องค์กรไทยโฉมใหม่ เน้นพัฒนาผู้นำขับเคลื่อน ESG

ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์
ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์

หนึ่งในสถาบันที่เน้นการพัฒนากลยุทธ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กรและบุคลากรนั้น “เดล คาร์เนกี ประเทศไทย” เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ

ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ เดล คาร์เนกี ประเทศไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการเสริมสร้างศักยภาพของคนและองค์กร ด้วยการพัฒนาทักษะ ในด้าน Soft Skills ที่สำคัญ ๆ กล่าวว่า เดล คาร์เนกี เชี่ยวชาญในด้านพัฒนาทักษะทางสังคม ทักษะทางบริหารจัดการ และทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คนสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยิ่งในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิต การทำให้ตัวเรามีความฉลาดในทางอารมณ์ ความฉลาดในทางสังคม มีกระบวนการคิด และจัดการทัศนคติของตัวเองได้ ก็ถือว่าได้สร้างความสำเร็จให้กับองค์กรเราแล้ว

การทำให้สังคมการทำงานมีความสุข สำเร็จ และยั่งยืน นอกจากการพัฒนาหลักสูตรสำหรับองค์กรแล้ว คงต้องมุ่งนำหลักสูตรมาใช้พัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลทั่วไปด้วย เพื่อนำความรู้นี้ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ตนเองและสังคม ด้วยการกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาทักษะไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญของโลกปัจจุบัน

เดล คาร์เนกี ประเทศไทย กำหนดนโยบายด้าน ESG อาทิ สนับสนุนโอกาสทางการศึกษา ตามปรัชญาที่ว่า “เราสร้างคน เพื่อให้พวกเขาไปสร้างสังคมที่ดี” หรือ Empower People to Create Value for Society

ตัวอย่าง เช่น ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการไปสอนทักษะชีวิตกับน้อง ๆ ในชุมชนคลองเตย

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างให้พนักงานมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี และส่งเสริมด้าน DEI ที่ย่อมาจาก D-Diversity (ความหลากหลาย) E-Equity (ความเท่าเทียม) และ I-Inclusion (การเปิดรับคนทุกคน)

ซึ่งเป็นแนวคิดขององค์กรยุคใหม่ให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อทลายกำแพงความแตกต่าง เพิ่มความหลากหลายทางความคิด และการแสดงออกในตัวตนของบุคคล

ADVERTISMENT

ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เดล คาร์เนกี ได้รับเกียรติจากโรงเรียนพระดาบส ซึ่งเป็นโครงการตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เข้าอบรมคณะครู บุคลากร และนักเรียน กว่า 1,000 คน ให้ได้เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทักษะที่จำเป็น โดยผ่านหลักสูตร The Dale Carnegie Course ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาผู้นำ และบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากว่า 100 ปี

ด้วยความเชื่อที่ว่า “การให้ความรู้และสอนให้เขาจับปลา ยั่งยืนกว่าการให้สิ่งของ” เพราะความรู้นี้จะอยู่ติดตัวเขาไป และต่อยอดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เดล คาร์เนกี ยังร่วมเป็นสมาชิกของ ยูเอ็นโกลบอลคอมแพ็ก (UN Global Compact : UNGC) โดยมุ่งให้กลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักการสากล 10 ประการ (Ten Principles) ในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชั่น

รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล โดยปี 2567 เดล คาร์เนกี ได้เข้าร่วมโครงการ SI “Sustainable Intelligence” ที่จัดโดย UNGC เพื่อเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนร่วมในการมอบทุนการศึกษาให้เยาวชนไทย 100,000 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ด้าน ESG

ดร.ปรียกรกล่าวอีกว่า อย่างการปลูกฝัง Mindset ด้านความยั่งยืนให้แก่บุคลากรในองค์กร ควรเริ่มจากเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะ และพลังงาน โดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น ลดการเกิดคาร์บอนด้วยการเปลี่ยนจากใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน

“รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ด้านบริหารจัดการขยะ ด้วยการพาไปสัมผัสกับประสบการณ์จริงที่โครงการดอยตุง เพื่อศึกษาคอนเซ็ปต์ ‘ดอยตุง โมเดล’ ที่บอกเล่าถึงการจัดการขยะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ”

ทั้งมุ่งเน้นพัฒนา “ภาวะผู้นำ” แห่งอนาคต หรือการสร้างวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ให้คนในองค์กรมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรตามนโยบาย ESG ให้ประสบความสำเร็จ

เพราะงานด้าน ESG จะสำเร็จได้นั้นต้องมี “คน” เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ

เพราะการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดการกระทำนั้น ต้องทำด้วยความเต็มใจ และเห็นประโยชน์ของความยั่งยืน

“ผู้นำต้องชี้นำ เป็นแบบอย่าง และสนับสนุนการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแรง”

ปัจจุบันเทรนด์ Leadership ที่ขับเคลื่อนกระบวนการด้าน ESG ในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับองค์กร ระยะหลัง ๆ หลายองค์กรได้ปรับ Core Value เน้นความสำคัญในด้าน ESG มากขึ้น

ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาคน โดยเฉพาะระดับ “หัวหน้างาน” ขึ้นไปที่ต้องบริหารทีม และพัฒนากระบวนการภายในที่ตอบรับกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นการกำหนดตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว

รวมทั้งการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยทางจิตใจให้คนในองค์กรมีส่วนร่วม และพร้อมจะก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน