูดถึงซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่เรื่อง โดยเรื่อง ESG คือหนึ่งในนั้น ซึ่งในประเทศไทยก็มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ องค์กรเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
“อนาคตเรื่อง ESG มันชัดเจน เราแค่ต้องสร้างกลยุทธ์ให้แข็งแรงในวันที่กระแสน้ำมันพัดมา สำหรับตัวผมมองว่า ESG คือโอกาส แล้วอนาคตมันก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ รวมถึงเรื่อง Circular Economy ด้วย เพราะเป็นปัจจัยทำให้ภาคธุรกิจสามารถตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้”
พาเกษตรกรสู่วิถียั่งยืน
บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Be Organic from Farm to Table” รวมถึงบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ โดยมีร้านที่หลายคนรู้จักในนาม “โอ้กะจู๋” และตอนนี้ธุรกิจได้ขยายร้านอาหารอีก 2 แบรนด์ คือ Ohkajhu Wrap & Roll และ Oh Juice
“ชลากร” เล่าว่า ธุรกิจของตนเองมีจุดเริ่มต้นจากความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่เชียงใหม่ แล้วคุณพ่อมีบ้านพักอยู่บนดอย หมู่บ้านแม่กำปอง จึงมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่นั่นตั้งแต่เล็ก ๆ แล้วคุณพ่อชอบเล่าให้ฟังว่า แม่กำปองมีความสำคัญ เป็นป่าต้นน้ำของ จ.เชียงใหม่
“ตอนนั้นพื้นที่หลังบ้านของพ่อ ตั้งใจให้ชาวบ้านมาปลูกกาแฟแล้วก็เก็บเกี่ยว ซึ่งเจตนารมณ์ของคุณพ่อคือ อยากจะรักษาป่าต้นน้ำ ทำให้ผมได้รับการปลูกฝังเรื่องรักษาธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้น ผม ‘อู๋’ และเพื่อนชื่อ ‘โจ้’ เกิดความสนใจที่จะผสมผสานเกษตรสมัยใหม่กับวิธีการเกษตรแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มทำการเกษตร
และตอนแรก ๆ เราคุยกันและตั้งคำถามว่า ถ้าไปซื้อผักที่ตลาดทั้งรู้ว่ามียาฆ่าแมลงหรือสารเคมีปนเปื้อน จะกล้าซื้อไปให้คนที่บ้านทานไหม คำตอบของเรา 2 คน คือ ‘ไม่’ ดังนั้น เราจึงหันมาปลูกผักออร์แกนิกกัน และที่มาของชื่อบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ คือ เราอยากให้คุณแม่ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของทุกครอบครัวมีอายุยืน มีสุขภาพที่ดี”
“ชลากร” บอกว่า ได้ฟังข่าวว่า จ.เชียงรายน้ำท่วม ซึ่งถ้ามาวิเคราะห์ สาเหตุส่วนหนึ่งคือ ไม่มีป่า เพราะถูกเผาไปเยอะ ตนเองเคยขึ้นไปบนดอยแล้วถามเกษตรกรว่า ทำไมถึงใช้วิธีเผาป่าเพื่อทำเกษตร เพราะมันเป็นต้นเหตุของ PM 2.5 พวกเขาตอบกลับว่า เขาต้องหาเงินส่งเสียลูกเรียน และดูแลครอบครัว
จึงเกิดความรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้อยากที่จะเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำเกษตร แต่ขาดโอกาสและทางเลือก เลยชวนมาปลูกผักออร์แกนิกแล้วรับซื้อเอง ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 100 ครัวเรือน ทำมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว
“ผมรับผลผลิตของเกษตรกร 30% แล้ว 70% ผมปลูกเอง ถ้าถามว่าผมทำเอง 100% ได้มั้ย ผมคงตอบ ‘ได้’ สมมติว่าปีหน้าผมจะขยาย 10 สาขา ผมต้องปลูกจากเดิม 380 ไร่ เป็นพันไร่ ผมก็ทำเองได้ แต่ผมจะได้อะไรจากตรงนั้น นอกจากได้ป่าหัวโล้นมาเหมือนเดิม ได้ PM 2.5 เหมือนเดิม ได้น้ำในแม่น้ำที่มียาฆ่าแมลงเหมือนเดิม”
“ชลากร” กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนทำไม่ใช่แค่เรื่องของผลกำไร เพราะสิ่งที่เราได้กลับคืนมา เกษตรกรจากที่จะปลูกอะไรบางอย่างต้องไปกู้เงินมาลงทุน ทำให้เป็นหนี้ แต่พอบริษัทให้โอกาสปลูกผักส่ง เกษตรกรแค่เอาใจใส่ดูแล ได้ผลผลิตก็ส่งมาให้บริษัท ทำให้เกษตรกรได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยาฆ่าแมลงสารเคมีไม่มี ได้รายได้ ส่งลูกเรียนได้ ได้ป่าต้นน้ำกลับคืนมาให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้
“ผมไม่ได้มองว่า การทำงานร่วมกับเกษตรกร และเดินตามแนวทาง ESG เป็นต้นทุน แต่มันเป็นวิถีที่จะทำให้เราอยู่ไปได้อย่างมั่นคงตลอดไป พอมาผนวกกับวิถีออร์แกนิก ซึ่งเป็นวิถีที่คนสมัยโบราณใช้อยู่แล้ว บริษัทอย่างผมก็สามารถช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น”
ศรัทธา คำนี้มีพลังยิ่งใหญ่ การได้รับประทานผักสดปลอดสารพิษจากการที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจ และเชื่อมั่นต่อพลังสามัคคีของเกษตรกร ได้เห็นการงอกงามแตกใบของผักที่ปลูก ได้ตัดเก็บผลผลิตจากต้นด้วยมือผู้ปลูก ได้ตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่ปลูก คือพื้นฐานสำคัญของสุขภาพกาย และสุขภาพใจ