
เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคนี้ โดยเฉพาะภาคขนส่งกับการมาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
“ธนาคารไทยพาณิชย์” โดยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี มุ่งมั่นและสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมาตลอด เพื่อให้ไปต่อได้อย่างราบรื่น เพราะธนาคารในเทรนด์ใหม่ต้องเป็นมากกว่าการให้ “สินเชื่อ”
จากงานเสวนา “ขนส่งสีเขียว เปลี่ยนธุรกิจ SMEs ให้ยั่งยืน” ฐิตา เภกานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ชี้ว่า
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล-เชิงพาณิชย์ มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากยอดจดทะเบียนปี 2561-พฤษภาคม 2567 รถบัสไฟฟ้ามีจำนวน 2,567 คัน หรือคิดเป็น 5% ของจำนวนยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
ขณะที่รถบรรทุกไฟฟ้ามีจำนวน 461 คัน หรือประมาณ 0.20% และรถตู้ไฟฟ้ามีจำนวน 434 คัน หรือประมาณ 0.03%
ปัจจัยที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เติบโตในระยะถัดไปคือ แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกสาขาคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สามารถหักภาษีได้ 1.5-2 เท่า และความตื่นตัวของภาคเอกชนกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งแบบ Last Mile และแบบดีลิเวอรี่
SCB EIC ชี้แนะ 3 แนวทางที่เอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัวและรีบคว้าโอกาสจากเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าขาขึ้น
1.คัดสรรสินค้า/บริการที่ทันสมัย หลากหลาย และตอบโจทย์
2.พัฒนาสินค้า กระบวนการการผลิต และทักษะแรงงานให้สอดรับกับความต้องการในห่วงโซ่อุปทาน
3.ขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ที่หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น
“พูนพัฒน์ โลหารชุน” กรรมการสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนจากประเทศผู้ผลิต EV ด้วยโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ธุรกิจควรปรับมาใช้ยานพาหนะในองค์กรในรูปแบบ Fleet เพิ่มขึ้น เพราะคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบ
ไทยมีเป้าหมายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากรถขนส่งเชิงพาณิชย์จากเชื้อเพลิงเดิมสู่รถขนส่งไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (EV Commercial Fleet) เป็นจำนวน 1 แสนคันในปี 2573 จึงต้องดีไซน์ด้านวิศวกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมใช้แพลตฟอร์มเพื่อให้เกิด Utilization หรือการใช้ประโยชน์ที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม มี 5 ปัจจัยที่เอสเอ็มอีต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจใช้ EV Commercial Fleet
1.วางแผนดําเนินงาน (Operation Plan) ให้องค์กรลดต้นทุนได้ในระยะยาว
ตามเป้าหมาย
2.การเลือกซื้อ EV เชิงพาณิชย์ต้องตอบโจทย์และคุ้มค่าต่อการใช้งานมากที่สุด
3.Charging Infrastructure โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จไฟฟ้า
4.Energy Management มีระบบจัดการพลังงาน เพื่อช่วยวิเคราะห์ บริหารจัดการ ควบคุม และติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้า
5.ประเมินต้นทุนโดยรวม ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายแบบครบวงจร
“วรพจน์ รื่นเริงวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชเซ่น ดิจิตอล จำกัด เสริมว่า แม้รถบรรทุกไฟฟ้าจะมีต้นทุนสูงกว่ารถที่ใช้แก๊ส 1.5 เท่า ในต้นทุนพลังงานและบำรุงรักษา แต่อีวีมีความคุ้มค่าที่ยาวนานเมื่อเทียบกับรถใช้แก๊ส
“สุรพงษ์ สาเรชพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีพีเอส เทคโนโลยี กล่าวว่า การลงทุนทำสถานีชาร์จอีวีเกิดขึ้นแน่นอน เพราะสร้างจุดคุ้มทุน สร้างความคุ้มค่าให้ธุรกิจได้เร็ว ยิ่งประเทศไทยประกาศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2065 องค์กรใหญ่ยิ่งต้องเร่งนำร่องเรื่องการเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้น
ในมุมของเอสเอ็มอีที่อยากปรับตัวไปสู่เส้นทางสังคมคาร์บอนต่ำ การลงทุนสถานีชาร์จ โดยติดตั้งได้ทั้งที่ทำงาน หรือเป็นบริการเสริมต่อยอดจากบริการหลัก ก็ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้ ทั้งเสริมภาพลักษณ์รักษ์สิ่งแวดล้อมให้องค์กรด้วย
“อุษณีย์ ถิ่นเกาะแก้ว” นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า การสร้างฐานอุตสาหกรรมอีวีเป็นนโยบายระดับประเทศที่หลายฝ่ายร่วมผลักดัน
BOI พร้อมสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซ็กเมนต์ ทั้งชิ้นส่วน สถานีชาร์จ และต้องมีขนาดลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ส่วนผู้ประกอบการทั่วไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
ส่วนกิจการที่มีแผนจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ขอรับการส่งเสริมจาก BOI ได้ โดยรับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในโครงการนั้น ๆ