เบื้องหลังการรังสรรค์คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าระหว่าง good goods (กู้ด กู้ดส์) ภายใต้ “เซ็นทรัล ทำ” และ MOO Bangkok (หมู แบงค็อก) ภายใต้ “อาซาว่า กรุ๊ป” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ และสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี นอกจากนี้ ยังมุ่งเป้าไปสู่การตัดเย็บที่เป็น Zero Waste โดยใช้เศษผ้าเป็นดีเทลในชุดต่าง ๆ ไม่ให้เหลือทิ้งอีกด้วย
good goods x MOO Bangkok ได้ผสมผสานอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน ออกแบบเป็นสินค้าไทย ดีไซน์ร่วมสมัย เข้าถึงง่าย สวมใส่ได้ทุกวัน โดยนำร่องทำงานสร้างสรรค์สินค้าร่วมกับกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และขยายความร่วมมือกับ 2 ชุมชน
คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าครองวิถี อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนางาม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าพื้นเมืองมีรายได้ที่มั่นคง
“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า good goods เป็น Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ภายใต้ Central Tham (เซ็นทรัล ทำ) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีคุณภาพและดีไซน์ร่วมสมัย โดยมีเป้าหมายเพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมและสนับสนุนชุมชนไทยให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า good goods จะถูกนำกลับไปพัฒนาชุมชนต่อไป
“เราทำงานร่วมกับชุมชนที่มีความตั้งใจทำงานหัตถกรรม และมีศักยภาพที่เข้มแข็ง โดยเราจะช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบ ปรับปรุงสินค้า และต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สินค้าของ good goods มีหลากหลายประเภท เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน อาหาร และกาแฟ”
จากที่มีร้าน good goods สาขาแรก ที่ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ได้ขยายสาขาไปที่จริงใจมาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ และเซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า จ.ภูเก็ต เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ของ good goods ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในกลุ่มลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยว
ปัจจุบันลูกค้าต่างชาติคิดเป็น 70% ของลูกค้าทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ ยอดขายของแบรนด์ปี 2567 เติบโตจากปีที่แล้วเป็นเท่าตัว จากยอดขาย 200 ล้านบาท พุ่งขึ้นเป็น 400 ล้านบาท
“พิชัย” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นการยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสานสู่สินค้าแฟชั่นที่ดังไกลระดับอินเตอร์ของ “กลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก” อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ว่า “เริ่มจาก Central Tham เห็นความมุ่งมั่นและตั้งใจของชุมชน ดังนั้นในปี 2563 จึงผนึกกำลังกับสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สกลนคร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก
โดย Central Tham ต่อยอดการย้อมครามสู่การย้อมสีธรรมชาติ นำผู้เชี่ยวชาญร่วมฝึกสอนเทคนิคการมัดย้อมชิโบริ เพื่อให้สินค้ามีดีไซน์ที่ร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมให้การสนับสนุนช่องทางการจำหน่าย รวมถึงด้านอื่น ๆ
เช่น ผลิตสินค้าจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods สนับสนุนพื้นที่การออกบูทในงานจริงใจ มาหานคร ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และจริงใจมาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่าล้านบาท ในปี 2566”
ต่อจากนั้นได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร โดยเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้านหลัก ดังนี้
หนึ่ง ป่าให้สี ภายใต้คอนเซ็ปต์ ผืนป่า สู่ผืนผ้า : เพื่อปรับปรุงป่าชุมชนบนพื้นที่ 18 ไร่ ให้เป็นพื้นที่รวมพันธุ์ไม้ให้สีย้อมผ้า โดยพันธุ์ไม้ที่พบในป่ามีไม้ยืนต้นหลากหลายพันธุ์มากกว่า 318 ต้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ป่า มีการเก็บข้อมูล ระบุพิกัดตำแหน่ง ติดรหัส และทำ QR Code รวบรวมข้อมูลการให้สีของพันธุ์ไม้ และมีการศึกษาต่อเนื่องในด้านการขยายพันธุ์ไม้ในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อประโยชน์ของชุมชนและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
สอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ : ทำการคัดเลือกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ป่าให้สี นำมาทดสอบการให้สีย้อมผ้า ผ่านกระบวนการกรรมวิธีที่แตกต่างกัน เพื่อให้สีย้อมผ้ามีเฉดสีที่หลากหลายและมีคุณภาพมากที่สุด นอกจากนั้น ยังบูรณาการความรู้เพื่อบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการนำใบไม้และเปลือกไม้ที่เหลือจากกระบวนการผลิตนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และกระดาษสา ในลำดับถัดไป
สาม สร้างการท่องเที่ยวชุมชน : ช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับผู้สนใจและนักท่องเที่ยวที่มาเรียนรู้การทอผ้าย้อมคราม ได้แก่ จัดเส้นทางท่องเที่ยว ทำป้ายแผนที่ให้ความรู้ จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปการมัดย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมวิถีภูไท ทานอาหารท้องถิ่น ชมป่าให้สี แวะชิมข้าวฮาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวอีสาน รวมถึงการบริหารจัดการขยะในชุมชนด้วย
“พิชัย” กล่าวว่า ในปี 2567 ได้ร่วมมือกับ คุณหมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศ ผู้ก่อตั้ง Asava Group ในการร่วมออกแบบคอลเล็กชั่นพิเศษที่ประยุกต์ใช้เทคนิคมัดย้อม ตลอดจนมีการให้คำปรึกษา สนับสนุนในการสร้างแบรนด์ “เฮือนทอ” ที่เป็นแบรนด์สินค้าของชุมชน ปรับปรุงร้านค้า อาคารสถานที่ โรงย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจด้านการย้อมครามและสีธรรมชาติ
“การย้อมสีด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ และดอกไม้ ไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย แต่ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำและดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้ามัดย้อมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
ด้าน “พลพัฒน์ อัศวะประภา” ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป กล่าวว่า Asava เน้นการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพสูง ส่งเสริมแฟชั่นแบบช้า (Slow Fashion) แฟชั่นที่เน้นความเรียบง่าย ลดขยะ และส่งเสริมการบริโภคอย่างมีสติ
การเลือกเสื้อผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยให้ทุกคนมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืน และมีจริยธรรมมากขึ้น สำหรับอาซาว่า กรุ๊ป เองก็พยายามส่งเสริมการใช้ผ้ารีไซเคิล ผ้าใยธรรมชาติ และผ้าที่ทำจากวัสดุเหลือใช้ ถึงแม้ในปัจจุบันการทำเสื้อผ้าจากวัสดุเหล่านี้จะเพิ่มต้นทุน 5-10% แต่เชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะถูกลงเรื่อย ๆ
“สำหรับความพิเศษของคอลเล็กชั่นที่ร่วมกับ good goods คือ การสนับสนุนงานฝีมือไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยทุกเทคนิคที่ใช้ล้วนเป็นกระบวนการธรรมชาติ ทั้งการย้อมสี การเข็นฝ้ายด้วยมือ และการมัดย้อมเส้นใย นอกจากนี้ ยังมีการนำผ้า Zero Waste หรือเศษผ้าที่ถูกทอมาใช้เป็นดีเทลในชุดต่าง ๆ ซึ่งปรากฏในแฟชั่นไอเท็มที่สวมใส่ง่าย เช่น เสื้อฮาวาย กางเกงขาสั้น และแจ็กเกต”
เสื้อผ้าและกระเป๋าที่ทำออกแบบมีการผสมผสานเอกลักษณ์ของผ้าย้อมครามแบบดั้งเดิมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัย ในสไตล์ Urban Ready to Wear ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eternal Sunshine ที่สะท้อนความสดใส รอยยิ้ม และพลังบวก ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต
โดยดึงเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาถ่ายทอดผ่านเสื้อผ้า สื่อถึงความอบอุ่นและรอยยิ้ม และยังได้สอดแทรกความเป็นไทยเข้าไปในดีไซน์ ผ่านลวดลายเพสลีย์ที่พิมพ์บนผ้าช้าง ซึ่งเป็นคีย์ลุกหลักของคอลเล็กชั่น รวมถึงเสื้อยืดจากผ้ามัดย้อมที่มีการแต่งแต้มสีสันให้เข้ากับความสนุกสนานแบบไทย ๆ
การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการใช้ผ้ามัดย้อมและการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างรายได้และความยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง