7 นวัตกรรมเยาวชน ชูไอเดียระบายน้ำ-ป้องกันไฟป่า

SX2024 Hackathon เปิดโอกาสในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน ผ่านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสู้กับโลกที่ไม่เหมือนเดิมเป็นมันสมองจากเยาวชนทั่วอาเซียนที่ร่วมจัดการกับความท้าทายของสภาพภูมิอากาศและสร้างผลที่ยั่งยืน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรอบสุดท้าย 7 ทีม เงินรางวัลรวมกว่า 1 แสนบาท

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ E-Hole ผู้เข้าแข่งขันจากมาเลเซีย เป็นนวัตกรรมระบบระบายน้ำอัจฉริยะ Smart Tunnel เป็นระบบที่มีความเสถียร ช่วยลดต้นทุน ใช้กับสมาร์ทซิตี้ และหลาย ๆ เมืองบนโลกได้ โดยใช้ระบบ Lora เทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สาย ครอบคลุมระยะ 50 กิโลเมตร สามารถมอนิเตอร์ระดับน้ำ, มีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า, ระบบเรียลไทม์, ระบบ Water Jetting อัตโนมัติทำความสะอาดได้ด้วยตัวเอง มีกล้องบันทึกภาพเมื่อมีการอุดตัน เป็นต้น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ FlameShift ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทย เสนอนวัตกรรมเปลี่ยนข้อมูลเป็นระบบป้องกันไฟป่า แม้ตอนนี้ทั่วโลกจะมีระบบให้เลือกใช้มากมาย แต่ยังเข้าถึงยาก จึงได้คิดระบบ FlameShift สามารถดูไฟ และกระแสลม คาดเดาทิศทางไฟป่า อนาคตคาดว่าจะมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า คิดค้นเป็นโมเดล B2G ใช้งานได้ผ่านอินเทอร์เน็ต

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ CAP-C ผู้เข้าแข่งขันจากประเทศไทย มาพร้อมกับนวัตกรรม UV Light เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก้อนคาร์บอน และก๊าซออกซิเจน ด้วยการติดตั้งเข้ากับท่อรถยนต์ด้วยการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่จะสลายคาร์บอน แปลงเป็นก๊าซออกซิเจนปล่อยสู่อากาศ

จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างอากาศที่สะอาดขึ้น สามารถใช้ได้จริง สอดรับกับเกณฑ์ปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2030 คาดว่าจะสร้างต้นแบบและทดสอบการใช้งานได้ภายใน 2025

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกมายมาย ทั้งทะเลใจ (Talay Jai) จากประเทศไทย นวัตกรรมเครื่องสำรวจสาหร่ายทะเลแก้ปัญหาคาร์บอนเครดิตยั่งยืน ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อความหลากหลายชีวิตบนโลก โดยเฉพาะสาหร่ายทะเลที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก ทั้งยังใช้เป็นคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงคิดค้นนวัตกรรม SED เหมาะกับประเทศที่มีพื้นที่ปลูกป่าน้อย โดยมีเซ็นเซอร์ LIDA ติดตั้งบนเรือเพื่อขับไปยังสถานที่ต่าง ๆ ถ่ายภาพผลลัพธ์ และฉายเป็นภาพ 3D ช่วยในการวางแผนปลูกสาหร่ายและคำนวณคาร์บอนเครดิต

Ecoliving Community จากอินโดนีเซีย นวัตกรรมเปลี่ยนอาหารเหลือทิ้งเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้เข้าแข่งขันได้ยกตัวอย่างเมืองมาลัง ในจังหวัดชะวาตะวันออก อินโดนีเซีย มีอาหารเหลือทิ้ง 59.2 ตัน/วัน ปล่อยคาร์บอนมากกว่า 23,568 ตัน นวัตกรรม Ecoliving จะช่วยให้เกิด Eco-Waste ช่วยให้เกิดความยั่งยืน ใช้ไส้เดือนดินเปลี่ยนอาหารเหลือเป็นปุ๋ย เริ่มจากเก็บอาหารเหลือจากบ้านเรือน, ให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมักไส้เดือน รวมกลุ่มแม่บ้านและสร้างงาน เสริมรายได้ให้ชุมชนมีส่วนร่วม

Apula จากฟิลิปปินส์ กับนวัตกรรม IOT แจ้งเตือนล่วงหน้าถึงไฟไหม้ป่า ใช้ปลาสดที่ถูกทิ้งมาเป็นแมทีเรียลช่วยดับไฟ ต้นกำเนิดไอเดียมาจากที่ฟิลิปปินส์เผชิญกับปัญหาไฟป่า PM 2.5 ซึ่งนวัตกรรม Apula จะมีเซ็นเซอร์ในการมอนิเตอร์ความร้อนและเปลวเพลิง

มี GPS แจ้งเตือนรายบุคคล มีอุปกรณ์ดับไฟด้วยโฟมที่ทำมาจากโปรตีนของปลาที่ถูกทิ้ง ซึ่งถูกติดไว้ตามต้นไม้ในป่า เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ครอบคลุมระยะ 10 เมตร และสามารถวางทิ้งไว้ได้นานถึง 10 ปี

Blue Ocean Egle ฟิลิปปินส์ มาพร้อมกับเกม Tidal Tales ปัจจุบันสิ่งมีชีวิตใต้น้ำกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปะการังในฟิลิปปินส์ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีเกาะมากมาย แต่กลับมีการลงทุนน้อยมากในการให้ความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทร จึงคิดค้นเกมรูปแบบ AR เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ท้องทะเล ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ ภาวะโลกร้อนแก่ผู้ใช้งานกลุ่มเยาวชน

คาดว่าอนาคตจะผสานความร่วมมือกับโรงเรียน ลงมือทำจริง ออกแคมเปญแลกรับรางวัล

ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ โกศลพิศิษฐ์กุล ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานกลยุทธ์และบริหารความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะเราทุกคนต้องใส่ท่อหายใจให้กับผู้คนในอนาคต เป็นความท้าทายและพร้อมจะช่วยเหลือให้ไปต่อได้

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องสำคัญในการพัฒนาไม่ใช่แค่การนำเสนอ ต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ มีสาระสำคัญที่จะทำให้ทำงานผ่านปัญหาที่แท้จริงของสังคมและสร้างความแตกต่างได้

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น คาดหวังว่าจะมีการฝึกสอนที่ดีและอุดมไปด้วยทรัพยากรที่ดีสำหรับการก้าวไปสู่อนาคต

ดร.ภัคจิรา ลีเลิศพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกทีมมีความคิดที่ยอดเยี่ยมแม้อายุยังน้อย บางคนไม่มีต้นแบบด้วยซ้ำ แต่มาพร้อมกับความมั่นใจในรูปแบบธุรกิจ มีเทคนิคบางอย่างที่ต้องเรียนรู้อนาคต รู้สึกมีความสุขมากที่เห็นคนรุ่นใหม่นำเสนอแนวคิดที่ดีมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้ายว่า รู้สึกประทับใจกับความหลากหลายของแต่ละทีม และโซลูชั่นทั้งการจัดการของเสียไปจนถึงเครื่องมือสู่การศึกษา

“ท้องฟ้ามีขีดจำกัด นี่จึงไม่ใช่การหยุดพัก แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้ก้าวไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น ผ่านแนวคิดต่าง ๆ เพื่อหาโซลูชั่นที่เหมาะสมอย่างแท้จริง”