เปิดผลสำรวจ 29 แบรนด์ แข็งแกร่งยั่งยืน-ทรงพลังที่สุดในไทย

ถือว่า น่าสนใจมาก เมื่อภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “The Most Powerful Brands of Thailand 2024” หรือ “สุดยอดแบรนด์ทรงพลังของประเทศไทย 2024” เมื่อเร็ว ๆ นี้ มอบรางวัลให้กับ 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานนี้ถือเป็นการสำรวจแบรนด์ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด กล่าวว่า การจัดอันดับความแข็งแกร่งของแบรนด์ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุก 2 ปี และในปี 2567 ถือเป็นครั้งที่ 7

นอกจากจะมีการประกาศรางวัลแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดใน 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์แล้ว

“คณะผู้วิจัย” ยังได้ทำการวิเคราะห์ “ปัจจัยสำคัญ” ที่มีส่วนสนับสนุน และส่งเสริมให้แต่ละแบรนด์มีความแข็งแกร่ง เพื่อนำมาเป็น “องค์ความรู้” ในการกำหนดกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีกด้วย

Advertisment
รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์
รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์

รศ.ดร.ณัฐพล อัสสะรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย อธิบายเพิ่มว่า การประเมินความแข็งแกร่งของแบรนด์ ทีมวิจัยได้พิจารณาครอบคลุมถึง 4 มิติ ได้แก่ ความตระหนักในแบรนด์ (Awareness) ความชื่นชอบในแบรนด์ (Preference) การใช้ผลิตภัณฑ์ (Usage) และภาพลักษณ์ (Image)

ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสำเร็จของแบรนด์ ทั้งในแง่ของ 3 M อย่างครบถ้วน นั่นคือ Market Share (สัดส่วนการตลาด), Mind Share (การเป็นแบรนด์แรกที่ผู้บริโภคนึกถึง) และ Heart Share (แบรนด์ที่ผู้บริโภครัก/ชอบ หรือเป็น Brand Love)

Advertisment

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้อง ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนทั้งหมด 24,000 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มในกรุงเทพฯและปริมณฑล 12,000 ตัวอย่าง

รวมถึง 13 จังหวัดในหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศอีก 12,000 ตัวอย่าง

ส่วนกลุ่มตัวอย่างนั้น ประกอบด้วย ผู้บริโภคชาวไทย อายุระหว่าง 18-69 ปี ที่มีความหลากหลายทางเพศและช่วงอายุ โดยทุกคนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้วยตนเอง เพื่อให้การประเมินแบรนด์มีความถูกต้องและแม่นยำ

รศ.ม.ล.สาวิกา อุณหนันท์-ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล

รศ.ม.ล.สาวิกา อุณหนันท์ รองประธาน หลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันแบรนด์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างชื่อเสียง หรือการมอบคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย

“การพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของแบรนด์ให้ทันสมัยและตอบสนองต่อสังคมได้นั้น ถือเป็นพันธกิจหลักของภาควิชาการตลาดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน”

การวิจัยครั้งนี้ คณะทำงานยังได้ทำการสำรวจค่านิยมและกระบวนการตัดสินใจซื้อของกลุ่มตัวอย่าง ทำให้สามารถ “จำแนก” กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยออกเป็น 7 เจน (Generations)

ใน 7 Generations จะมีพฤติกรรมและการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกันออกไป จากพื้นฐานการแบ่งกลุ่ม Generation ในอดีต ซึ่งสะท้อนถึงบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ทำงานด้านการตลาด

โดยเฉพาะการวางกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัย ภายใต้บริบทของสังคมไทยอย่างตรงจุดและตรงโจทย์

สำหรับปีนี้ สุดยอดแบรนด์ทรงพลัง The Most Powerful Brands of Thailand 2024 มีทั้งหมด 29 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน (Personal Care & Household Products)

– ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย (Body Wash) ลักส์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

– ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (Hair Care) ซันซิล บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

– ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (Fabric Wash) บรีส บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

– ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (Oral Care) คอลเกต บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด

– ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกาย (Facial & Skin Care) นีเวีย บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) จำกัด

ยานยนต์ (Automotive)

– รถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Vehicle) โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

– รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (Passenger Car) โตโยต้า ยาริส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

– รถจักรยานยนต์ (Motorcycle) ฮอนด้า บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด

ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี (Technology Products & Services)

– แล็ปทอป/โน้ตบุ๊ก (Laptop/Notebook) เอเซอร์ บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด

– โทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone) ซัมซุง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์
จำกัด

– แพลตฟอร์มส่งอาหาร (Food Delivery Platform) แกร็บฟู้ด บริษัท แกร็บ ประเทศไทย จำกัด

– เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) เฟซบุ๊ก เมตา

– บริการทีวีสตรีมมิ่ง (TV Streaming) เน็ตฟลิกซ์ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

– ช็อปปิ้งออนไลน์ (Online Shopping) ลาซาด้า บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

อาหารและขนมขบเคี้ยว (Food & Snacks)

– บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodle) มาม่า บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

– อาหารกระป๋อง (Canned Food) สามแม่ครัว บริษัท รอแยลฟู้ดส์ จำกัด

– ผลิตภัณฑ์นม (Milk) โฟร์โมสต์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

– ขนมขบเคี้ยว (Snacks) เลย์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด

– เครื่องปรุงรส (Seasoning) รสดี บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด

เครื่องดื่ม (Beverages)

– เครื่องดื่มชูกำลัง (Energy Drink) เอ็ม-150 บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

– กาแฟ (Coffee) เนสกาแฟ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

– น้ำผลไม้ (Juice) ยูนิฟ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด

– เครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล (Functional Drink) ซี-วิท บริษัท เฮ้าส์ โอสถสภา ฟู้ดส์ จำกัด

ร้านอาหารและบริการทางการเงิน (Restaurant, Financial Services & Property)

– ธนาคาร (Bank) ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

– ประกันชีวิต (Life Insurance) เอไอเอ บริษัท เอไอเอ จำกัด

– ประกันภัยรถยนต์ (Car Insurance) วิริยะประกันภัย บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)

– ร้านกาแฟ (Coffee Shop) คาเฟ่ อเมซอน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด

– เชนร้านอาหาร (Chain Restaurants) เอ็มเค บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

– อสังหาริมทรัพย์ (ที่อยู่อาศัย) (Property Resident) พฤกษา บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

ที่สำคัญ หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ยังกล่าวย้ำอีกว่า แบรนด์สินค้าแต่ละแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในรอบนี้ เป็นทั้งแบรนด์ดัง แบรนด์เก่าแต่เก๋าในความรู้สึกของผู้บริโภค

และผลการสำรวจการทำตลาดของแบรนด์สินค้าในปี 2567 พบว่า ปีนี้มีการใช้งบประมาณการตลาดเพียง 5-10% เท่านั้น ซึ่งลดน้อยลงจากสถิติเมื่อ 3 ปีก่อนที่ใช้มากกว่า 10%

ประเมินว่า เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการทั่วไปได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาต้าของลูกค้ามาใช้ประกอบการทำตลาด โดยเน้นเฉพาะคนมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มแบบเดิม ๆ ทั้งนี้ เพื่อความยั่งยืนที่แข็งแกร่งตลอดไป