
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล-ฐาปน สิริวัฒนภักดี-ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน-พลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย ร่วมเสวนา “Thailand Next เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” จัดโดย คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX2024)
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 เวทีสัมมนา เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย “THE GREAT DISRUPTION” สู่ “THE GREAT TRANSITION” ภายในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2024 (SX2024) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 27 กันยายน-6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เวทีสัมมนา เปลี่ยนใหญ่ ประเทศไทย จัดโดย คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 66 นำข้อเสนอครั้งใหญ่ เปลี่ยนประเทศไทยสู่ The Great Transition อันเนื่องจากสัญญาณต่าง ๆ ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เรากำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงของการเสื่อมถอยครั้งสำคัญ ที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ

ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทหาร โดยหากรัฐบาลยังไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนประเทศ ยังมุ่งเดินไปแนวทางเดิมที่ได้เดินมา ไม่ตัดสินใจในประเด็นสำคัญ
ช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้าจะเป็นจุดพลิกผันที่กำหนดอนาคตของประเทศและลูกหลานคนไทย ทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุศักยภาพที่มีอยู่ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก สูญเสียบทบาทและความสำคัญที่เคยมี ท้ายสุดจะค่อย ๆ กลายเป็นประเทศที่ถูกทุกคนทิ้งไว้ข้างหลัง
โดยมี “สุทธิชัย หยุ่น” เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจาก “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) “ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน” รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก “พลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย” ผู้บัญชาการ โรงเรียนนายเรืออากาศ นวมินทกษัตริยาธิราช ร่วมเสวนา
ไทยเปลี่ยนใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปลี่ยนครั้งใหญ่ว่า อยากเปลี่ยนประเทศต้องพูดความจริง ประเทศไทยถ้าเป็นนักวิ่งมาราธอน วันนี้หากมองรอบข้างจะพบว่าเรากำลังตามผู้อื่นอยู่ เป็นสัญญาณที่มีมานานแล้วแต่ไม่ยอมรับความจริง

ถ้าอยากเปลี่ยนประเทศไทยต้องเริ่มจากเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยตอนนี้โตไม่ออก มีทั้งการทยอยปิดโรงงาน คะแนนสอบของเด็กก็ต่ำลงเรื่อย ๆ เกษตรกรอยู่ยากหากปราศจากความช่วยเหลือของรัฐบาล ที่ดินหลุดมือทุกที่ ในเมืองก็มีแต่หนี้เสีย
ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ระบบราชการเต็มไปด้วยขั้นตอน เมื่อประกอบชิ้นส่วนเหล่านี้เข้าด้วยกันก็พบว่าประเทศไทยกำลังเสื่อมถอย และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า “เปลี่ยนใหญ่” ให้ทันกับยุคสมัยและความท้าทาย
ดร.กอบศักดิ์ ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเปลี่ยนใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? คำตอบคือเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 วันนี้เรากำลังเข้าสู่จุดเดียวกัน อยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน แต่เราก็ลังเล ไม่ยอมตัดสินใจ
ในฐานะนายธนาคารสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยไม่แพ้ใคร เป็นประเทศที่มีความสามารถ เพียงแต่ว่ารวมกันแล้วสู้เขาไม่ได้ เนื่องจากระบบที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันได้อย่างเต็มที่
ณ วันนี้ ต้องยอมรับว่าระบบที่เราใช้มันมีปัญหา จะทำอย่างไรให้ไทยดีขึ้น เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องง้อรัฐบาลด้วยซ้ำไป ภาคเอกชน หน่วยงาน ทุกคนมีหน้าต่างเป็นของตัวเอง สามารถให้เงินช่วยเหลือ (Contribute) สู่อนาคตได้ด้วยตนเอง
”อยากชวนให้คิดว่าไทยต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง เรามีแผนพัฒนาแต่มันใหญ่เกินไป เยอะเกินไป หลายประเด็นเกินไป เราต้องเปลี่ยนในประเด็นที่ใช่และกล้าที่จะเปลี่ยนหลัก ๆ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ซ่อมฐานราก 2.ผลัดใบเศรษฐกิจ 3.ยกเครื่องระบบราชการ และ 4.เสริมสร้างกองทัพ“ ดร.กอบศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
ไทยเก่งเดี่ยว รวมกันไม่เก่ง
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าวว่า หัวข้อเปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย เหมือนประเทศไทยเคยเปลี่ยนใหญ่มานาน และเปลี่ยนพอประมาณในแต่ละช่วง
ประการแรก กลับมาอยู่ที่ความพร้อมเรื่องศักยภาพของคน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นสิ่งธรรมชาติ อยู่ที่ว่าเราพร้อมและมีองค์ความรู้ขนาดไหน จากการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คนไทยเราเก่ง แต่มักจะเก่งเดี่ยว ถ้าเก่งแบบรวมพลังจะเห็นน้อยหน่อย
ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬา การแข่งขันโอลิมปิกที่เราส่งนักกีฬาไป เหรียญทองที่เคยได้ไม่ว่าจะเป็นเทควันโด มวย หรือยกน้ำหนัก ล้วนเป็นประเภทการแข่งขันเดี่ยว อีกทั้งสุภาพสตรีเองก็มีวินัยและความมุ่งมั่นที่จะสร้างอะไรได้ต่าง ๆ นานา
แม้การศึกษาไทยจะไม่ค่อยดี การพัฒนาเศรษฐกิจก็สู้ใครเขาไม่ได้ แต่ถ้ามองเดี่ยว ๆ คนไทยก็มีทักษะไม่ได้แพ้ใครตรงไหน แต่มวลรวมทั้งประเทศ ต้องยอมรับดังที่ ดร.กอบศักดิ์ กล่าว สู้ไม่ได้จริง ๆ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม
หากกล่าวถึงเศรษฐกิจฐานราก ชาวบ้านมักบอกว่าเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจกรรม “ทำไมต้องเฉพาะกิจ ทำไมไม่รวมตลอดไป” เช่น มีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่าสามัคคี แต่พอเสร็จแล้วก็แยกย้าย ถามว่าแล้วจะดูแลวัดวาอาราม หรือสถานที่ที่เชื่อมโยงกับชีวิตเรายังไง
“ขีดความสามารถ ผมเชื่อว่าคนไทยเดี่ยว ๆ เก่ง รวมกันยังสะท้อนออกมาได้ไม่เก่งนัก”
สำหรับมิติการพัฒนาด้านความยั่งยืน ภาคเอกชนกำลังจะมีการรวมตัวกัน เพราะการทำคนเดียวค่อนข้างจะโดดเดี่ยว และหลาย ๆ เรื่องมีการทำซ้ำ ๆ กัน และคล้ายกัน แต่ไม่ได้ปรึกษากัน ดังนั้นพลังร่วมจึงไม่มี
ถ้ามีคำที่เอ่ยว่า มนุษย์เป็นคนคิดค้นสร้างวิวัฒนาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ วิวัฒนาการเหล่านั้นก็เป็นส่วนช่วยสร้างมนุษยชาติ แต่ก็แปลกที่มนุษย์ทำลายด้วยกันเอง เป็นผู้คิดค้น เอาเปรียบกันเอง เป็นผู้ทำลายด้วย
ในโลกใบนี้มีทั้งพี่ใหญ่และน้องเล็ก ถ้าไม่ได้มีโอกาสแตะมือช่วยกันก็น่าเสียดาย กลับมามองบริบทประเทศไทย เวลาเรารวมตัวกัน เราสามารถผนึกกำลังกันสร้างประโยชน์ให้คนทุกภาคส่วนอย่างไร
แล้วภาคเอกชนมองเห็นอะไร ทั้งความท้าทายและปัญหาต่าง ๆ พบว่าเรารวมตัวกันน้อยไป และรวมกันไม่เก่งเท่าคนอื่น ซึ่งน่าเสียดายเพราะยืนแล้วโดดเดี่ยว
เรามีกฎเกณฑ์ ระบบระเบียบในบ้านเรา ที่ไม่เอื้อต่อการขยับขยายในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติหรือเปล่า อาจมีข้อติดขัดในกระบวนการอะไรบางอย่าง ถ้ามองภาคเอกชนเราขยับขยานไประดับภูมิภาคและนานาประเทศ เช่น กลุ่ม ซี.พี. กลุ่มเซ็นทรัล บริษัทคนไทยเราบริหารห้างสรรพสินค้าในยุโรป ไม่แพ้ใคร ด้านอาหารครัวไทยไปครัวโลก วันนี้ไก่ ซี.พี.กำลังไปอวกาศ
อันที่จริงองค์กรเอกชนไทยเราไม่แพ้ใคร ถ้าเราขยับขยายไปข้างนอกได้อย่างเต็มกำลัง ร่วมกับเครือข่ายภาคีได้มากมาย แต่กลับมาที่บ้านเรากลายเป็น Superman Syndrome คือ ออกไปข้างนอกมีพลัง แต่กลับมาบ้านเราแล้วแรงน้อย
ไม่ใช่แค่ระดับเอกชนรายใหญ่อย่างเดียว แต่ในระดับฐานราก คนที่ออกมาทำงานข้างนอกสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมาย แต่กลับไปที่ชุมชนตัวเองบางครั้งกลับไม่คล่องตัวเหมือนเดิมและมีกลไกบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด
“เรามีอะไรดี ๆ มากมาย แต่ยังประกอบร่างกันไม่ถูก ร้อยเรียงกันไม่ถูก เหมือนพวงมาลัย เรามีดอกไม้งาม แต่เราร้อยเรียงกันไม่ถูก ไม่รู้หยิบจับอะไรมาแล้วก็ร้อยกัน เสร็จแล้วอาจดูไม่สวยงาม…เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทยจึงไม่ได้สักแต่ว่าเปลี่ยน แต่เปลี่ยนอย่างมีแบบแผน มีกระบวนการ มีกรอบทิศทาง”
ร่วมมือเพื่อผลลัพธ์
ฐาปน กล่าวอีกว่า เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือผลของการกระทำ ความร่วมมือที่กำลังจะทำให้เกิดเป็นผลลัพธ์ออกมา ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยกันเรียบเรียงข้อความและตีพิมพ์หนังสือ 1 เล่ม แต่เป็นเส้นทางที่ต้องเดินต่อไป โดยที่เรารวมพลังกัน

ในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 มีไอเดียมากมายที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเปลี่ยนมาเป็นการลงมือทำ ในฐานะภาคเอกชนพวกเราต้องลงมือทำ และสะท้อนให้เห็นผล
คล้ายกับที่มีโอกาสลงไปทำงานกับเศรษฐกิจฐานราก มีประโยคว่า “ชุมชนต้องลงมือทำ เอกชนจะช่วยขับเคลื่อน รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน” ไม่ใช่นั่งรอให้คนมาช่วย แต่เมื่อลงมือทำแล้วจะมีไอเดียเพิ่มอีก มีความเข้าใจ มีความรอบรู้ มีประสบการณ์ และจะมองต่อ ๆ ไป
วันนี้องค์ความรู้เป็นของที่หยิบหาได้ แต่จะถูกแปลงเป็นทักษะอย่างไร ความรู้กับทักษะคนละเรื่องกัน กว่าจะมีทักษะทุกคนต้องลงแรง ลงมือทำ และฝึกฝนด้วยตัวเอง
สิ่งที่มีโอกาสในมิติด้านความมั่นคงจะสะท้อนไปได้ทุก ๆ เรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม คุณพ่อของผม “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เคยบอกว่า ถ้าบ้านเมืองไม่สงบสุข ไม่เรียบร้อย ก็จะทำมาค้าขายไม่ได้
เศรษฐกิจบ้านเรา ประเทศไทยออกได้ทุกทิศทุกทาง ประเทศไทยมีโอกาสและความคล่องตัวทางด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาทางด้านทะเลจีนใต้ก็ดี อันดามันก็ดี ก็เป็นความวุ่นวาย
เดี๋ยวนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่พูดถึงเรื่อง Leader ship เรากำลังฝึกฝนและเสริมสร้างศักยภาพความเป็นผู้นำ แต่การเป็นผู้นำวันนี้ยากมาก เพราะถ้าผู้นำขาดภาพองค์รวมไปจะทำให้ขาดความเข้าใจ แม้ว่าภาคเอกชนจะเเค่ทำมาค้าขาย กลับกลายเป็นว่าเราไม่เข้าใจว่าพันธมิตรคู่ค้าต้องการอะไร มีปัญาแบบไหน ทุกภาคส่วนเกี่ยวโยง
ทุกวันนี้สถานภาพในโลกที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์กำลังจะปรับเปลี่ยนไปหลังการระบาดของโควิด ทุกประเทศกำลังมองหาความอยู่รอด ทุกคนมองหา Food security ซึ่งมิติทางด้านความมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง
“วันนี้เรามองถึงการเปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย วันนี้เรารวมพลังกันได้ครบเครื่องขนาดไหน”
รู้ว่าต้องเปลี่ยน แต่เปลี่ยนยังไง
ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการรักษาการผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า ประเทศไทยยุ่งกับคำว่า “เปลี่ยน” แต่ปัญหาใหญ่คือคนยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เกี่ยวข้องยังไง

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ การปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง อากาศร้อนก็ร้อนจัด น้ำแล้งก็แล้งจัด และจะไม่มีวันลดน้อยถอยลงไป ซึ่งผลกระทบจะมีมากขึ้น ถี่ขึ้น เป็นวัฏจักร และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เริ่มเห็นในในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี นี่คือผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง ไทยจึงต้องเปลี่ยน ปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ต้องศึกษา ภูมิคุ้มกัน เนื่องจากคนท้องที่อย่างเดียวไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง ต้องมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า มีระบบคาดการณ์ภูมิศาสตร์ การวางผังเมือง ระบบการผันน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของส่วนรวม ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
การเปลี่ยนคือต้องช่วยกันทำ นำความรู้ในภาคส่วนต่าง ๆ มาปรับเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้าง จัดระเบียบโครงสร้าง นโยบาย กฎหมาย สร้างความรู้ความตระหนักต่อประชาชนตลอดจนภาคการศึกษา
“โลว์คาร์บอน ต้องแก้ที่สาเหตุ ไม่ใช่การแก้ที่ปลายเหตุ หากไม่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่มุ่งสู่ความยั่งยืน ก็จะไม่เกิดผล” ดร.ณัฐริกา กล่าวย้ำ
สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนทัศนคติเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนทุกเพศทุกวัย หากไม่ทำอะไรอาจโดนลูกหลานขุดโครงกระดูกขึ้นมาตำหนิได้ มันไม่ใช่แค่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม
ซึ่งส่งผลโดยตรงกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นเรื่องของความปลอดภัย ตลอดจนความมั่นคงทางน้ำและอาหาร ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการก็ไปไม่รอด
“การดำเนินงานด้านโลกร้อนไม่ใช่ทางเลือก แต่มันคือทางรอด หากไม่ทำก็ไม่รอด จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาด 2. ใช้มาตรการ Carbon Pricing กำหนดราคาคาร์บอน 3. ปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านป่าไม้ 4. สนับสนุนให้มีมาตรการลดหย่อนทางภาษี ให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขายคาร์บอนเครดิต” ดร.ณัฐริกา กล่าวปิดท้าย
กองทัพ ความท้าทาย ภูมิรัฐศาสตร์
พลอากาศโท จักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย กล่าวว่า เราไม่สามารถเตรียมการรองรับภัยคุกคามหรือความท้าทายในอนาคตได้ในปัจจุบัน ด้วยสภาพที่บางครั้งเราทำงานร่วมกันไม่คล่องตัวมากนัก เราต้องเจอเหตุการณ์สำคัญก่อน ถึงเรียนรู้ว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเรียนรู้แล้วก็มักจะลืมมันไป นี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริง เราเรียนรู้ รับทราบ แต่ไม่เคยต่อยอด

ในทางทหารจะมีการเรียนรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควรเตรียมการอย่างไรต่อไป ซึ่งปัญหาคือความไม่ต่อเนื่องเหมือนกัน เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดกับระบบราชการแทบทุกที่ เราต้องเริ่มต้นใหม่ ทั้งที่บางเรื่องไปถึงขั้นตอนที่ 5 หรือ 6 แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับมาต่อยอด ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ต่าง ๆ ได้
“ทุกอย่างต้องต่อเนื่องกันไป สร้างฐานรากให้เข้มเเข็ง ยกระดับขีดความสามารถของกระเทศขึ้นไป ผมว่าเราทำได้ โดยที่เรามีผู้นำที่คิดตรงกันและพร้อมที่จะทำให้ประเทศไทยพร้อมรองรับกับภัยคุกคามหรือความท้าทายอะไรก็แล้วแต่ มันกำลังมาถูกทาง แต่ต้องใช้เวลาในการสร้าง ค่อย ๆ มาประกอบกัน เพราะจริง ๆ เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องการสร้างคนเก่ง เรามีคนเก่ง”
ตอนนี้ระบบเริ่มเข้าสู่การบูรณาการแล้ว กองทัพเองกำลังพูดถึงการมุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมทุกเหล่าทัพ เราไม่สามารถทำงานแบบแยกส่วนได้แล้ว ภัยคุกคามในอนาคตกองทัพต้องพร้อมทำงานและเสริมขีดความสามารถร่วมกัน ท้ายที่สุดแล้วจะคิดแยกกันไม่ได้ ในอนาคตถ้าคิดแยกจะประสบกับความพ่ายแพ้เเละเราไม่สามารถยอมรับตรงนั้นได้
ชัยชนะในสงครามจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ปรับตัวรองรับในรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป จะไม่เกิดขึ้นเลยกับผู้ที่รอให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นและค่อยปรับตัวตาม เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูก ปัจจุบันโจทย์ที่ต้องตอบคืออะไร ต้องศึกษาสภาวะเเวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบัน สถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง หรือจีน ตรงนี้เป็นผลกระทบกับเราว่าโจทย์เปลี่ยน ไม่ใช่โจทย์ที่ว่าเราจะรบกับพม่า กัมพูชา ลาว หรือเพื่อนบ้าน เรากำลังเจอสถานการณ์ความมั่นคงที่มีไดนามิกเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะวางตำแหน่งของประเทศอย่างไรให้เราพร้อมรองรับกับโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย
สถานภาพที่แท้จริงของกองทัพ หากเปรียบเป็นโทรศัพท์ ตอนนี้กองทัพไทยมีทั้ง Nokia 3310, BlackBerry, Samsung และ Apple ซึ่งกองทัพไทยไม่ได้อยากมีแบบนั้น เราอยากมี iphone ทั้งหมด หรือ BlackBerry ทั้งหมดก็ยังได้ แต่เราไม่มีงบประมาณ เรามีแผน มีสมุดปกขาว แต่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดตลอด เช่น โควิด-19 กองทัพถูกตัดงบฯ และ 6 ปีที่ผ่านมาไม่ได้งบประมาณเพิ่มเติมขึ้นเลย หมายความว่าเราต้องปรับแผนให้ตอบโจทย์ยบางส่วนได้ กองทัพจึงต้องพยายามปรับปรุง Nokia 3310 โดยเปลี่ยนจอให้เป็นสมาร์ทโฟน แต่มันก็คือ Nokia 3310 ไม่สามารถยกรับตัวเองให้เป็นแก็ดเจตที่ทันสมัยได้
กองทัพถูกป้ายภาพลักษณ์ว่าทหารใช้แรงไม่ใช้สมอง ซึ่งไม่ใช่แบบนั้น เรามีคนเก่งมากมาย เราวางแผนชัดเจน และเราต้องปรับ กองทัพจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน มีความสามารถเท่าไหร่ ล้วนขึ้นกับโจทย์ว่าเราต้องตอบอะไร บางครั้งกองทัพกำหนดโจทย์เองจะถูกกล่าวหาว่ามองโลกในแง่ร้าย ซึ่งแน่นอนเพราะเราเป็นทหาร ต้องพร้อมรองรับสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ต้องมาจากหน่วยงานภาครัฐหลายส่วนร่วมกันว่าตรงไหนคือความเหมาะสม
เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 จึงสำคัญจริง ๆ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” กองทัพต้องมีไม่มากหรือน้อยเกินไป บนเหตุผลว่ามีไว้ทำอะไร และในอนาคตต้องมั่นใจว่าเราพร้อมรองรับสถานการณ์
“กองทัพเป็นฐานรากของงานด้านความมั่นคง การเจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศต้องมีฐานรากที่เข้มเเข็ง กองทัพเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เราพร้อมรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นกลไกที่รัฐบาลต้องหยิบมาใช้แก้ไขปัญหา หรือใช้ในการพัฒนาประเทศก็แล้วแต่ เพื่อให้เป็นฐานที่มั่นคง และเกิดการต่อยอดงอกงามของเศรษฐกิจและสังคม”